คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คลินิก กฏหมาย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2541 ]
เบี้ยวขันหมาก

ปัญหากฎหมายวันนี้ถามมาจากเจ้าของจดหมายผู้ใช้ชื่อว่า ลูกชาวนา โดยลูกชาวนาเล่าข้อเท็จจริง มาให้ฟังว่า เมื่อกลางปีที่แล้วลูกชาวนาได้พาหลานสาวไปทำงาน ที่บริษัทที่ลูกชาวนาทำงานอยู่ มีชายหนุ่มคนหนึ่ง มาติดพันหลานสาวอยู่หลายเดือน ลูกชาวนาเห็นท่าไม่ดี กลัวจะเกิดเรื่องเสียหายกับหลานสาว ได้เรียกชายหนุ่มคนนั้นมาคุย และแนะนำให้พาผู้ใหญ่มาสู่ขอตามประเพณี ชายหนุ่มก็ทำตามคำแนะนำ โดยพาผู้ใหญ่ 5-6 คน มาสู่ขอหมั้นไว้ก่อน ด้วยค่าสินสอด 20,000 บาท ทองหนัก 1 บาท แต่ไม่ได้นำสินสอดมาวาง เพียงแต่ให้สัตาบันต่อกันว่า จะมอบสินสอดดังกล่าวในวันแต่งงาน ซึ่งได้กำหนดกันไว้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 เมื่อถึงกำหนดวันแต่งงาน ลูกชาวนาได้จัดเลี้ยงแขกที่ได้เชิญไว้ ปรากฏว่าเจ้าบ่าวไม่ยกขันหมากมาตามที่นัดหมาย วันรุ่งขึ้นได้นัดผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายเจ้าบ่าวยอมรับผิด และจะชดใช้ค่าเสียหายให้ในวันที่ 20 เดือนเดียวกัน ครบกำหนดแล้วก็ไม่ยอมจ่ายอีก จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้จ่าย

ลูกชาวนาถามปัญหาข้อกฎหมายมาว่า กรณีอย่างนี้เป็นความผิดทางแพ่งหรือทางอาญา

ขอตอบว่า ทางอาญาคงเอาผิดกับฝ่ายชายไม่ได้แน่นอน เพราะไม่มีกฎหมายบทใด บัญญัติเอาผิดทางอาญา กับการกระทำกรณีเช่นนี้

ส่วนความผิดในทางแพ่งนั้น ฝ่ายหญิงก็น่าจะเรียกร้องฝ่ายชายไม่ได้เช่นกัน เพราะที่ลูกชาวนาเล่ามา ในจดหมายว่า ผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย 5-6 คน มาสู่ขอและหมั้นกันไว้นั้น ไม่ปรากฎว่าฝ่ายชายได้ให้ของหมั้น แก่หญิงแต่อย่างใด ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ของหมั้น มีความสำคัญต่อการหมั้นเป็นอย่างยิ่ง การหมั้นที่ไม่มีของหมั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า "การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งหมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นแก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น" หลักการของกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ การหมั้นต้องมีของหมั้น จึงสมบูรณ์นี้เป็นหลักการดั้งเดิมของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้มีการตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใหม่ มาตรา 1437 ซึ่งตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนหลักการไปจากเดิมเป็นว่า การหมั้นจะมีของหมั้นหรือไม่มีของหมั้นก็ได้ หลักการนี้ใช้อยู่จนถึงวันที่ 27 กันยายน 2533 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่เมื่อปี พ.ศ 2519 ได้ถูกยกเลิก และใช้บทบัญญัติใหม่บางมาตรารวมทั้งมาตรา 1437 ด้วย โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 มาตรา 1437 ใหม่นี้กลับไปใช้หลักเดิมดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวกับสินสอดของหมั้นก่อนปี พ.ศ. 2519 จึงน่าจะนำมาอ้างอิงได้ ตามหลักการของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การหมั้นจะเรียกว่าหมั้นก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำของหมั้นไปหมอบให้แก่ฝ่ายหญิง เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาฌิชย์ มาตรา 1438 (ปัจจุบัน มาตรา 1439) โดยที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นนี้ เมื่อฝ่ายชายเพียงแต่ตกลงว่าจะสมรส โดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง หากฝ่ายชายไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าทดแทนหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 523/2509)

กรณีของลูกชาวนาน่าจะพอเทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เพราะเป็นกรณีที่หมั้นกันไว้ก่อน โดยไม่มีของหมั้น จึงเป็นการหมั้นที่ไม่สมบูรณ์ แม้ฝ่ายชายผิดข้อตกลงฝ่ายหญิงไม่อาจเรียกค่าทดแทนได้

ส่วนข้อที่ฝ่ายชายตกลงจะให้สินสอด 20,000 บาท กับทองหนัก 1 บาท นั้น แม้ฝ่ายชายจะยังไม่ได้มอบ ให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงก็อาจเรียกร้องให้ฝ่ายชายชำระหรือส่งมอบภายหลังได้ ถ้าหากหญิงกับชายได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาเนื่องจากข้อตกลงในการแต่งงานและการจะให้สินสอด แต่ข้อเท็จจริงตามที่เล่ามาให้ฟัง ชายเบี้ยวตลอดรายการ หญิงก็ไม่ได้ตบแต่งอยู่กินเป็นผัวเมียกับชาย บิดามารดาหรือผู้ปกครองของหญิงจึงเรียกสินสอดที่ฝ่ายชายตกลงจะมอบให้ไม่ได้ เพราะสินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสกับชาย

สำหรับข้อที่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้นั้น ถือว่าคู่กรณีได้ทำสัญญาประนีประนอม ยอมความกัน คู่กรณีจะต้องทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ที่ยินยอมจะชดใช้ค่าเสียหายไว้ด้วย จึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้

ครับ คงต้องย้ำก่อนจากวันนี้ว่า การหมั้นที่สมบูรณ์จะต้องมีของหมั้นด้วย

คนข้างศาล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1