มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 เมษายน 2538 ]

ผิวสวยของฉันยับเยิน

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


วันนี้เป็นวันครบรอบวันเกิดของฉันพอดี ถึงแม้ว่าอายุจะย่างเข้าเลข 3 แล้ว แต่ใคร ๆ ต่างพากันชมเปาะ เลยว่า "30ยังแจ๋ว" วันนี้หัวใจของฉันเต้นตูมตาม และพองโตเป็นย่างยิ่ง เมื่อมีชายหนุ่ม รูปงามหล่อประมาณ "คี นู รีฟส์" ว๊าว! แต่นิสัยไม่เหมือนนะคะ อย่าพึ่งเข้าใจผิด เขาเดินใกล้ เข้ามาพร้อมกับยื่นกล่องของขวัญสุดสวยให้โอ้โฮ โลกแทบถล่มทลาย เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่ฉันได้ของขวัญวันเกิด แน่นอนฉันแกะออกดู ก็พบว่า หอมไปหมดทั้งกล่อง เพราะมีน้ำหอมชื่อดังจาก ปารีส ลิปสติกแสนสวย 1 แท่ง สบู่ที่ห๊อม หอม ที่เขียนคิ้วอีก 1 แท่ง ยัง ยังไม่หมด มีกล่องเล็กจิ๋วอีก 1 กล่อง เปิดออกดูโอ้โฮ! โรแมนติคจัง ตุ้มหูแสนสวยอีก 1 คู่ คืนนี้ทำเอานอนไม่หลับ แน่นอนฉันลองใช้ของทุกอย่าง ที่ได้มา ทั้งน้ำหอม ลิปสติค ที่เขียนคิ้ว สบู่ ตุ้มหู คืนนี้ช่างเป็นคืนอันแสนสุขแต่พรุ่งนี้เช้าสิ เกิดอะไรขึ้นกับฉันเนี่ย ตายแล้ว??

พอส่องกระจกดูลมแทบจับ หน้าฉันเหรอเนี่ย? เพราะตาบวม ปากบวม หูเป็นผื่น แดง ลำคอก็มีผื่นแดง แถมยังคันไปทั่วนี้มันเป็นฤทธิ์ของของขวัญชิ้นงามนี่เอง ทั้งลิปสติค ที่เขียนคิ้ว น้ำหอม ตุ้มหู โอย "รมณ์ บ่ จอย" เลยค่ะ

ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (CONTACT DERMATITIS)
1. คำจำกัดความ หมายถึง การอักเสบของผิวหนังซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับสารต่าง ๆ
2. อุบัติการณ์ของโรค เพศ วัย ต่าง ๆ
ในต่างประเทศพบมีอุบัติการณ์ร้อยละ 10 ของโรคผิวหนังทั้งหมด ส่วนในประเทศไทย พบประมาณร้อยละ 13 ของโรคผิวหนังทั้งหมด ในวัยเด็กเช่นเด็กอ่อน จะพบผิวหนังอักเสบ จากการสัมผัสผ้าอ้อมได้บ่อย อย่างอื่นที่พบได้ เช่น จากสบู่ แป้งทาตัว เป็นต้น ในวัยสูงอายุ ผิวหนังจะบางลง และแห้งมากกว่าในวัยหยุ่มสาว โอกาสจะแพ้ยาทา หรือครีมทาตัว ได้มากขึ้น เป็นต้น
ในเพศหญิงและชาย ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสไม่ค่อยแตกต่างกัน
3. สารต้นเหตุที่ทำให้ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส

  1. กลุ่มสารในเครื่องสำอาง
    1. ฟรากรานซ์มิกซ์ (Fragrance mix, Balsam of Peru) เป็นน้ำหอมผสม มีอยู่ ในน้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมกันแดด สบู่ ซึ่งสามารถทำให้เกิด ผิวหนังอักเสบจากการ สัมผัสได้เองโดยตรง หรืออาจเกิดร่วมกับ การโดนแสงแดดร่วมด้วยได้
    2. ลาโนลิน (Lanolin) เป็นสารที่สกัดมาจากขนแกะ มีส่วนผสมอยู่ใน เครื่องสำอาง สำหรับหน้า ผม นอกจากนี้ยังพบในสบู่ ยาทาขนสัตว์ ผ้า หมึกพิมพ์ เป็นต้น
    3. ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นสารกันเสียที่มีส่วนผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า เป็นต้น
    4. พาราเบน (Parabens) เป็นสารกันเสีย ผสมอยู่ในเครื่องสำอาง ยาทา ยาฉีด
    5. พาราฟีนิลีนไดอะมีน (Paraphenylenediamine) เป็นสารที่อยู่ในสีน้ำยาย้อมผม หนัง ยาง หมึกพิมพ์ เป็นต้น ทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อยในการย้อมผม
  2. กลุ่มสารในยา
    1. นีโอมัยซิน (Neomycin) เป็นยาปฏิชีวนะในยาทา เครื่องสำอาง ยาอม
    2. เบนโซเคน (Benzocaine) เป็นส่วนผสมในยาชาเฉพาะที่ ยาอมระงับ การไอ
  3. กลุ่มโลหะ
    1. นิกเกิล (Nickle) เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผิวแห้งอักเสบจากการสัมผัสได้ บ่อยที่สุด พบได้ในเครื่องประดับเช่น ตุ้มหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน แว่นตา เข็มขัด ซิป นาฬิกา นอกจากนี้ยังพบในเหรียญเงิน ลูกบิดประตู กุญแจ ขอบโต๊ะ ฯลฯ
    2. โครเมียม (Chromium) ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสได้บ่อย เช่นกัน พบในปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในการก่อสร้าง พบในการย้อมผ้า ฟอกหนัง ถ่ายรูป เป็นต้น
    3. โคบอลต์ (Cobalt) พบในสีย้อมผมให้เป็นสีน้ำตาลอ่อน สีที่ใช้วาดภาพ สารเคลือบฟัน เป็นต้น
  4. กลุ่มยาง พลาสติก เป็นพวกยางสังเคราะห์ที่ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส พบในรองเท้า ถุงมือ นอกจากนี้ยังมีพวกชันสน เป็นยางสนที่ได้จากต้นสน ใช้ในเครื่องสำอาง เช่น สีทาขนตา ขนคิ้ว พวกพลาสติก คืออิพอคซีเรซิน (Epoxy resin) ใช้ในกาว แก้ว ผ้า สารเคลือบเงา เป็นต้น
4. อาการ อาการแสดง ลักษณะผื่น การกระจายของผื่น
อาการที่พบเริ่มได้ตั้งแต่ ผิวหนังมีสีแดง มีตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ หรืออาจเป็นตุ่มน้ำพองใส อาจมีขอบเขตชัดเจนได้ขึ้นอยู่กับสารที่ไปสัมผัส ถ้าเป็นมากอาจบวมมาก ตุ่มน้ำพองใสอาจแตกออกได้ เป็นสะเก็ดลอก ต่อมาผิวหนังก็จะมีสีคล้ำมากขึ้น ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ผิวหนังอาจกลายเป็นตุ่มหนองได้ ถ้าเป็นเรื้อรังนานมากผิวหนังจะกลายเป็นผื่นหนาขึ้น สีคล้ำมาก สำหรับอาการ ส่วนมากแล้ว มักจะมีอาการคัน มากน้อยแล้วแต่การสัมผัสกับสาร อาจแสบร้อนผิวหนังได้ คล้ายเหมือนโดนไหม้

การกระจายของผื่น ส่วนใหญ่แล้ว ผื่นมักจะขึ้นบริเวณที่ผิวหนังไปสัมผัสกับสารนั้น โดยตรงไม่ค่อยลามไปจุดอื่น แต่ถ้าเป็นประเภทการแพ้ยา จะมีผื่นขึ้นทั่วร่างกายได้

5. อาการทางระบบอื่น ที่เกิดร่วมกับผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ค่อนข้างพบน้อย ถ้ามีร่วมด้วยอาจเป็นไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ระบบ หายใจขัดข้องถึงช็อคได้ ไตอักเสบ ตับผิดปกติ เป็นต้น

6. ตำแหน่งของผื่น และสารที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการ สัมผัส

  1. บริเวณศีรษะ มักเกิดจากยาย้อมผม แชมพู ครีมนวดผม
  2. บริเวณใบหน้า มักเกิดจากเครื่องสำอาง ที่ใช้แต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาตา ลิปสติก ยาสีฟัน เครื่องประดับพวกนิกเกิล เช่น ตุ้มหู แว่นตา นอกจากนี้ยังมีน้ำหอม ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ยาทาต่าง ๆ ครีมโกนหนวด เป็นต้น
  3. บริเวณคอ ลำตัว มักเกิดจากเครื่องประดับพวกนิกเกิล เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อ มือ กำไล เข็มขัด พวกน้ำหอม ยาระงับกลิ่นตัว เป็นต้น
  4. บริเวณมือ เท้า มักเกิดจากสบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจานถุงมือ รองเท้า เครื่อง ประดับ เช่น แหวน ยาทา ครีมทามือ เท้า เป็นต้น
7. การป้องกันและการรักษา
  1. หลีกเลี่ยงสารที่เป็นต้นเหตุ ถ้าพบว่าเกิดมีผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ให้ หลีกเลี่ยงสารที่เป็นต้นเหตุนั้น อาจเปลี่ยนชนิดหรือเลี่ยงไม่ใช้
  2. การรักษา ควรมาพบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง การรักษา มีทั้งการกินยา ทายา ถ้าอาการรุนแรงมาก อาจต้องฉีดยาระงับอาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผื่นผิวหนังอักเสบจาการสัมผัสไม่ใช้เรื่องร้ายแรงหรือน่ากลัวมาก เพราะมีทางรักษาได้ อย่าพึ่งตกใจกันมากนะคะ

พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1