คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คลินิก กฏหมาย จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2541]
law clinic

ทะเบียนสมรส


หนูมีปัญหา คือ แต่งงานมาเกือบ 2 ปีแต่มารู้ตอนหลังว่าสามีเคยจดทะเบียนสมรสกับแฟนเก่ามาก่อน สาเหตุที่เขาเลิกกัน เพราะแฟนหนูทำงานหลายที่ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ก่อนที่เขาจะมาแต่งกับหนู แฟนหนูเคยขอหย่า แต่ผู้หญิงเรียกเงินถึง 6 หลัก แฟนหนูไม่มีให้ เพราะฐานะทางบ้านจน หนูแต่งกับเขา เพราะเขามีความรับผิดชอบดี เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ แต่เขาทำงานมาก ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว

1. ถ้าหนูให้แฟนฟ้องหย่า แต่เขาเรียกเงิน หนูกับแฟนจะทำอย่าง ไร
2. หนูจะสามารถหาทนายที่ไหนดำเนินการได้ จะเสียค่าใช้จ่าย เท่าไหร่
3. ช่วงนี้ถ้าทรัพย์สินเป็นชื่อของแฟนหนู จะถือว่าเป็นสินสมรส ของเขาทั้งสองหรือไม่เพราะเขาเลิกกันมาได้ 2 ปี กว่าแล้ว

น้องน้อย

สามี ภริยาจดทะเบียนสมรสด้วยกัน หากต้องการหย่าจากกัน ถ้าทั้งคู่ตกลงยินยอมจะหย่ากันโดยสมัครใจ สามีภริยาคู่นั้นก็สามารถจูงมือกันไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอได้เลย โดยไม่ต้องมีเหตุผลใด ๆ เพราะถือว่าการสมรสเป็นสัญญาทางแพ่ง เมื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายประสงค์จะเลิกสัญญาก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะกระทำได้

แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งต้องการหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่า หรือต้องการหย่าเช่นกัน แต่ยังตกลง เรื่องลูก หรือทรัพย์สินกันไม่ได้ จึงไม่หย่าให้ตามอีกฝ่ายต้องการ ฝ่ายที่ต้องการหย่า จำเป็นต้องนำคดีมาสู่ศาล คือให้ศาลพิพากษาให้สามีภริยาให้หย่าขาดจากกัน

ดังนั้นในการฟ้องคดีคู่สมรส จะต้องอาศัยเหตุฟ้องหย่าเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือหลายสาเหตุตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะอาศัยเหตุอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มาเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ แม้สามีภริยาคู่นั้นอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตลอดมาเป็นเวลาเกินหนึ่งปี โดยภริยาไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกับสามีอีกต่อไป และการไม่ให้หย่าขาดจากกัน ย่อมไม่เกิดผลดีแก่ฝ่ายใดเลยก็ตาม แต่ถ้ากรณีระหว่างสามีหรือภริยาที่มาฟ้องหย่านั้น หากยังไม่มีเหตุตามกฎหมาย เพียงพอที่จะขอหย่าขาดได้ ศาลก็อาจจะพิพากษาไม่ให้มีการหย่ากัน ตามความประสงค์ของผู้ฟ้องหย่ามาก็ได้

การที่แฟนของน้องกับภริยาเก่าได้จดทะเบียนสมรสด้วยกัน แม้จะเลิกมาได้ 2 ปีกว่าแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าแฟนและภริยาเก่าก็ยังคงเป็นคู่สามีภริยากันตามกฎหมาย จนถึงปัจจุบันนี้ ข้อเท็จจริงที่น้องเล่ามาก็ยังไม่ปรากฎชัดว่าภริยาเก่า มีเหตุบกพร่องอะไรบ้าง ที่แฟนน้องจะฟ้องหย่าได้ แม้เหตุฟ้องหย่าจะมีหลายเหตุ (ซึ่งหากน้องติดตามคลินิกกฎหมายมานานย่อมจะทราบดีว่ามีเหตุอะไรบ้าง) แต่หลักง่าย ๆ คือฝ่ายที่จะฟ้องหย่าได้ ควรจะเป็นผู้ที่เป็นฝ่ายถูกต้องมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายผิด อันเป็นเหตุให้ฝ่ายที่ถูกต้อง ยกเป็นเหตุมาฟ้องหย่าได้

การที่แฟนน้องมาแต่งงานกับน้อง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าพิธีจะจัดกันในลักษณะอย่างไร แม้จะจดหรือไม่จดทะเบียนสมรส กับน้องก็ตาม แต่การที่มีการแต่งงานกันตามประเพณีเ เท่ากับว่าเป็นการที่สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่น (คือตัวน้อง) ฉันภริยาแล้ว ภริยาเก่าย่อมเป็นฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าสามี ไม่ใช่สามีมีสิทธิฟ้องหย่าภริยา

แม้ภริยาเก่าจะบกพร่องในหน้าที่ภริยา ที่ทำให้สามีไม่พึงพอใจที่จะอยู่กินกัน แต่เมื่อสามีเป็นผ่ายผิดเสียเอง ที่มาแต่งงานกับหญิงคนใหม่ในขณะที่ยังเป็นคู่สมรสกับภริยาเก่า สามีจึงต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ หากจะเป็นผู้ฟ้องหย่าเอง โดยหยิบยกเหตุหย่าอื่น ๆ มาเป็นเหตุฟ้องหย่า เช่น จะฟ้องหย่าอ้างเหตุว่า ภริยาจงใจละทิ้งสามีเกิน 1 ปี

หากภริยาเก่าโต้แย้งว่า ตนถูกทอดทิ้งเสียมากกว่า ก็ดูจะมีเหตุผลน้ำหนักรองรับฝ่ายภริยาเก่ามากกว่า เพราะสามีได้หนีแต่งงานอยู่กินกับน้อง หรืออ้างเหตุหย่าแยกกันอยู่ โดยรอให้ภริยาเก่ากับสามีแยกกันอยู่ครบ 3 ปี เพื่อสามีจะมีเหตุนำมาฟ้องคดีหย่า ก็ต้องเป็นเรื่องของการสมัครใจแยกกันอยู่ด้วย หากภริยาเก่าโต้แย้งว่า การที่แยกกันอยู่ไม่ใช่เรื่องสมัครใจ การที่แฟนของน้องมีงานหลายที่ และน้องเองก็ยอมรับว่าแฟนไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว แฟนน้องก็อาจประพฤติกับภริยาเก่าของเขาเช่นเดียวกับน้องคือ ไม่ค่อยมีเวลาให้ แต่เขาเลิกกันจริงหรือไม่ล่ะ?

ที่ว่าภริยาเก่าเรียกเงินเพื่อฟ้องหย่าถึงหกหลัก พี่ว่าเป็นเพียงข้ออ้างมากกว่า สำหรับสามีนั้นถ้าต้องการจะหย่าจริง ๆ เขามีวิธีบีบ กลาย ๆ ให้ภริยายอมจำนนหย่าให้ได้ โดยเฉพาะถ้าเขามีภริยาใหม่ ผู้ชายส่วนใหญ่จะละอาย ที่จะจากภริยาเก่าไป โดยไม่ให้อะไรกับภริยาเก่าเลย การที่เขาจะได้อิสระกลับคืนมา เขาย่อมให้ความเป็นธรรมกับภริยาเก่า ที่ไม่ต้องให้เธอจากไป อย่างไม่ลำบาก เรื่องของเรื่องคือ ในส่วนลึก ๆ สามีและภริยาเก่า ยังไม่ต้องการที่จะหย่าจากกันมากกว่า คนเราถ้าไม่ต้องการกันจริง ๆ เรื่องเงินเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เอาก็ได้

1. อย่างไรก็ตามหากแฟนน้องฟ้องหย่าภริยาเก่า โดยอ้างเหตุ หย่าตามกฎหมายได้ก็ตาม แม้เขาจะไม่มีลูกด้วยกัน ถ้าสามีมีเหตุจะฟ้องหย่าได้และศาลพิพากษาให้หย่า ภริยาเก่ามีสิทธิ์จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามี ซึ่งถ้าหย่ากันไปแล้ว เขาจะเรียกว่า "ค่าเลี้ยงชีพ" คือ ในคดีหย่า ถ้าเหตุฟ้องหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ ระหว่างสมรส ซึ่งจำนวนค่าเลี้ยงชีพ ศาลจะพิจารณาจากความสามารถของผู้ให้ และฐานะของผู้รับ

ถ้าทั้งสองฝ่ายมีทรัพย์สินหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว อาจต้องมีการแบ่งเงินทอง ทรัพย์สินกันในฐานะสินสมรสอีก แม้สามีจะไม่พูดเรื่องทรัพย์สินมาในคดีฟ้องหย่าภริยา แต่ภริยาที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยอาจฟ้องแย้ง ขอให้แบ่งสินสมรสเข้ามา ในคดีฟ้องหย่าได้

2. ทนายความทุกคนสามารถจะว่าความ ในคดีหย่าได้ เว้นเสีย แต่ทนายความบางคนอาจจะไม่ชอบทำคดีหย่า ส่วนค่าใช้จ่ายคงไม่อาจประมาณได้ เพราะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคดี ซึ่งทนายความแต่ละคนจะมีมาตรฐาน ในการเรียกค่าวิชาชีพไม่เหมือนกัน สำหรับคดีนี้หากมีการฟ้องหย่า โดยสามีเป็นผู้ฟ้อง แต่ค่อนข้างจะยาก เพราะการที่จะพิสูจน์เอาผิดจากภริยาเก่า ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำคดีมาฟ้องหย่าภริยาเก่าได้ ดีไม่ดี สามีและตัวน้องเองอาจถูกภริยาเก่าฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนทั้งจากสามี และตัวน้องในฐานะที่เป็นหญิงอื่น มาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของเธอ ในทำนองชู้สาวได้

3. แน่นอนตราบใดที่สามียังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับภริยาเก่า ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากสมรสกับภริยาเก่า แม้จะเป็นชื่อสามีแต่ยังเป็นสินสมรสของสามีและภริยาเก่า ซึ่งถ้าต่อมาการสมรสระหว่างสามีและภริยาเก่าต้องสิ้นสุดลง ทรัพย์สินเหล่านี้ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภริยาเก่าคนละครึ่ง (ยกเว้น ทรัพย์สินที่สามีได้มาโดยรับมรดก)

สุกัญญา รัตนนาคินทร์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1