มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2541 ]

เชื้อรา มาแล้ว

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


ปีนี้ท่านผู้อ่านรู้สึกไหมคะว่า หน้าร้อนปีนี้ จะร้อนมากขึ้น ร้อนมากกว่าปีที่แล้ว ไปไหนมาไหนเหงื่อออกท่วมตัว บางครั้งเพิ่งอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ คว้าผ้าเช็ดตัวมาเช็ดตัว ยังไม่ทันจะแห้งดี เหงื่อออกใหม่อีกแล้ว ทำให้หลายท่านแทบไม่อยากไปไหน อยากหลบความร้อนมาแช่ตัวอยู่ในห้องแอร์ ทั้งตามที่ทำงานที่มีแอร์ หรือตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ก็ดีนะคะ จะได้ประหยัดค่าแอร์ที่บ้าน การที่เราต้องผจญกับอากาศร้อนชื้นนี้ จะมีโอกาสที่ทำให้เป็นโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้น โรคเชื้อรานี้พบได้ตั้งแต่ศีรษะ จนกระทั่งจรดปลายเท้า เลยทีเดียว และมักจะมีอาการคัน ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ ไม่สบายตัวเลย เราลองมาดูรายละเอียดของเชื้อรา ที่บุกโจมตีตัวเรา ได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้ากันดีกว่านะคะ ว่ารายละเอียดของเชื้อราในแต่ละที่นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

1. เชื้อราที่ศีรษะ (Tinea capitis)
ส่วนใหญ่เชื้อราที่หนังศีรษะนี้ มักจะพบในเด็กเท่านั้น เป็นเด็กวัยเรียนหนังสือชั้นประถม ในผู้ใหญ่จะพบน้อยมาก ลักษณะเชื้อรานี้คล้ายกับ ลักษณะของฝีชันนะตุ (Kerion) เป็นหนองแฉะ ๆ บางครั้งเป็นสะเก็ดแห้งกรัง มีขอบเขตเป็นวงค่อนข้างชัดเจน มีอาการคัน หรือเจ็บได้บ้าง ติดต่อลูกลามไปยังเด็กคนอื่นได้

2. เชื้อราที่ลำตัว แขน ขา (Tinea corporis)
ส่วนใหญ่คนไทยจะเรียกว่า โรคกลาก หรือ ขี้กลาก นั่นเอง ลักษณะผื่นเป็นวงกลมคล้ายวงแหวน (ringworm) ผื่นวงแหวนสีแดง มีขอบเขตชัดเจนมาก อาจมีขุยสะเก็ดลอกที่ขอบ ๆ ของวงแหวน เมื่อทิ้งไว้ผื่นวงแหวนสีแดงนี้ จะลุกลามขยายวงออกกว้างขึ้นได้ มีอาการคัน ถ้าเหงื่อออกจะยิ่งคันมากขึ้น

3. เชื้อราที่ขาหนีบ (Tinea cruris)
สมัยก่อนคนไทยนิยมเรียกคนที่เป็นโรคนี้ว่า "สังคัง" ซึ่งหมายถึงเชื้อราที่เกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบโดยตรง จะมีผื่นสีแดงจัด ขอบเขตค่อนข้างชัดเจนมาก มีสะเก็ดหรือขุยลอกเล็กน้อย บางทีผื่นลุกลามขยายออกไป ทำให้บริเวณตรงกลางผื่นเรียบยุบหายไป แต่ขยายขอบออกไปอีก การกระจายของผื่นมักเป็นที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามมาที่ต้นขาด้านในไปที่ก้น หรืออัณฑะได้ บางครั้งถ้าเป็นมานานผื่นจะมีสีน้ำตาลคล้ำเข้มขึ้นได้ ที่สำคัญคือ จะมีอาการคัน ซึ่งไม่ใช่คันธรรมดา ๆ นะคะ แต่คันมากมาก คันสุดสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน จะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะจะยิ่งคันมาก ๆ

เชื้อราที่ขาหนีบมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในคนอ้วนเพราะมักจะขี้ร้อน เหงื่อออกมาก นอกจากนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับ ๆ เช่น กางเกงยีน จะยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นเชื้อราเพิ่มมากขึ้น

เชื้อราที่ขาหนีบเป็นโรคในเขตเมืองร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยมี 2 ฤดูคือ ร้อนมากกับร้อนน้อย และมีความชื้นสูง เพราะฉะนั้นเชื้อราที่ขาหนีบจึงผูกพันกับคนไทยเป็นพิเศษ

4. เชื้อราที่เล็บ (Tinea unguium)
มีสาเหตุจากเชื้อราได้หลายชนิดมาก ลักษณะของเล็บที่เป็นเชื้อรามักจะคล้ายกันคือ เล็บเปลี่ยนสี เช่น มีสีคล้ำ ดำขึ้น น้ำตาล เขียวคล้ำ เป็นต้น เล็บหนาขึ้น ใต้ฐานเล็บหนาขึ้น เล็บเปลี่ยนรูปร่างไป เช่น บิดเบี้ยวไม่ได้รูปทรงเดิม มีรอยหยักเป็นลูกคลื่น เล็บโค้งงอ เล็บกร่อน เล็บผุ พื้นผิวเล็บไม่เรียบ ฯลฯ
อาการ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการใด อาจมีเจ็บ คันบ้างแต่ย้อยมาก ส่วนใหญ่มีอาการทางใจมากกว่า เพราะมักกังวลใจว่าเล็บของเราไม่สวย น่าเกลียด กลัวผู้อื่นรังเกียจอะไรทำนองนี้มากกว่า

5. เชื้อราที่ใบหน้า (Tinea faceii)
สิ่งที่หลายท่านเป็นกังวลคือ ถ้าท่านเป็นโรคกลากตามลำตัวคงจะพอทนรับไหว แต่ถ้าวันใดก็ตาม ท่านเกิดเป็นขี้กลาก ขึ้นที่ใบหน้าของท่าน แล้วละก้อ คงแทบจะอยากร้องกรี๊ดสลบเลยทีเดียว อย่าประมาทเชียวนะคะ ปีนี้ยิ่งอากาศร้อนมากกว่าทุกปี ลักษณะจะเหมือนกับกลากที่ลำตัว คือ มีผื่นสีแดง รูปวงกลม วงแหวน (ringworm) มีขอบเขตชัดเจน มีขุยสะเก็ดลอก ที่บริเวณใบหน้า

อาการคันจะไม่มากนัก ไม่เหมือนกับเชื้อราที่ขาหนีบ บางครั้งเกิดจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ที่บริเวณใบหน้าเป็นเวลานานแล้วเกิดมีเชื้อราแทรกขึ้นมาแทนที่ได้

6. เชื้อราที่มือและเท้า (Tinea manum, Tinea pedis)
ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่มือ หรือเท้า ข้างใดข้างหนึ่ง พบบ่อยกว่าเป็น 2 ข้างพร้อมกัน มี 2 ลักษณะคือ
1. ลักษณะแบบแห้ง ๆ ผื่นแดงเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดแห้ง ขุยลอก
2. ลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสแตกออก เป็นแบบแฉะ ๆ

เชื้อรานี้มักจะเป็นตามซอกนิ้วมือ ซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้า ที่อับชื้น ทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็นได้ ส่วนมากจะมีอาการคัน บางครั้งถ้าท่านรู้สึกคันเท้า แล้วไปซื้อยามาทาใช้เอง ถ้าเกิดได้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มาทา จะยิ่งทำให้เชื้อลุกลามมากยิ่งขึ้นได้

การวินิจฉัยโรคเชื้อรา
บางครั้งผื่นอาจแยกไม่ได้ชัดเจนจากโรคอื่น อาจต้องอาศัยวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเช่น
1. การย้อมด้วยโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ (10% KOH preparation) คือ การขูดเชื้อจากผิวหนัง มาใส่สไลด์ ส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นลักษณะของสายเชื้อราต่าง ๆ ได้
2. การเพาะเชื้อ (culture) เพื่อแยกประเภทของเชื้อรา เพาะในจานเลี้ยงเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราที่เล็บจะมีหลายชนิดมาก


การรักษา
กลุ่มยากิน กลุ่มยาทา
  • กริซีโอฟลูวิน
  • คีโตโคนาโซล
  • ไอทราโคนาโซล
  • เทอบินาฟีน
  • กลุ่มไมโคนาโซล
  • กลุ่มไซโคลไพรอกโซลามีน

ซึ่งทั้งกลุ่มยากินและยาทานี้ มีรายละเอียดปลีกย่อย ระยะเวลาในการให้ยารักษา ข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันหลายประการ ทั้งนี้ ควรอยู่ในความควบคุม ความดูแลของแพทย์เท่านั้น จะปลอดภัยกว่ามากนะคะ

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1