มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

( ตัดลอกจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ ที่13 มิถุนายน 2541 )

ทอนซิลอักเสบ

นายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์


"ทอนซิลอักเสบ"       เป็นโรคที่พบบ่อย และมีผู้คนจำนวนมาก ที่ยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ เช่น ผู้ป่วยบางราย มาพบแพทย์เพื่อขอให้แพทย์ตัดต่อทอนซิลออก ทั้งที่เป็นเพียงแต่ อาการของ คออักเสบธรรมดา และในทางกลับกัน ขณะที่บางราย แพทย์เห็นสมควร ให้ตัดต่อมทอนซิลออก แต่ผู้ป่วยกลับขอรับประทานยาต่อ ทั้งๆที่เป็นทอนซิลอักเสบซ้ำทุกเดือน ดังนั้น เพื่อการปฏิบัติตัว ที่ถูกต้อง จึงน่าจะมาทำความเข้าใจ กับโรคนี้กัน และต่อไปนี้ เป็น 10 คำถาม ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับทอนซิล

1. ต่อมทอนซิลคืออะไร และทำหน้าที่อย่างไร?

ต่อมทอนซิล เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อ ประเภทต่อมน้ำเหลือง มีหน้าที่ เกี่ยวข้องกับ ระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ภายในต่อม มีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด บางชนิด สามารถดักจับเชื้อโรค ด้วยตัวของมันเอง ได้โดยตรง และบางชนิด ต้องเสริมภูมิคุ้นกันก่อน จึงส่งออกไปกำจัดเชื้อโรคอีกที
                  นอกจากนี้ ต่อมทอนซิลยังพบได้หลายตำแหน่ง ต่อมที่เราเห็น จะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาตินทอนซิล นอกจากนี้ ต่อมทอนซิลยังพบได้บริเวณโคนลิ้น และช่องหลังโพรงจมูก อีกด้วย ในผู้ป่วยที่ต้องตัดต่อมทอนซิล จะไม่มีผลกระทบ ถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะมี อวัยวะ อื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ที่ทำหน้าที่แทนได้

2. ต่อมทอนซิลอักเสบ กับ คออักเสบ ต่างกันอย่างไร ?

                  " ทอนซิลอักเสบ " เป็นภาวะอักเสบเฉพาะที่ต่อมทอนซิล ส่วน " คออักเสบ " มักเรียก ภาวะอักเสบ ของเนื้อเยื่อ ในลำคอที่อยู่บริเวณ หลังช่องปากเข้าไป บางครั้ง ภาวะทั้งสอง อาจเกิด พร้อม กันได้ แพทย์จำเป็นต้องแยกภาวะทั้งสอง เพื่อประเมินผู้ป่วย ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ หากเป็นโรค ทอนซิลอักเสบจริง ต้องพิจารณา ต่อไปอีกว่า จำเป็นจะต้องตัดต่อมทอนซิลหรือยัง ? ในโรค ทอนซิล อักเสบ ผู้ป่วยมักจะทีอาการ ที่ต่างจาก คออักเสบ คือ มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ โดยเฉพาะ เวลากลืนอาหาร จะเจ็บมาก

3. อะไรเป็นสาเหตุของ " ทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน "

                  ภาวะทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน อาจเกิดได้ ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เด็กก่อนวัยเรียน มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะไม่รู้จัก การป้องกัน การติดต่อของโรค เด็กโตและผู้ใหญ่ มักจะเกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับ ที่ทำให้เป็น โรคหวัด หรือเชื้อที่ ทำให้เกิดการอักเสบ ของระบบหายใจตอนบน

4. จะรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันอย่างไร ?

                  ปกติแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น บรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดน้ำมูก ให้ยาแก้อักเสบ เพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุ ซึ่งถ้าการอักเสบนั้เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในปัจจุบัน ยาในกลุ่มเพนนิซิลิน ยังใช้ได้ผลดี ยกเว้นเชื้อบางกลุ่ม ที่พบว่าดื้อยาแล้ว แพทย์จึงจำเป็น ต้องใช้ยา ปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอจนรับประทาน อาหาร ไม่ได้ และมีไข้สูง แพทย์จะแนะนำให้ นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยา ปฏิชีวนะ ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลา ดีขึ้น เร็วกว่า การให้ยากลับไปรับประทาน ที่บ้าน หากแพทย์พิจารณาว่า สาเหตุมาจากไวรัส ก็จะรักษา ให้ยาตามอาการเท่านั้น เพราะยาปฏิชีวนะ ไม่สามารถทำลาย เชื้อไวรัสได้

5. ถ้าไม่รักษา จะเกิดภาวะแทรกซ้อน อะไรตามมา ?

                  ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา การอักเสบก็จะกระจายกว้างออกไป จนเกิดเป็นหนอง บริเวณต่อมทอนซิล แล้วลุกลาม ผ่านช่องคอ เข้าสู่ช่องปอด และหัวใจ นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรีย ยังอาจเข้า กระแสเลือด แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งนับเป็นภาวะที่เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

6. ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ จะเป็นอย่างไร ?

                  หากเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อยๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพ เป็นแบบเรื้อรัง และแม้จะเป็นแบบเรื้อรังอยู่ ก็ยังจะอักเสบอย่างเฉียบพลันได้อีกเสมอ การที่ต่อม ทอนซิลโต จะทำให้เกิดร่อง ซอก ซึ่งทำให้เศษอาหารเข้าไปตกค้างอยู่ได้ ผลก็คือ จะเกิดการอักเสบ ยืดเยื้อออกไป

7. การตัดต่อมทอนซิลเมื่อใด ?

                  จะตัดต่อมทอนซิลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และภาวะการณ์ต่างๆ โดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิลก็ต่อเมื่อ

  1. เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบซ้ำซาก ปีละ 6-7 ครั้ง หรือปีละ 2-3 ครั้ง แต่เป็นหลายปีติดต่อกัน การผ่าตัดนั้น แพทย์จะทำ ก็ต่อเมื่อ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์มากกว่าการรักษาด้วยยา
  2. เมื่อต่อทอนซิลโตมากๆ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการหายใจ ซึ่งจะทำให้ปอด ฟอกอากาศ ไม่มีประสิทธิภาพ
  3. ผู้ป่วยที่เป็นพาหะของเชื้อคอตีบ ( ปัจจุบันพบน้อยแล้ว ) หรือผู้ป่วย ที่เคยเป็นหนอง บริเวณ ช่องรอบต่อมทอนซิล มาก่อน
  4. ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่า อาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็ง ที่ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล

8. แพทย์ตัดต่อมทอนซิลอย่างไร ?

                  การผ่าตัดต่อมทอนซิล ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ สามารถทำการผ่าตัดที่ห้องตรวจได้เลย แต่การผ่าตัดก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และผู้ป่วยต้องเป็นคนแข็งแรง ไม่หวาดกลัว การผ่าตัด แพทย์ก็สามารถผ่าตัดในห้องตรวจโรคได้เลย แต่ส่วนใหญ่แพทย์ จะนิยม ผ่าตัด ในห้องผ่าตัด โดยให้ยาสลบกับผู้ป่วยก่อน
                  เครื่องมือที่ใช้ผ่าตัด ก็เป็นเครื่องมือเฉพาะที่ใช้เพื่อแยกต่อมทอนซิลออกจากแคปซูลและกล้ามเนื้อที่ฐานต่อมทอนซิล การผ่าตัดต่อมทอนซิลออก ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือของช่อง ปากลดลงแต่อย่างใด

9. การผ่าตัดต่อมทอนซิล มีความเสี่ยงหรือไม่ ?

                  ขึ้นชื่อว่า" ผ่าตัด " ทุกชนิด ย่อมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย การผ่าตัดต่อมทอนซิล ก็เช่นกัน อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่นเสี่ยงจากการดมยาสลบ แต่ปัญหา ส่วนใหญ่ มักเกิดจาก "ภาวะเลือดออกมาก" ซึ่งเกิดขึ้น ในระหว่างกำลังผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด ใหม่ๆ หรืออาจเกิด ภายหลังผ่าตัดหลายๆวันแล้วก็ได้
                  ในกรณีที่มีเลือดออกมาก แพทย์จะรับไว้นอนอยู่โรงพยาบาลต่อ เพื่อผ่าตัดซ้ำ เพื่อแก้ไข ให้เลือดหยุด โดยการดมยาสลบ แล้วห้ามเลือด หลังผ่าตัด ก็จะมีแผลบริเวณฐานต่อมทอนซิล อาจมี อาการ เจ็บคอ แพทย์ก็จะให้ยาบรรเทาอาการ และให้ยาแก้อักเสบ ส่วนอาหารการกินหลังผ่าตัด ปกติในวันแรก แพทย์จะให้อาหารเหลวก่อน จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนเมื่ออาการเจ็บคอดีขึ้น แต่ในรายที่ไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ ( เพราะเจ็บแผล ) แพทย์ก็จะให้ สารอาหาร ทางหลอดเลือดด้วย
                  ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด มีผู้ป่วยประมาณ 1-2 เปอร์เซนต์ ที่มีเลือดออก แพทย์จึง แนะนำ ให้ผู้ป่วย นอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อสังเกตอาการ ส่วนเลือดที่ออก หลังจาก ที่ผู้ป่วย กลับบ้านไปแล้ว จะมีประมาณ ร้อยละ 3 ส่วนคนที่มีเลือดออก ในวันที่ 5-10 หลังผ่าตัดนั้น มักเกิดจาก สะเก็ดแผล ที่ฐานต่อมทอนซิลหลุด แต่โดยทั่วไป กรณีนี้เลือดจะหยุดได้เอง

10. แล้วจะป้องกันได้อย่างไร

                  สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรรู้ถึงวิธีป้องกันให้สมาชิกในครอบครัวปลอดภัยจากโรคนี้ สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ ผู้ปกครอง/ครูอาจารย์ จะต้องให้ การดูแล เป็นพิเศษ ให้ร่างกาย ของเด็ก อบอุ่นอยู่เสมอ ให้อาหารที่เหมาะสม และระวังอย่าให้เด็ก อยู่ใกล้กับคนที่ไม่สบาย เช่น เป็นหวัด
                  ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ เมื่อมีอาการเริ่มแรก จะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีอาการมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง รับประทานยาตามที่แพทย์ให้มาจนหมด เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิด อาการแทรกซ้อน ที่รุนแรงมากขึ้น
                  จาก 10 คำถามที่ควรทราบเกี่ยวกับ "ทอนซิลอักเสบ "ก็คงจะทำให้ท่าน โดยเฉพาะ ผู้ปกครอง และเยาวชน ที่ประสบปัญหา ทอนซิลอักเสบ ได้เข้าใจถึง สาเหตุ อาการ และภาวะ แทรกซ้อน ที่สำคัญ รวมทั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ในการรักษา ถ้าแพทย์แนะนำ ให้ผ่าตัด ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะ การผ่าตัดทอนซิล ในปัจจุบัน มีความปลอดภัยสูง


นายแพทย์ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ โรงพยาบาลบำราศนราดูร

[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1