คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คลินิก กฏหมาย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2541]
law clinic

ลูกจากสมรสซ้อนรับมรดก


หนูอายุได้ 15 ปี เป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่ แต่แม่เป็นเมียที่พ่อจดทะเบียนสมรสซ้อน เพราะพ่อมีเมียที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว ขณะนี้พ่อเสียชีวิตไปอย่างไม่มีใครคาดคิด ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้แม่และหนูได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจ ไว้ก่อนว่าพ่อจะจากเราไปเร็วถึงเพียงนี้ คนส่วนใหญ่ มักจะเข้าใจว่า พ่อได้ปรนเปรอทรัพย์สินเงินทอง ให้แม่มากมาย แต่แท้ที่จริงพ่อให้แม่ใช้จ่าย เป็นรายเดือน ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นชื่อของพ่อคนเดียว แม้กระทั่งบ้านที่แม่ และหนูอยู่ ก็เป็นชื่อของพ่อ พ่อเพียงแต่บอกว่าจะยกบ้านหลังนี้ให้หนูเมื่ออายุครบ 20 ปี
ปัญหาของหนูคือว่า เมียตามกฎหมายของพ่อเขาให้ทนายความติดต่อให้แม่และหนูออกจาก บ้านหลังนี้ เนื่องจากบ้านเป็นชื่อของพ่อ แม่ไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินของพ่อ เพราะทะเบียนสมรสของแม่ซ้อน แต่หนูสงสัยว่าทำไมทนายความจึงพยายาม ให้หนูเซ็นหนังสือยินยอม ให้เมียของพ่อ เป็นผู้จัดการมรดก หนูจึงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเซ็น ล่าสุดเขาติดต่อมาว่าถ้าหนูเซ็นเขาจะให้ทุนการศึกษา 1 แสนบาท จึงอยากจะปรึกษาพี่ว่า
ถ้าหนูและแม่ต้องการเพียงบ้านหลังนี้ เราจะอ้างสิทธิอะไรได้บ้าง และจะขอความเป็นธรรม หรือขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานใดได้บ้าง เพราะหนูกับแม่ไม่รู้กฎหมาย

น้องเล็ก

แม้ตามกฎหมายแพ่ง การสมรสที่เกิดจากทะเบียนสมรสซ้อนจะถือว่าตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่แรก แต่โมฆะสำหรับหญิงและชายที่จดทะเบียนสมรสซ้อนกัน แต่กฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า สำหรับลูกที่เกิดมาในระหว่างระยะเวลาก่อนที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือเกิดมาภายใน 310 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะ ให้สันนิษฐานว่า ลูกที่เกิดมานี้เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ชายเป็น หรือเคยเป็นสามีของแม่เด็กด้วย เหตุผลคงเป็นเพราะว่าลูกนั้นถือเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนร่วมกระทำผิดในการสมรสที่ต้องเป็นโมฆะ

ดังนี้แม้แม่ของหนูจะเป็นเมียที่เกิดจากทะเบียนสมรสซ้อนซึ่งไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย เพราะไม่ใช่คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับหนู กฎหมายได้สันนิษฐานไว้ว่า เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อที่ตาย จึงถือว่าหนูเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยคนหนึ่ง ในการร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายนั้น ผู้ที่มีสิทธิร้องขอได้คือทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ผู้มีส่วนได้เสีย และพนักงานอัยการ หนูจึงสามารถที่จะร้องขอให้มีการจัดการมรดกได้ โดยจะร้องขอเข้าไปเป็นคดีใหม่ หรือจะร้องคัดค้านเข้าไปในคดีที่มีผู้อื่นร้องของจัดการมรดกของพ่อหนูแล้วก็ได้

ปัญหาของคดีก็คือว่า สำหรับตัวหนูเองยังไม่มีคุณสมบัติที่จะให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ของพ่อที่ตายได้ เพราะหนูยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นคำขอจัดการมรดก หรือคำร้องขอคัดค้าน ที่ผู้อื่นขอจัดการมรดก หนูจึงต้องแต่งตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งในที่นี้คงจะมีแม่ของหนู จริงอยู่ แม้แม่จะไม่มีสิทธิได้รับ มรดกของผู้ตาย แต่แม่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกได้ เพราะถ้าหากผู้จัดการมรดกไม่ใช่ทายาท ที่มีสิทธิรับมรดก ผู้จัดการมรดกก็เพียงไม่มีสิทธิ ที่จะแบ่งมรดกให้กับตนเอง แต่ผู้จัดการมรดกยังมีหน้าที่ ในการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ที่มีสิทธิในการรับมรดก เพราะผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็น ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ผู้ที่ร้องขอให้มีการจัดการมรดกเข้ามาเป็นคดีเท่านั้นที่จะต้องเป็น ทายาทที่มีสิทธิ รับมรดก ดังนั้นผู้จัดการมรดกจึงอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ แล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม แต่งตั้งให้ตามที่ร้องขอเข้ามาหรือไม่ เราจึงสังเกตเห็นว่า บางคดีศาลอาจใช้ดุลพินิจแต่งตั้ง บุคคลภายนอก เป็นผู้จัดการมรดก หรือร่วมกับผู้จัดการมรดกคนอื่น ๆ ก็ได้

ในคดีที่ชายมีเมียหลายคน และมีลูกที่เกิดจากเมียน้อยที่พ่อให้การรับรองไว้ หรือมีลูกที่เกิดจากเมีย ที่จดทะเบียนสมรสซ้อนไว้ และเด็กเหล่านั้นยังเล็กมาก หรือแม่เด็กไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย เด็กจึงอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนแบ่งมรดกของพ่อที่ตายไป ศาลจึงมักแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ร่วมกันหลายคน เช่น เมียน้อยซึ่งไม่มีสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย แต่ลูกของเมียน้อยเมื่อเป็น ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ศาลจึงอาจใช้ดุลพินิจแต่งตั้งให้เมียน้อยเป็นผู้จัดการร่วมกับเมียหลวง ตามที่ลูกเมียน้อยร้องคัดค้านเข้ามาได้ เพื่อจะได้ร่วมกันหรือตรวจสอบซึ่งกันและกัน ในการจัดการมรดกของผู้ตายให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ทายาททุกคนของผู้ตายที่มีสิทธิรับมรดก (ดูคำพิพากษาฎีกา 1490/2537) ขณะนี้หนูควรจะทราบแล้วว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกด้วย เหตุนี้เองจึงมีการพยายามให้หนูเซ็นหนังสือยินยอมให้ผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดก

อย่างไรก็ตาม หนูสามารถที่จะร้องขอหรือคัดค้านให้ศาลแต่งตั้งแม่เป็นผู้จัดการมรดกเข้าไปด้วยได้ ซึ่งอาจทำให้มีอำนาจต่อรองในมรดกของพ่อสูงขึ้น เพราะอาจมีทรัพย์สินอื่นของพ่ออีกหลายชิ้น ที่หนูมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง ดังนั้นหนูอาจจะเจรจาตกลงขอแลกกับบ้านหลังนี้ได้ง่ายขึ้น แทนที่จะรับส่วนแบ่งจากทรัพย์สินอื่นหรือปล่อยให้บ้านหลังนี้แบ่งให้แก่ทายาทอื่น ๆ

การที่หนูมีอายุเพียง 15 ปี อาจจะร้องขอให้พนักงานอัยการร้องแทนที่หนูซึ่งเป็นผู้เยาว์ก็ได้ หรืออาจจะขอความช่วยเหลือจากทนายความ โดยติดต่อไปที่สภาทนายความช่วยเหลือทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สคช. ของสำนักงานอัยการทุกแห่งที่อยู่ในเขตท้องที่

สุกัญญา รัตนนาคินทร์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1