ปัญหากฎหมายวันนี้ถามมาจากผู้ใช้ชื่อว่า "คนใกล้บ้า"
เจ้าของจดหมายใช้ชื่อว่า คนใกล้บ้า ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วง อยากให้กำลังใจว่า อย่าเพิ่งท้อแท้ คนที่ยิ่งกว่า เรา ยังมีอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ขอให้ต่อสู้ไป เพราะชีวิตคือการต่อสู้ ความพยายามคือความสำเร็จ เชื่อว่าสักวันหนึ่งชีวิตครอบครัว และฐานะคงจะกลับฟื้น คืนดีขึ้นมาจนได้
ปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกที่ถามคือ ภริยาควรทำอย่างไร จึงจะไม่ถูกยึดที่ดินกับบ้านซึ่งเป็นสินสมรส
ตามหลักเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ศาลจะออกคำบังคับให้จำเลย หรือลูกหนี้ ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำพิพากษาระยะเวลาหนึ่งก่อน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปศาลจะให้เวลาประมาณ 30 วัน ที่ผู้ถามปัญหาบอกมาในจดหมายว่าตอนนี้ใกล้จะครบกำหนดเวลาที่ศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว แสดงว่าใกล้จะครบกำหนดเวลาในคำบังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาในคำบังคับแล้ว หากลูกหนี้ ตามคำพิพากษา ยังไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อบังคับชำระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป โดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอหมายบังคับคดีและดำเนินการ บังคับคดีตามขั้นตอนอื่น ๆ ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ( ป.วิ.พ. มาตรา 271 คำพิพากษาฎีกาที่ 4741/2539) ผู้ถามปัญหาบอกมาอีกว่า สามีไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว แต่มีที่ดินกับบ้าน ซึ่งเป็นสินสมรส สินสมรสเป็นส่วนของสามีซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง เจ้าพนักงาน บังคับคดี จึงมีอำนาจยึดบ้านกับที่ดินสินสมรสมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาได้ ภริยาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะไม่ยอมให้ยึดคงไม่ได้ และเมื่อเจ้าพนักงาน บังคับคดียึดแล้ว ภริยาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะร้องขัดทรัพย์ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด ก็ทำไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ถ้าหนี้ตาคำพิพากษากรณีนี้ไม่ใช่หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ภริยาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีสิทธิขอกันส่วนครึ่งหนึ่งจากเงินที่ขายทอดตลาดบ้านกับที่ดินสินสมรสได้ แต่ถ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ภริยาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ขอกันส่วนไม่ได้ เพราะสามีภริยาจะต้อง รับผิดร่วมกันในหนี้ร่วมและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเอาชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัว ของทั้งสองฝ่าย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489 คำพิพากษาฎีกาที่ 5696/2533)
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 หมายถึง หนี้ที่สามีภริยา ก่อร่วมกันและยังรวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึง การรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบันหนี้ตามคำพิพากษา กรณีนี้จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาหรือไม่ ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงว่าภริยาได้เข้าไปก่อหนี้ร่วมกับสามี หรือไม่ หรือการเล่นหุ้นของสามี ซึ่งเป็นมูลให้เกิดหนี้รายนี้ขึ้น ถือเป็นการงานที่ภริยาทำร่วมกับสามี หรือไม่ หรือภริยาได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวหรือไม่
ส่วนปัญหาที่สามีถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขู่ว่าหากยึดบ้านกับที่ดินขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้หนี้ จะฟ้องให้สามีล้มละลาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะฟ้องได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อยึด บ้านกับที่ดินขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ยังเหลือหนี้อีกเท่าใด ถ้ายังมีหนี้อยู่อีก ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และสามีเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิที่จะนำเอา หนี้ตามคำพิพากษาที่ยังเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทไปฟ้องให้สามี ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ล้มละลายได้
ครับ ทั้งหมดเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเห็นอกเห็นใจ ยอมให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ยึดบ้านกับที่ดิน หรือไม่ฟ้องคดี ล้มละลายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลูกหนี้ตามคำพิพากษาเองว่า มีความสุจริตใจและมีความกระตือรือร้น ที่จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้ให้เขามากน้อยแค่ไหน
คนข้างศาล
main |