มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 กันยายน 2541 ]

แดดร้อน ๆ จ๊ะ!

นพ.ชุมศักดิ์ พฤษาพงษ์


ความที่เป็นประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้เมืองไทยต้องสัมผัสแสงแดดแผดเผาในอัตราสูง ประชาชนไม่ค่อยอยากถูกแสงแดดถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หรือคนที่จำเป็นต้องทำงานกลางแดด ก็จะพยายามสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ ที่ปกคลุมผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้มากที่สุด แสดงว่า คนเราสามารถเรียนรู้จากธรรมชาติได้ไม่ช้าก็เร็ว

ผู้คนในประเทศอบอุ่นหรือเมืองหนาวจะคลั่งแสงแดดเป็นชีวิตจิตใจ เพราะพวกเขามีโอกาส ได้เห็นแสงแดด ในแต่ละปี เพียงไม่กี่วัน เกิดวัฒนธรรมการอาบแดดในฤดูร้อน เพื่อปิ้งให้ผิวหนังเป็นสีน้ำตาล ที่พวกเขาเรียกว่า สีแทน (TAN) และเรียกกระบวนการ อาบแดด ให้ผิวเป็นสีแทนว่า แทนนิ่ง (TANNING) ความน่ากลัวของแสงแดด นอกจากจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้ จึงเกิดการวิจัย หาทางช่วยคนที่อยากสัมผัสแสงแดด แต่ไม่อยากเป็นมะเร็งหรือผิวไหม้แดด
จนพบวิธีการ 2 แบบคือ
ซันสกรีน
ซึ่งเป็นการหาสารประกอบมาทาผิวหนังเพื่อช่วยดูดซึมรังสีส่วนที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ไม่ให้ทะลุถึงชั้นผิวหนัง
ซันบล็อค
เป็นสารทาผิวแล้วทำให้แสงแดดสะท้อนกลับ แต่จะทาสารอะไรก็ตาม เราก็ยังจำเป็นต้องใช้วิธีเก่าแก่ เข้าร่วมด้วยช่วยกัน คือ สวมหมวกและเครื่องนุ่งห่ม

มีอะไรในแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือ?
คำตอบคือในแสงแดดมีรังสีสำคัญอยู่แถบหนึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเลต (ULTRAVIOLET หรือ UV) ซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า มันทำลายผิวหนัง และก่อให้เกิดมะเร็ง ในมนุษย์ได้ ปริมาณรังสี UV ที่จะสัมผัส ขึ้นกับปริมาณแสงแดด ระยะเวลาที่สัมผัส และขณะสัมผัสผิวหนังปกคลุมด้วยอะไรหรือเปล่า

UV ทำอะไรต่อร่างกาย
ผลของการสัมผัส UV โดยไม่มีอะไรปกปิดผิวหนังก็คือการเกิดผิวไหม้แดดหรือผิวเป็นสีแทน แต่ถ้าถูกแสงแดดนานก็จะเกิดการแก่ลงก่อนวัยของผิวหนังทำให้เหี่ยวย่น, สูญเสียความยืดหยุ่น, เป็นจุดดำเป็นจ้ำและที่รายแรงที่สุดคือ มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังมีข้อดีตรงที่ว่า ถ้าวินิจฉัยได้เร็วและให้การบำบัดรักษาแต่เนิ่น ๆ จะหายขาดได้ ชนิดของมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงที่สุดชื่อ เมลาโนมา (MALANOMA) ซึ่งเฉพาะปี 2541 นี้ จะพบราว 41,600 รายในสหรัฐอเมริกา และนับเป็นสาเหตุหลักของการตายจากมะเร็ง มะเร็งผิวหนังนี้มีที่มาจากแสงแดด และอุบัติการสูงขึ้น จาก 6 รายต่อประชากร 1 แสนคน เป็น 12 รายต่อประชากร 1 แสนคน

นอกจากมะเร็งผิวหนังแล้ว รังสี UV ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกและโรคตาอื่น ๆ อีกบางอย่าง อีกทั้งยังกดภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ คนผิวคล้ำ แม้จะเป็นมะเร็งผิวหนัง น้อยกว่าคนผิวขาว แต่ก็จะมีปัญหาต้อกระจกและภูมิคุ้มกันได้มากกว่าถ้าถูกแสงแดดมาก ๆ

ดัชนี UV
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในอันตรายของรังสี UV คณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) และศูนย์อุตุนิยมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาดัชนี UV ขึ้น โดยมีตัวเลขตั้งแต่ 0-10 เพื่อบ่งชี้ปริมาณรังสี UV ที่ผ่านลงมาถึงพื้นผิวโลกในช่วง 1 ชั่วโมงของเวลาเที่ยงวัน มีการพยากรณ์ดัชนีนี้ไปตามเมืองใหญ่ ๆ 58 เมือง โดยอาศัยข้อมูลท้องถิ่นประกอบการ พยากรณ์ ตัวเลขดัชนียิ่งสูงก็หมายความว่าโอกาสสัมผัส UV ยิ่งสูงตามไปด้วย

ดัชนี UV จะมีค่าถูกต้องเฉพาะในรัศมี 30 ไมล์ จากตัวเมือง ทั้งนี้ผลการพยากรณ์ จะแปรปรวนไปตามสภาพอากาศ เช่น เมฆหมอกเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีจะยังประโยชน์ ในการทำให้เกิดจิตสำนึกที่จะใช้มาตรการป้องกันแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเลข ดัชนีสูง

ความรุนแรงของแสงแดดต่างกันไปในแต่ละบุคคล
คำกล่าวทั่วไปคือแสงแดดทำให้ผิวหนังและตาเสียหายได้ แต่คนผิวขาวจะเสียหายง่ายกว่า คนผิวคล้ำ คนผิวคล้ำจะมีผิวสีแทนได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ปรากฏการณ์สีแทน (TANNING) เกิดขึ้นจากรังสี UV ถูกผิวหนังดูดซึมเข้าไปแล้วมีจำนวนและกิจกรรมของเซลล์ เมลาโนไซท์ (MELANOCYTES) ภายในผิวหนังเพิ่มขึ้นเซลล์นี้จะช่วยผลิตเม็ดสีเมลานิน (MALANIN) เพื่อช่วยกั้นรังสีจากแสงแดดไม่ให้เข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง

คนที่มีผิวจางจะไหม้แดดง่าย แสงแดดจะทำให้ผิวหนังแดง, เจ็บปวด, บวมและเกิดตุ่มน้ำ พองขึ้นมา อาการของการเกิดผิวไหม้แดดยังรวมถึงไข้, หนาวสั่น, คลื่นไส้อาเจียน และสติสับสน ดังนั้นหากประสบสภาพเช่นนี้ ขอให้นำตัวไปปรึกษาคุณหมอเสีย

เด็ก ๆ ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้สูงคนอื่น ๆ ก็ต้องระวังการถูกแสงแดด ถ้าหากว่า
  • เป็นคนที่เคยหรือกำลังมีไฝตามตัวทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่
  • เคยได้รับการรักษามะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • ทำงานในร่มมาตลอดสัปดาห์แล้วจู่ ๆ ก็จะถอนทุน โดยตากแดดเต็มที่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
  • พำนักหรือไปพักร้อนในภูมิประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร
  • มีผิวหนังไหม้ก่อนจะไปอาบแดด
  • มีผิวสีจาง, ผมสีบลอนด์, ผมสีแดงหรือน้ำตาลอ่อน
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเมลาโนมา
  • ไปพักร้อนในที่ราบสูง (ที่นั่นจะมี UV เพิ่มขึ้น 4-5% ต่อทุก ๆ 1000 ฟุต ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล)
  • ใช้ชีวิตกลางแจ้งค่อนข้างมาก
  • เคยรับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
  • เป็นโรคบางอย่างเช่น ลูปัส รับประทานยาบางขนานอยู่ เช่น
    • ยาปฏิชีวนะประเภท เตตร้าซัยคลิน
    • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAID)
      เช่น NAPROXEN SODIUM
    • ยากล่อมประสาทกลุ่ม PHENOTHIAZINES, TRICYCLIC
    • ยากลุ่มซัลฟา
    • ยาขับปัสสาวะกลุ่ม THIAZIDE
    • ยารักษาเบาหวานกลุ่ม SULFONYL UREAS
    • ยากดภูมิคุ้มกัน

เรื่องยานี้ขอให้ซักถามเภสัชกรที่ร้านขายยาหรือคุณหมอที่คลินิก หากสงสัยว่าอาจเป็น อันตรายต่อท่านถ้าต้องออกไปอาบแดด

ข้อเท็จจริงประกอบมาตรการป้องกันมะเร็งผิวหนัง
  1. ร้อยละ 80 ของมะเร็งผิวหนัง ป้องกันได้โดยอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดด โดยไม่มีอะไรคุ้มครอง
  2. ทุก ๆ คนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ไม่ว่าจะมีผิวสีอะไร ทุกคนจึงควรปกป้องตัวเราจากแสงแดด
  3. กำหนดกลยุทธ์ก่อนออกไปเผชิญแสงแดด เช่นควรสวมหมวก สวมเสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังส่วนใหญ่ และควรทาซันสกรีน
  4. วางแผนทำกิจกรรมโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดดช่วง 10.00-16.00 น. อันเป็นช่วงที่รังสีจากแสงอาทิตย์ร้อนแรงที่สุด
  5. แสงอาทิตย์สามารถทะลุผ่านผิวน้ำได้ และบางส่วนสะท้อนกลับจากผิวน้ำ, ผิวทราย, คอนกรีตและหิมะ
  6. ท้องฟ้าที่มีเมฆมากอาจทำให้อุณหภูมิเย็นลง แต่ UV ก็ยังทะลุผ่านเมฆได้
  7. สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวหนังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่นใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว, สวมหมวกเพื่อปกคลุมใบหน้า คอ และหู จากแสงแดด
  8. ยาบางขนานเช่น ยาปฏิชีวนะ เพิ่มความไวของผิวหนังต่อแสงแดด ดังนั้นเวลาได้รับยาอะไรจากคุณหมอหรือเภสัชกรควรถามไถ่ให้ดี
  9. เด็ก ๆ ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากแสงแดด โดยพยายามให้เล่นในที่ร่ม สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ปกปิดผิวหนังและทาซันสกรีนอย่างสม่ำเสมอ
  10. ไม่ควรทาซันสกรีนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรใช้วิธีใส่เสื้อผ้าและให้อยู่ในที่ร่มแทน
  11. เลือกใช้ซันสกรีนออกฤทธิ์กว้าง มี SPF ไม่ต่ำกว่า 15 โดยสังเกตตัวเลขได้ที่กล่อง
  12. เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ควรทาซันสกรีนก่อนสัมผัสแสงแดด 20 นาที เพื่อให้สารประกอบไปจับกับโปรตีนบนผิวหนัง
  13. ทาซันสกรีนซ้ำหลังการว่ายน้ำ หรือเวลาเหงื่อออกมาก ๆ
  14. อย่าใช้ไฟฟ้าอบตัวแทนการอาบแดด วิธีนี้จะทำลายผิวหนัง
  15. แม้ผิวจะเคยไหม้แดด หรือสีแทนมาก่อนก็ไม่สายเกินกว่าจะปกป้องผิวหนัง ตั้งแต่วันนี้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง

นพ.ชุมศักดิ์ พฤษาพงษ์


[ BACK TO ความงาม]   [ BACK TO เรื่องยา]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1