ไม่ให้รับรองเด็กเป็นบุตร
น้องชายดิฉันมีภริยา 2 คน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภริยาทั้งสองคน ซึ่งต่างมีบุตรกับน้องชาย ของดิฉันทั้งคู่ ปัญหาคือว่าภริยาคนที่สอง ทราบว่าน้องชายมีภริยาอยู่ก่อนแล้ว เธอก็พาลูกกลับไปต่างจังหวัด เอาไปให้ตากับยายของเด็กเลี้ยง ส่วนแม่เด็ก มาทำงานในตัวจังหวัด และมีข่าวว่ากำลังจะแต่งงานใหม่ น้องชายของดิฉัน อยากจะได้ลูกของเขามาเลี้ยงเอง แต่แม่เด็กไม่ยอมให้มา น้องชายไปร้องที่เขต จะขอจดทะเบียนรับรองบุตร การที่น้องชายจะเอาบุตรมาเลี้ยงเองจะต้องให้พ่อเด็กจดทะเบียนรับรองบุตรก่อนหรือไม่ และถ้าแม่เด็กไม่ยอมให้พ่อเด็กจดทะเบียนรับรองบุตร เด็กก็ไม่สามารถเป็นบุตรของบิดาได้ใช่หรือไม่ พี่สาว กรุงเทพ |
การจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นเรื่องที่มารดาและบิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เมื่อมีบุตรด้วยกัน บุตรจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว การที่บิดาจะขอจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรจะมีประโยชน์แก่ตัวเด็กมาก ในด้านที่เด็กจะกลายเป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา และบิดาที่แท้จริงซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ก็จะกลายเป็น บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แทนที่จะมีแต่มารดา ซึ่งชอบด้วยกฎหมายมาแต่เดิม เพียงคนเดียว
เพราะเด็กจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ในครอบครัวเช่นเดียวกับบุตรที่เกิดจากบิดามารดาสมรสด้วยกัน แต่เฉพาะบิดากับบุตรเท่านั้น ที่เมื่อมีการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว จะกลายเป็นบิดาและบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลให้บิดาและมารดา กลายเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ตราบใดที่ทั้งคู่ ยังไม่จดทะเบียนสมรส เป็นสามีภริยากันในภายหลัง เพราะฉะนั้นหญิงอื่นของชายที่จดทะเบียน รับรองเด็กเป็นบุตร จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า จะทำให้มารดาเด็ก มามีสิทธิอื่นใด เพราะสิทธิที่กฎหมาย ให้ความคุ้มครองเด็กเท่านั้น
ปัญหาการจดทะเบียนรับรองบุตรส่วนใหญ่เท่าที่พบ มารดามักจะต้องการให้บิดาจดทะเบียน รับรองบุตรให้ ดังนั้นถ้าหากบิดาอยากจะจดทะเบียนรับรองบุตรคนใด ที่เกิดจากหญิง ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับตน ย่อมทำได้เสมอ เพราะถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ของชายผู้นั้น แม้ว่าผู้ชายจะมีคู่สมรส ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่แล้ว ก็ยังสามารถที่จะจดทะเบียนรับรองบุตรที่แท้จริงของตน ที่เกิดจากหญิงคนอื่นได้เสมอ ข้อที่ว่าจะจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ได้ เพราะภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะเข้ามาคัดค้าน ไม่ให้จดทะเบียน รับรองบุตรรับฟังไม่ขึ้นอยู่ที่ว่าฝ่ายบิดาสมัครใจจะจดทะเบียนรับรองบุตรหรือไม่เท่านั้น
ความสำคัญของการจดทะเบียนรับรองบุตรอยู่ที่ว่า มารดาและเด็กยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ดังนั้นถ้าบิดาประสงค์จะจดทะเบียนรับรองบุตรก็ต้องให้เด็ก และมารดาเด็กยินยอมด้วย ปัญหาของน้องชายของคุณจึงอยู่ตรงที่ว่ามารดาเด็กไม่ยินยอมให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร สาเหตุมาจากทิฐิ หรือความโกรธ หรือชังที่ไปถูกหลอกว่าไม่มีภริยาอยู่ก่อน หรือเกลียดที่ไม่รับผิดชอบ แต่แรกก็ตาม แต่ผลเสียอาจจะตกอยู่กับเด็กเพราะแทนที่เด็กจะได้รับสิทธิต่าง ๆ จากบิดาที่แท้จริง ของตน อย่างบุตรชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะเสียโอกาสเหล่านี้ไปเพราะมารดาเด็กไม่ยินยอม
ดังนั้นวิธีการแก้ถ้ามารดาเด็กไม่ยินยอมในการที่บิดาจะจดทะเบียนรับรองบุตรคือ ต้องร้องขอต่อศาล ให้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะเข้ากรณีที่ว่า ถ้าเด็ก หรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่ง คัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียน ไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ บิดาก็ต้องไปร้องศาล ขอจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะเข้ากรณีที่ว่ ามารดาไม่ให้ความยินยอม ซึ่งแน่นอนว่า ศาลจะต้องพิจารณา ผลประโยชน์ที่จะตกได้แก่ตัวเด็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิที่จะได้รับ ค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิที่จะได้รับ มรดก สิทธิที่จะได้รับการดูแล หรือสิทธิที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะ จากผู้ที่มาทำละเมิดกับบิดาของตน ให้ถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าศาลจะพิพากให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า น้องชายของคุณ เป็นบิดาที่แท้จริงของเด็ก แต่ปัญหาเรื่องอำนาจปกครองบุตร จะเป็นคนละเรื่องกับ การจดทะเบียนรับรองบุตร เพราะเด็กควรจะอยู่ในความอุปการะของใครเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาถึงหลายด้าน ตั้งแต่การดูแล เอาใจใส่ ความรัก ความอบอุ่น การที่มารดาเด็กไม่เลี้ยงดูเด็กเอง แต่ให้ตายายช่วยเลี้ยง การที่น้องชายคุณ ซึ่งเป็นบิดา และมีฐานะ จะเอาไปเลี้ยงเอง ย่อมมีโอกาสมากกว่า แต่การที่น้องชายของคุณ ก็มีภริยาอื่นอยู่แล้ว การที่จะเอาเด็กไปอยู่ร่วมกับภริยาเลี้ยง กับการที่จะให้เด็กอยู่กับตายาย ซึ่งเลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด และมีมารดา คอยดูแลกำกับ ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจ วินิจฉัย ชั่งน้ำหนักเอาว่า ใครจะเป็นผู้ที่ดูแลเด็กได้ดีกว่า เพราะขณะนี้ทั้งบิดาและมารดาต่างมีหรือจะมีใหม่
ดังนั้นการที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรก็มิได้หมายความว่าจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เพียงแต่หากศาลให้เด็กอยู่ในความปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ก็มิได้หมายความว่า จะตัดสิทธิ มิให้บิดาเด็ก ไปเยี่ยมเยียน พบปะเด็ก พอสมควร มารดาจะกีดกันมิให้เด็ก และบิดาพบปะกัน เหมือนเช่นที่บิดายังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรอีกต่อไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าบิดาจะไม่มีโอกาสที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ถ้าต่อมาภายหลัง ปรากฏว่า มารดาเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่เหมาะที่จะใช้อำนาจปกครองบุตร บิดาก็สามารถร้องต่อศาล ขอให้ศาล เปลี่ยนให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แทนมารดาเด็กได้ แต่นั่นหมายถึงว่า บิดาจะต้องได้จดทะเบียน รับรองเด็กเป็นบุตรแล้ว จึงจะมาร้องขอเปลี่ยนอำนาจปกครองบุตร จากมารดาที่ไม่ควรให้ดูแลเด็ก มาเป็นบิดาในภายหลังได้
สุกัญญา รัตนนาคินทร์
main |