คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คอลัมน์ข้างศาล หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2542 ]
ผู้เสียหาย

ใครก็ตามที่ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย สิทธิ เสรีภาพ และทรัพย์สิน จากการกระทำของผู้อื่น หรือจากอุบัติเหตุ บุคคลเหล่านั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายที่ตั้งใจจะเขียนวันนี้ หมายถึงเฉพาะ ผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น ซึ่งหมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทน บุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวด้วย (ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4), 4, 5 และ 6)

ผู้เสียหายมีอำนาจดำเนินคดีอาญา แก่บุคคลที่กระทำความผิดอาญาต่อผู้เสียหาย โดยจะฟ้องคดีนั้นเอง หรือร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ตำรวจดำเนินคดีให้ก็ได้

นายเอกฉ้อโกงเงินของนายโทไป 50,000 บาท นายโท ย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องนายเอก ให้ศาลลงโทษฐานฉ้อโกงได้ หรือจะร้องทุกข์ต่อตำรวจให้ดำเนินคดีนายเอกฐานฉ้อโกงให้ก็ได้

ถ้านายโทยังเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาลของนายโท มีอำนาจฟ้อง หรือร้องทุกข์แทนนายโทได้ ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายให้ถือว่า ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาลของนายโท ที่ฟ้องหรือร้องทุกข์แทนนายโท เป็นผู้เสียหายด้วย

ถ้านายโทนำเงิน 50,000 บาท ไปฝากที่ธนาคาร แล้วนายเอกไปหลอกลวงธนาคาร โดยแสดงตนเป็นนายโท ปลอมลายมือชื่อนายโทในใบถอนเงิน ขอถอนเงินฝาก 50,000 บาท พร้อมกับยื่นสมุดคู่ฝากเงินของนายโท ซึ่งนายเอกขโมยมาจากนายโท ต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อว่า นายโทมาขอถอนเงิน ได้จ่ายเงิน 50,000 บาท ให้แก่นายเอกไป มีปัญหาว่า ระหว่างนายโทกับธนาคารผู้รับฝากเงินใครเป็นผู้เสียหาย

ปัญหานี้ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วหลายเรื่องว่า เมื่อธนาคารรับฝากเงิน เงินนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของธนาคาร ทันทีที่รับฝาก ธนาคารจึงมีสิทธินำเงินฝากนั้นไปทำประโยชน์ในกิจการของธนาคารได้ เช่น นำไปให้ลูกค้ากู้ยืม ส่วนผู้ฝากเงินไม่มีกรรมสิทธิ์ในเงินนั้นอีก คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ธนาคารคืนเงิน ตามกำหนดเวลาในสัญญาฝากเงิน หากมีคนมาลัก ยักยอก หรือฉ้อโกงเงินฝากนั้นไป ธนาคารย่อมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องร้อง หรือแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีอาญาแก่คนทำความผิดได้ ดังตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 613/2540 โจทก์ร่วม (ธนาคาร) เป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพ โดยหวังผลในบำเหน็จค่าฝาก หรือจากการเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝาก ไม่พึงต้องส่งเงินคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝาก แต่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวน ดังนั้น เงินที่ฝากไว้กับโจทก์ร่วม ย่อมเป็นเงินของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องในการผิดเกี่ยวกับเงินนั้น

มีปัญหาต่อไปว่า ถ้าผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดอาญา แต่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ ตำรวจจะมีความผิดหรือไม่

ปัญหานี้ผมมีความเห็นว่า เมื่อผู้เสียหายมีสิทธิตามกฎหมายที่จะร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา ตำรวจก็ย่อมจะมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรับแจ้งความร้องทุกข์ และดำเนินคดีอาญาให้แก่ผู้เสียหาย ถ้าตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคดีอาญาที่ผู้เสียหายไปแจ้งความนั้น เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ หรือถ้าจะฟ้องคดีเอง โดยไม่ร้องทุกข์ก็จะ ต้องฟ้องเสียภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96) มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ ทำให้ผู้เสียหายไม่อาจดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดอาญาได้ การที่ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความร้องทุกข์ จึงเป็นความผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 4436/2531 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตำรวจได้รับแจ้งความว่า มีการลักทรัพย์แต่ไม่ยอมรับแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เมื่อมีการจับตัวคนร้ายมาได้ ก็กลับปล่อยตัวไปเสีย ตำรวจย่อมมีความผิดทั้งมาตรา 157 และมาตรา 200 ประมวลกฎหมายอาญา

เกี่ยวกับเรื่องเงินที่ธนาคารรับฝากนั้น รู้สึกว่าตำรวจบางท่านยังเข้าใจว่าเงินฝากยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฝาก หากมีคนลัก ยักยอก หรือฉ้อโกงเงินฝากนั้นไป ธนาคารไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ตำรวจดังกล่าว ก็จะไม่ยอมรับแจ้งความโดยอ้างเหตุผลว่า ธนาคารไม่ใช่ผู้เสียหาย

ด้วยความเคารพในความเห็นของตำรวจดังกล่าว ผมเห็นว่า ความเข้าใจเช่นนั้น น่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากการลัก ยักยอก หรือฉ้อโกงเงินที่ธนาคารรับฝากไว้จากลูกค้า ลูกค้าที่ฝากเงินไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะเมื่อสัญญาฝากเงินครบกำหนด ผู้ฝากย่อมมีสิทธิถอนเงินจากธนาคารผู้รับฝากได้เสมอ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาจริง ๆ คือ ธนาคารผู้รับฝากเงิน

เท่าที่ผมทราบ มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเงินฝากกันมาก นอกจากมีคนไปแสดงตัวเป็นผู้ฝาก ปลอมลายมือชื่อขอถอนเงินไปจากธนาคาร อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นแล้ว ยังมีการกระทำความผิดอาญาในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย กรณีอย่างนี้หากตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความจากธนาคาร ผู้รับฝากเงิน ก็เท่ากับตำรวจยอมให้คนร้ายกระทำความผิดโดยไม่ต้องรับโทษ

ครับ แล้วความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

คนข้างศาล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1