พินัยกรรม
ผมและภริยาเป็นแฟนคลินิกกฎหมายมานานแล้ว สนใจติดตามความรู้ทางด้านกฎหมายที่คุณตอบมา สำหรับผมอยากจะทราบข้อกฎหมายเรื่อง พินัยกรรม คือ ผมและภริยาจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สิน ให้แก่กันและกันไว้ จะทำได้หรือไม่ ผมไม่ทราบว่าระหว่างผมและภริยา ใครจะตายก่อนตายหลัง และถ้าต่อไปจะยกเลิกพินัยกรรมที่ได้ทำไว้แล้วจะทำได้โดยวิธีใดบ้าง
คนรักภริยา |
โดยทั่วไปส่วนสำคัญสำหรับพินัยกรรมที่จะขาดไม่ได้ คือ |
วันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม มีข้อกำหนดการเผื่อตาย มีการลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม พยานรับรองลายมือ |
ข้อกำหนดการเผื่อตาย
ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องได้แสดงเจตนาไว้เป็นข้อความที่ชัดเจนว่า ถ้าตนตายไปแล้ว หรือข้อความในทำนองที่ หากตนถึงแก่ชีวิตในภายภาคหน้า จะยกทรัพย์ให้แก่ใคร เพราะหากไม่มีการกำหนดระบุการเผื่อตายไว้ด้วย ก็จะเป็นการยกทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่นในขณะที่ตนมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องการให้โดยเสน่หาไป การให้โดยเสน่หาทรัพย์สินบางประเภท เช่น บ้านและที่ดิน หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน แก่เจ้าหน้าที่ ก็จะตกเป็นโมฆะไป แต่ถ้ายกบ้านและที่ดินในลักษณะของการทำพินัยกรรม เพียงแต่ทำตามแบบ ของพินัยกรรมไม่ต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใด ๆ ก็มีผลให้ทรัพย์สินตามพินัยกรรม ตกแก่ผู้รับพินัยกรรมเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย
ต้องมีผู้ทำพินัยกรรม
โดยผู้ทำพินัยกรรมจะเขียนข้อความในพินัยกรรมด้วยตนเองหรือไม่ก็ได้ ที่สำคัญคือ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ทำพินัยกรรม
ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ทำพินัยกรรม กฎหมายบังคับให้ ต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อสองคนอยู่ด้วย ความหมายของคำว่ามีพยานอย่างน้อยสองคนอยู่ด้วยนั้น หมายถึงว่า ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อ ของผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานสองคน ส่วนพยานสองคนนั้น จะลงลายมือชื่อในฐานะพยานไว้ก่อนหรือหลัง ผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่ก็ได้
แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ก็จะเป็น "พินัยกรรมแบบเขียนเอง" ก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่น การกล่าวอ้างว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติไม่สมบูรณ์ในขณะทำพินัยกรรมก็พิสูจน์ยาก การพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่เขียน น้ำหนักแรงกด ลายเส้น ช่องไฟ ลวดลาย รูปแบบ จะปลอมลายมือยาก ป้องกันปัญหาพินัยกรรมปลอมได้อย่างดี สำหรับพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้ ตอนลงลายมือชื่อ จะปั๊มลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้ เพราะเรื่องการลงลายพิมพ์นิ้วมือจะทำได้เฉพาะ พินัยกรรมแบบอื่น ๆ จำง่าย ๆ เขียนพินัยกรรมทั้งฉบับได้ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมก็ต้องเขียนเองจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้
พินัยกรรมแบบเขียนเอง เพียงแต่ผู้ทำพินัยกรรมเขียนและลงลายมือชื่อไว้ ไม่ต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อ ก็ใช้ได้ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมแล้ว เพราะส่วนใหญ่พินัยกรรมแบบเขียนเองมักเป็นความประสงค์ ของผู้ทำพินัยกรรมที่ไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครรู้ว่าหากตนตายไปจะยกทรัพย์สินให้ผู้ใดไว้บ้าง แต่ที่พบเห็นทั่วไปแม้ว่าผู้ทำพินัยกรรมจะเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับแต่ก็ยังมีพยานรับรองพินัยกรรมไว้ เพื่อยืนยันเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ตายไปแล้วที่ไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาพูดได้อีก หากมีผู้กล่าวอ้างว่าลายมือในพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือที่แท้จริงของผู้ที่ทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรมระหว่างสามีภริยา ซึ่งอาจจะทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกันต่างยกทรัพย์สินให้แก่กัน สามารถทำได้ เพราะพินัยกรรมจะต้องมีข้อความสำคัญที่มีลักษณะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้ หรือข้อความในทำนองอื่นใดว่า ถ้าตนตายไปแล้วหรือถ้าตนถึงแก่ความตายในวันข้างหน้า จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใคร การทำพินัยกรรมโดยให้มีผลบังคับตามกฎหมายดังกล่าวจึงใช้ได้ เพราะการทำพินัยกรรมมิใช่เป็นการพนันขันต่อโดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ใครจะตายก่อนตายหลังไม่มีใครรู้
ดังนั้นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์ของตนหรือในการต่าง ๆ ที่จะให้เกิดเป็นผล บังคับได้ตามกฎหมายเมื่อสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนจึงทำได้ อาจจะทำเป็นพินัยกรรม แบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองขึ้นมาคนละฉบับ หรือสามีภริยาทำพินัยกรรมฉบับเดียวกันต่างยกทรัพย์สิน ให้แก่กัน และกัน มีการลงวันเดือนปีที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมทั้งสามีและภริยาได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน สองคนพร้อมกัน และพยานได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นแล้ว
พินัยกรรม 2 พยานในพินัยกรรม
สืบเนื่องจากจดหมายฉบับที่แล้วของคุณ "คนรักภริยา" ซึ่งได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับพินัยกรรมไว้ ส่วนท่านที่ขอตัวอย่างแบบพินัยกรรมหรือวิธีการเปลี่ยนพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วจะทำได้หรือไม่ และทำได้โดยวิธีใดบ้าง โปรดอดใจรอนะคะ
ขออธิบายต่อในเรื่องหลักสำคัญ ๆ ของพินัยกรรมที่มักจะเป็นปัญหากันเสมอว่าพินัยกรรมที่ทำนั้น
ใช้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะพยานในพินัยกรรมที่จะใช้พิสูจน์ถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรม บางครั้งตัวพยานเองอาจทำให้พินัยกรรมใช้ไม่ได้ก็มีมากมาย มีเฉพาะพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรม เขียนพินัยกรรมด้วยตัวเองทั้งฉบับเท่านั้นที่กฎหมายไม่บังคับให้ต้องมีพยานในพินัยกรรม ส่วนพินัยกรรมแบบอื่น ๆ ล้วนแต่ต้องมีพยานในพินัยกรรม พยานในพินัยกรรมจึงมีความสำคัญมาก
คุณสมบัติของพยานในพินัยกรรม กฎหมายกำหนดไว้ว่าบุคคลดังต่อไปนี้จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้ คือผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและบุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง เหตุที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติของพยานในพินัยกรรมไว้เพราะ พยานสองคนที่รู้เห็นการทำพินัยกรรมจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย เพื่อเป็นที่ยอมรับว่า เขาสามารถเข้าใจสาระสำคัญในการทำพินัยกรรมได้ดีพอและสำหรับผู้เป็นพยานที่จะต้องบรรลุนิติภาวะนั้น การบรรลุนิติภาวะอาจจะบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสก็ได้ (คืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์แต่มีคู่สมรสโดยได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว)
โดยปกติแล้วผู้ทำพินัยกรรมเขาจะลงลายมือชื่อหรือปั๊มลายพิมพ์นิ้วมือไว้ในพินัยกรรมได้อย่างเดียว แต่สำหรับพยานในพินัยกรรมแล้ว จะต้องลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ได้อย่างเดียว จะเป็นพยานแล้วใช้การปั๊มลายพิมพ์นิ้วมือโดยไม่ลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมอย่างกรณีของ ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้
ข้อห้ามที่สำคัญที่สุดสำหรับพยานในพินัยกรรม คือ พยานในพินัยกรรมหรือผู้เขียนพินัยกรรม จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากพยานหรือผู้เขียนพินัยกรรมจะเป็นผู้ที่รู้ข้อความ ในพินัยกรรมและใกล้ชิดกับผู้ทำพินัยกรรม จึงอาจพูดจูงใจให้ผู้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้เขียนหรือพยานได้ กฎหมายจึงห้ามไว้ไม่ให้พยานหรือผู้เขียนพินัยกรรมรับทรัพย์ตามพินัยกรรม ซึ่งกฎหมายยังรวมไปถึง คู่สมรสของพยานหรือผู้เขียนพินัยกรรมด้วย หมายความว่าผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม จะต้องไม่ใช่ สามีหรือภริยาของพยาน ไม่ใช่สามีหรือภริยาของผู้เขียนพินัยกรรม
ปัญหาคือว่า ถ้าหากผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นผู้เขียน พินัยกรรมหรือเป็นคู่สมรสของพยานหรือผู้เขียนพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่
ถ้าหากพินัยกรรมดังกล่าวถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พินัยกรรมฉบับนี้ยังคงใช้ได้สมบูรณ์ แม้พยานหรือผู้เขียนหรือคู่สมรสของพยานหรือผู้เขียนจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม แต่พินัยกรรมฉบับนี้ยังคงสมบูรณ์ใช้ได้เพราะเป็นพินัยกรรมที่มีพยานตามที่กฎหมายกำหนด จะตัดสิทธิเฉพาะพยานหรือผู้เขียนหรือคู่สมรสที่พินัยกรรมระบุยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้เท่านั้น ที่ไม่อาจได้รับทรัพย์ตามที่พินัยกรรมระบุไว้ได้ คือพินัยกรรมจะเป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เป็นของพยาน ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมคนนั้นเท่านั้น แต่ไม่กระทบถึงข้อกำหนดในพินัยกรรมคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นพยาน หรือผู้เขียนพินัยกรรมหรือคู่สมรสของบุคคลดังกล่าว ยังคงมีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมทุกประการ
ส่วนทรัพย์สินที่ระบุยกให้พยานหรือผู้เขียนหรือคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวไว้ก็ต้องตกทอดแก่บุคคล ที่เป็นทายาทตามกฎหมายของผู้ทำพินัยกรรมแทน ฉะนั้นจำไว้ให้ดีนะคะว่า ถ้าคุณจะได้รับทรัพย์สิน ในพินัยกรรมแล้วอย่าเผลอไปเป็นพยานหรือเขียนพินัยกรรมหรือให้สามีภริยาของคุณมาเป็นพยาน หรือเป็นผู้เขียนพินัยกรรมด้วย มิฉะนั้นคุณจะชวดทรัพย์ตามที่ได้จากพินัยกรรมไป
เคยมีปัญหาโต้แย้งกันเกี่ยวกับการที่ผู้ทำพินัยกรรมมีทายาทของตนเองมากมาย แต่แทนที่จะยกทรัพย์ ให้กับทายาท เจ้าของทรัพย์กับทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้กับวัดไว้ อาจจะน้อยอกน้อยใจทายาทของตน หรือต้องการให้ทรัพย์สินของตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือต้องการทำนุบำรุงศาสนา ซึ่งมักทำกัน
อย่างง่าย ๆ โดยลงชื่อให้เจ้าอาวาสเป็นพยานในพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้วัด ปัญหาว่าวัดจะมีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมหรือไม่ (ต่อฉบับวันอังคารหน้า)
สุกัญญา รัตนนาคินทร์
main |