สินสมรส
ดิฉันจับได้ว่า สามีมีเมียน้อย ซึ่งเป็นเพื่อนของดิฉันเอง ดิฉันจึงขอหย่ากับสามี ครั้งแรกสามีไม่ยอมไปหย่า อ้างเรื่องลูกและทรัพย์สินว่ายังตกลงกันไม่ได้ ถ้าดิฉันอยากให้เขาหย่าให้ ดิฉันจะต้องรับเลี้ยงลูกเอง และไม่ติดใจเรื่องทรัพย์สินใด ๆ ดิฉันจึงตกลงตามที่สามีต้องการ โดยในวันจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ ดิฉันได้ทำบันทึกข้อความหย่าไว้ว่า "เรื่องทรัพย์สินไม่มี" หลังจากที่ดิฉันหย่ากับสามีไปแล้ว ดิฉันจึงได้รู้ว่า ดิฉันโดนสามีและเพื่อนร่วมกันหลอกเรื่องทรัพย์สิน เพราะขณะนี้สามีได้จดทะเบียนสมรสกับเมียใหม่แล้ว ดิฉันเพิ่งมาทราบอีกว่า สามีได้ยกบ้านและที่ดิน ให้เมียใหม่ ซึ่งสามีได้ซื้อมาหลังจากจดทะเบียนสมรสกับดิฉัน และเป็นเงินที่ดิฉันค้าขายให้สามี เป็นคนเก็บ ดิฉันเจ็บปวดที่สุด เมื่อสามีได้ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นชื่อของเมียใหม่ ตั้งแต่เรายังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน และเมียใหม่ยังเยาะเย้ยดิฉันผ่านผู้อื่นว่า "ช่วยไม่ได้อยากโง่เอง" ถ้าดิฉันจะฟ้องแบ่งครึ่งบ้าน และที่ดินดังกล่าว เพราะดิฉันไม่ทราบว่ามีบ้านและที่ดินหลังนี้อยู่ ในขณะจดทะเบียนหย่า ดิฉันจะพอมีทางฟ้องได้บ้างหรือไม่ ? สุรีย์พร ภูเก็ต |
เรื่องนี้เป็นปัญหาของเรื่องสินสมรส สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรส เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้มาโดยการให้ หรือโดยพินัยกรรม จึงจะเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินที่มีทะเบียน เช่น บ้านหรือที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินแสดงกรรมสิทธิ์ แม้ชื่อโฉนดที่ดินจะมีชื่อของคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว ก็ตาม หากได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วก็ถือว่า เป็นสินสมรสของคู่สมรสที่ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินนั้นด้วย และเมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า สินสมรสก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง
ปัญหาของคุณก็คือ การที่คุณได้ทำบันทึกในข้อตกลงการหย่าว่า "เรื่องทรัพย์สินไม่มี" จะผูกมัดคุณ ไม่ให้ฟ้องแบ่งบ้าน และที่ดินสินสมรสนี้ด้วยหรือไม่ ? ในแนวทางการตีความของศาลแล้วถือว่า ในการตกลงหย่ากันนั้น หากคู่สมรสไม่ประสงค์จะแบ่งสินสมรส ในข้อตกลงหย่าแล้ว คู่สมรสทั้งสองฝ่ายควรที่จะทำบันทึกข้อตกลงหย่าว่า "โจทก์ไม่ประสงค์จะแบ่งสินสมรส" ไม่ใช่ทำบันทึกว่า "เรื่องทรัพย์ไม่มี"
แม้คุณจะได้ลงมือชื่อรับทราบข้อตกลงหย่าว่า "เรื่องทรัพย์สินไม่มี" แต่ต่อมาภายหลัง มีการจดทะเบียนหย่าแล้ว คุณจึงได้ทราบว่ายังมีสินสมรสที่คุณมีสิทธิที่จะแบ่งได้ตามกฎหมาย คุณก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอแบ่งได้ เพราะเรื่องการแบ่งสินสมรสยังไม่มีข้อตกลงใด ๆ ระหว่างคุณและสามี ถือไม่ได้ว่าคุณได้เจตนาสละสิทธิ ในสินสมรสแล้ว และการที่สามีของคุณได้ยกบ้าน และที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้ผู้อื่น ถือว่า เป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอม จากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ไม่ทราบหรือไม่ยินยอม ถ้ายังไม่หย่าคุณก็มีสิทธิที่จะ เพิกถอนนิติกรรมการโอนให้โดยเสน่หา ซึ่งบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ได้
แต่การที่คุณได้จดทะเบียนหย่ากับสามี และสามีของคุณได้ยกบ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้ผู้อื่นถือว่า เป็นการทำให้สินสมรสขาดหายไปมีเจตนาทำให้คุณในฐานะเจ้าของครึ่งหนึ่ง( เมื่อมีการหย่า ) ได้รับความเสียหาย กฎหมายจึงให้ถือเสมือนหนึ่งว่าสินสมรสนั้น ยังคงมีอยู่เพื่อการแบ่ง เพราะสามีจะให้เมียใหม่ได้เฉพาะส่วนของสามี คือเพียงครึ่งเดียว วิธีการคุณก็คงจะฟ้องสามี และเมียใหม่เป็นจำเลย ซึ่งถ้าหากตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นเจ้าของและที่ดินส่วนครึ่งหนึ่งตรงไหน ก็คงต้องใช้วิธีการขายทอดตลาดบ้านและที่ดินดังกล่าว โดยนำเงินที่ได้จากการขายมาแบ่งส่วน ให้คุณครึ่งหนึ่ง และคุณจะต้องฟ้องขอแบ่งส่วนของคุณภายในอายุความ 10 ปี
สุกัญญา รัตนนาคินทร์
main |