ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ซูโต
จากฉบับที่แล้วท่านได้ทราบแล้วว่า การแปรงฟันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถกำจัดแผ่นคราบ จุลินทรีย์ได้หมด จะต้องมีอุปกรณ์ หรือแปรงชนิดอื่นร่วมด้วย และได้กล่าวถึงวิธีการใช้ อุปกรณ์เหล่านั้นไว้แล้ว
ฉบับนี้จะกล่าวถึงว่าเราจะต้องทำความสะอาดฟันให้หมดแผ่นคราบจริง ๆ วันละกี่ครั้งดี ก่อนอื่น เราควรจะทราบถึงกลไกการเกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์กันก่อน คงทราบแล้วว่า ในช่องปากนี้ จะมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งตามปกติ จะไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าอยู่รวมตัวกันมากขึ้น และหลายชนิดขึ้น ก็จะส่งเสริมกัน ทำให้เกิดโรคได้ ที่พบได้บ่อยคือ โรคฟันผุ และโรคปริทนต์ ดังนี้เราควรมารู้จักแผ่นคราบจุลินทรีย์
หรือ Dental plaque กันก่อน
Dental plaque คืออะไร
ถ้าจะพูดให้ง่ายหรือเห็นภาพ Dental plaque ก็คือขี้ฟัน ที่เกาะติดอยู่บนผิวฟันนั่นเอง ลักษณะเป็นปุยนิ่ม ๆ สีขาวเหลือง อาจเป็นสีครีม สีวนิลา ตามที่โฆษณา หรือเป็นสีส้มได้ ขึ้นกับชนิด ความหนาแน่น และอาหารที่คราบจุลินทรีย์เกาะ และย่อยออกมา
Dental plaque เกิดขึ้นได้อย่างไร
ท่านคงทราบแล้วว่า ผิวฟันหรืออีนาเมล เป็นส่วนที่แข็งมาก และผิวจะเรียบมันแบบไข่มุก ไม่ใช่เรียบแบบกระจก การสร้างตัวของอีนาเมล จะสร้างเป็นชั้น ๆ เหมือนหอยที่สร้างไข่มุก ผิวฟันที่สะอาด เมื่อถูกน้ำลายจะเกิดแผ่นฟิล์มบาง ๆ ปกคลุมผิวฟัน แผ่นฟิล์มนี้ เป็นสารไกลโคโปรตีนจากน้ำลาย ประกอบด้วยน้ำตาล และโปรตีน อาจเกิดขึ้นได้ทันที หลังจากทำความสะอาดฟันแล้ว หรือภายใน 1 นาที และจะเห็นหรือตรวจพบได้ ภายใน 30 นาทีถึง 1 ชม. แผ่นฟิล์มนี้ เรียกว่า acquire pellicle ซึ่งจะยังไม่มีเชื้อจุลินทรีย์มาเกาะ จึงยังไม่ทำให้เกิดโรค แผ่นฟิล์มนี้จะหนาและเหนียวขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อแผ่นฟิล์มหนาพอจะมีเชื้อจุลินทรีย์มาเกาะ ซึ่งพบได้เสมอ ตามขอบเหงือก และหลุมร่องฟันทางด้านบดเคี้ยว และด้านแก้มกับลิ้น เพราะเป็นผิวฟันส่วนที่ไม่เรียบ ส่วนขอบเหงือกนั้น เป็นบริเวณที่เว้า หรือโค้งเข้าของตัวฟัน และบริเวณซอกฟัน จะเป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากแรงขัดถูของอาหาร เนื่องจากการบดเคี้ยวจึงทำให้พบว่า มีเชื้อจุลินทรีย์ไปเกาะอยู่เสมอ
การเกาะของเชื้อจุลินทรีย์จะเกาะเป็นกลุ่ม ๆ ตามสภาพความเหมาะสมของเชื้อแต่ละชนิด โดยเกาะกันอยู่อย่างหลวม ๆ และจะหลุดออกจากผิวฟันได้ง่าย ด้วยการบ้วนปากแรง ๆ หรือแรงขัดถู จากอาหารที่รับประทาน อาหารที่รับประทาน ถ้าแข็งหรือเป็นกากเส้นใย เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ จะช่วยขัดถูผิวฟันได้ แต่ถ้าเป็นอาหารอ่อนเหนียว เช่น แป้ง น้ำตาล นอกจากจะไม่ช่วยทำความสะอาดผิวฟันแล้ว ยังเกาะติดฟันได้ง่าย และเป็นอาหารที่ดี ของเชื้อแบคทีเรีย
Dental plaque ที่เริ่มเกิด ถ้าไม่ถูกกำจัดออกไป เชื้อจุลินทรีย์จะมาเกาะเป็นกลุ่มก้อน หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเหนียวขึ้น ใช้น้ำบ้วนไม่หมดต้องแปรงออก ถ้าแปรงออกไม่หมด แร่ธาตุ เช่น แคลเซียมที่มีอยู่ในน้ำลาย และอาหารที่รับประทาน ก็จะมาเกาะรวมอยู่ด้วย และแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหินปูน ซึ่งจะพบได้มาก ตามฟันที่อยู่ใกล้รูเปิดของต่อม น้ำลาย เช่น ฟันหน้าล่างด้านลิ้น ฟันกรามบนด้านแก้ม หินปูนนี้ต้องให้ทันตแพทย์ กำจัดออกให้ด้วยการขูดออก
Dental plaque ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร
โรคที่เกิดจาก Dental plaque คือ โรคฟันผุและโรคปริทนต์ ตามที่กล่าวมาแล้ว เชื้อจุลินทรีย์ที่ย่อยอาหารแล้วปล่อยสารที่เป็นกรดออกมา จะกัดกร่อนผิวเคลือบฟัน ให้เป็นร่อง เป็นอย่างต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้ผิวฟันเป็นรู ซึ่งเรียกว่าฟันผุ เชื้อจุลินทรีย์บางจำพวก จะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเยื่อเหงือก ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ ถ้าเป็นอย่างต่อเนื่องนาน ๆ เกิดเป็นโรคปริทนต์ได้ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนหินปูน จะกำจัดได้ยากกว่าบนผิวฟัน ดังนี้ถ้าต้องการกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ให้หมด ต้องกำจัดหินปูนออกก่อน
เมื่อดูจากขั้นตอนการเกิด Dental plaque แล้ว จะเห็นว่าต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าเชื้อจุลินทรีย์ จะมาเกาะที่ผิวฟัน จนสามารถปล่อยสารพิษที่ทำให้เกิดโรคได้ ถ้านับเวลาหลังจากทำความสะอาดฟันจนสะอาดแล้ว จนถึงเกิด Dental plaque จะกินเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง และจะต้องสะสมมากพอ ที่จะปล่อยสารพิษมาทำลายผิวฟัน และเหงือกต้องใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมง
เราจะแปรงฟันเมื่อไหร่ดี
ในขณะนอนหลับ การไหลเวียนของน้ำลายลดลงและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลิ้น แก้มน้อยลง ถ้ามีอาหารและ Dental plque อยู่ จะย่อยและปล่อยสารพิษออกมา สะสมที่ผิวฟัน และเหงือก และไม่มีน้ำลายมาชะล้าง ทำให้สารพิษสะสมอยู่นาน การดำเนินของโรค ก็จะรุนแรง การแปรงฟันก่อนนอน จึงสำคัญและจำเป็น และควรแปรงให้สะอาด โดยใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ ที่แปรงสีฟันแปรงไม่ถึงด้วย ดังที่กล่าวไว้ ในฉบับก่อน หลังจากแปรงฟันแล้วไม่ควรรับประทานอาหารอีก
ถ้าแปรงฟันก่อนนอนได้สะอาดดี ช่วงตื่นนอนเช้า จะมีกลิ่นปากได้จากการหมักหมม ของน้ำลาย ซึ่งมีการไหลเวียนน้อย จึงควรแปรงฟันตอนตื่นนอนเช้าอีกครั้ง หรือถ้าแน่ใจว่า ก่อนนอนแปรงได้สะอาดดีแล้ว อาจใช้วิธีบ้วนปากแรง ๆ ได้ แล้วจึงรวมไว้แปรง หลังอาหารเช้าก็ได้ เป็นการประหยัดเวลา และทรัยพยากรด้วย เพราะการแปรงฟันครั้งหนึ่ง ๆ จะใช้น้ำถึง 45 ลิตร ต่อ 5 นาที ถ้าท่านเปิดน้ำให้ไหลตลอด ดังนั้นเวลาแปรงฟัน จึงควรใช้ขันหรือถ้วยรองน้ำขณะแปรง และไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้
ส่วนหลังอาหารมื้ออื่น ๆ ก็อาจใช้วิธีบ้วนปากแรง ๆ ได้ นอกจากท่านที่มีฟันซ้อนเก หรือใส่เครื่องมือจัดฟัน หรือฟันผุง่าย ควรแปรงฟันหลังอาหารด้วย การแปรงฟันควรแปรงให้ถูกวิธี เพราะอาจทำให้ฟันสึกได้ถ้าแปรงบ่อยเกินไป จึงควรระวังข้อนี้ด้วย เพราะท่านอาจได้โรคเสียวฟันมาแทน และอย่าลืมช่วยกันประหยัดน้ำประปาด้วยนะคะ
ทญ.สุมนา สวัสดิ์-ซูโต
main |