ปัญหาของเมียรายนี้น่าเห็นใจเป็นอย่างมาก อุตส่าห์ทุกข์ยากทนรอสามีอยู่ถึง 6 ปีทั้ง ๆ ที่สามีไม่เคยส่งข่าวคราว และส่งเสียเลี้ยงดูจนทนรอความทุกข์ยากอีกต่อไปไม่ไหว จึงได้แต่งงานใหม่อยู่กินกับชายที่ให้ความรักทั้งเมีย และลูกของเมีย การอยู่กินฉันสามีภริยากับชายอื่นในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดสามีเช่นนี้ แม้จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่น่าจะได้รับการตำหนิติเตียนจากใคร
การเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายนั้น มิใช่สักแต่ว่าคนเป็นสามีจะใช้สิทธิอยู่กินหลับนอนกับภริยา จนมีลูก แล้วทิ้งขว้างตีจาก หากแต่กฎหมายยังได้กำหนดให้สามีภริยา มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน ตามความสามารถและฐานะของตนด้วย โดยเหตุนี้กฎหมายจึงได้กำหนดให้ถือเอาการที่สามีหรือภริยา ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากัน อย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่ง เดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ หรือการที่สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี เป็นเหตุฟ้องหย่า ที่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516)
ข้อที่เมียเป็นกังวลว่า จะไปฟ้องสามีคนแรกที่ศาลใด ในเมื่อไม่รู้ว่าสามีคนแรกหายตัวไปอยู่ที่ไหนนั้น เมียได้เล่ามาในจดหมายว่าได้อยู่กินกับสามีคนแรกจนมีลูกด้วยกัน 1 คน และจดทะเบียนสมรสกันด้วย แสดงว่าก่อนหายไป สามีคนแรกจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านที่อยู่กินด้วยกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าสามีคนแรกได้ย้ายออกไปจากบ้านดังกล่าว น่าจะถือได้ว่าสามีคนแรก ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมียจึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ที่ศาลซึ่งสามีคนแรกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต เมื่อฟ้องแล้วอาจขออนุญาตศาลส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้โดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ ชั้นยื่นคำให้การหรือชั้นพิจารณา หากสามีคนแรกไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี หรือไม่ไปศาลในวันนัดพิจารณานัดแรก ก็อาจขอให้ศาลสั่งให้ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา แล้วดำเนินคดีสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนพิจารณาของศาล
เมื่อศาลพิจารณาให้หย่าแล้ว จึงไปทำการจดทะเบียนสมรสกับสามีคนที่สอง อย่าเพิ่งไปจดทะเบียนสมรสกับสามีคนที่สองในขณะที่การสมรสครั้งแรกยังไม่ได้สิ้นสุดลงเป็นอันขาด เพราะจะเป็นการสมรสซ้อนและไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ ในทางกฎหมาย
อนึ่ง นอกจากการทำให้การสมรสสิ้นสุดลง โดยวิธีฟ้องหย่าดังกล่าวแล้ว เมียซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียยังสามารถทำให้ การสมรสนี้สิ้นสุดลงด้วยวิธียื่นคำร้องขอต่อศาล ให้สั่งให้สามีคนแรกเป็นคนสาบสูญได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้เพราะสามีคนแรกได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าสามีคนแรก ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อศาลสั่งให้สามีคนแรกเป็นคนสาบสูญแล้ว กฎหมายให้ถือว่าสามีคนแรกได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว การสมรสระหว่างเมียกับสามีคนแรกย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตายของสามีคนแรก
ส่วนการที่จะทำให้ลูกที่เกิดจากสามีคนแรกเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีคนที่สองนั้น คงจะทำไม่ได้ แต่สามีคนที่สองสามารถทำได้ด้วยวิธีจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมเท่านั้น ซึ่งในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ของผู้เยาว์ด้วย ฉะนั้นหากศาลสั่งให้สามีคนแรกซึ่งเป็นพ่อของเด็ก เป็นคนสาบสูญแล้ว เมียซึ่งเป็นแม่ของเด็กก็สามารถให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมเพียงคนเดียวก็พอ ทั้งนี้จะต้องผ่านขั้นตอนการทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติการรับบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 เสียก่อน
ครับ คนเราก็มักจะมีเรื่องที่ต้องเป็นทุกข์ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งเสมอ อย่าไปท้อแท้ครับ
คนข้างศาล
main |