คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คอลัมน์ข้างศาล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2542 ]
สัญญาหมั้น

มีจดหมายถามเกี่ยวกับเรื่องหมั้นและสมรสหลายฉบับ บางฉบับขอให้ตอบเป็นการส่วนตัว คงต้องขออภัยที่ไม่อาจตอบเป็นการส่วนตัวได้ เพราะวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความในคอลัมน์นี้ก็ เพื่อให้ความรู้แก่ท่านผู้อ่านทุกคน เอาเป็นว่าขอตอบรวม ๆ กันไปก็แล้วกันนะ ครับ

การหมั้นเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ที่ชายและหญิงซึ่งเป็นคู่สัญญาตกลงกันว่าจะทำการสมรสกัน

การสมรสตามกฎหมายชายและหญิงที่ทำการสมรสกัน จะต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและจะต้องจดทะเบียนสมรสด้วย

ถ้าชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่เป็นการสมรสตามกฎหมาย เมื่อไม่เป็นการสมรส ชายหญิงคู่นั้นก็ไม่ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย หากอยู่กินกันจนมีลูก ลูกก็จะเป็นลูกนอกกฎหมายของพ่อ

ชายหญิงที่รักกันชอบกัน อยากอยู่กินด้วยกัน ก็สามารถทำการสมรสกันได้เลย โดยไม่ต้องทำการหมั้น แต่ชายหญิงคู่นั้นจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แล้วทั้งสองฝ่าย

ถ้ารักกันแล้ว แต่ยังไม่อยากสมรส จะหมั้นกันไว้ก่อนก็ได้ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 17 ปีบริบูรณ์แล้วเช่นกัน

การหมั้นและการสมรสในขณะที่ชายหญิงยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะต้องได้รับความยินยอมของพ่อแม่ ถ้าพ่อหรือแม่ตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้ ก็ต้องได้รับความยินยอมจากแม่หรือพ่อ ถ้าไม่มีทั้งพ่อและแม่ ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ถ้าผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม การหมั้นและการสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอม จากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ย่อมเป็นโมฆียะ

นอกจากนี้การหมั้นที่สมบูรณ์ ฝ่ายชายจะต้องส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะทำการสมรสกับหญิงนั้นด้วย

ของหมั้นนี้เมื่อหมั้นแล้ว กฎหมายให้ตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที

ถ้าฝ่ายชายได้มอบทรัพย์สินให้แก่หญิงเป็นของหมั้นแล้ว บางส่วน เช่น มอบทองให้หนึ่งบาท และสัญญาว่าจะมอบเงินให้อีก 20,000 บาท ในภายหลัง เช่นนี้ถือว่าสัญญาหมั้นเกิดขึ้นแล้ว โดยมีทองหนักหนึ่งบาทเป็นของหมั้น ส่วนเงินอีก 20,000 บาท ที่ชายสัญญาจะมอบให้ในภายหลังนั้นไม่ถือว่าเป็นของหมั้น หญิงจะฟ้องเรียกเงิน 20,000 บาท จากชายไม่ได้ หากชายไม่ยอมสมรสกับหญิง ถือว่าชายผิดสัญญาหมั้น หญิงมีสิทธิฟ้องเรียกได้ แต่เฉพาะค่าทดแทน ฐานผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น

สิทธิเรียกค่าทดแทนกรณีผิดสัญญาหมั้นมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น

อย่างไรก็ดี แม้หญิงจะฟ้องเรียกเงิน 20,000 บาท จากชายไม่ได้ แต่หญิงก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมสมรสกับชายได้ โดยถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น ดังตัวอย่างในคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่ที่ 1089/2492 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงแล้ว ถ้าให้ทรัพย์ไว้ส่วนหนึ่งและสัญญาว่าจะนำมามอบให้ ในวันหลังอีก ก็เป็นของหมั้นเฉพาะส่วนที่ให้ไว้แล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้มอบให้ไม่เป็นของหมั้น หญิงจะฟ้องเรียกทรัพย์ที่ฝ่ายชายสัญญาจะมอบให้อีกนั้นไม่ได้

ถ้าฝ่ายชายได้มอบของหมั้นให้บ้างแล้ว และสัญญาว่าจะนำของหมั้นที่ยังขาดมามอบให้อีก "ถ้าฝ่ายชายไม่นำมามอบให้ตามที่ตกลงกันฝ่ายหญิงจะปฏิเสธไม่ยอมสมรส โดยถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นก็ได้"

เมื่อฝ่ายหญิงได้ทำการหมั้นกันโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น คือ ไม่ยอมสมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้แต่มีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาใช้ทดแทนให้เท่านั้น จะฟ้องร้องขอให้ศาลบังคับ ให้ฝ่ายที่ผิดสัญญามาทำการสมรสด้วยหาได้ไม่ เพราะการสมรสจะกระทำได้แต่เมื่อ ชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงความยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้าทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

ในกรณีที่หญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น นอกจากฝ่ายชาย มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้แล้ว ฝ่ายชายยังมีสิทธิ เรียกของหมั้นคืนได้ด้วย ซึ่งสิทธิเรียกของหมั้นคืน ก็มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้นเช่นเดียวกัน

ตามปกติถ้าชายหญิงรักกันจริง ๆ การสมรสก็คงจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีการหมั้นหรือใครมาบังคับ ที่การสมรสเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่หมั้นกันแล้วน่าจะมีสาเหตุจาก การไม่รักกันจริงมากกว่าสาเหตุอื่น ถ้าการสมรสเกิดขึ้นไม่ได้ ฝ่ายหญิงมักเสียเปรียบถ้าหญิงอยากจะสมรส ก็คงต้องหาชายที่มีรักจริง

ครับ รักจริงจึงสำคัญกว่าของหมั้น

คนข้างศาล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1