คนไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรู้กฏหมายไทย
หมวดนี้ จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับ กฏกหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ที่คุณต้องรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
[ hey.to/yimyam ]

[ คัดลอกจาก คอลัมน์ข้างศาล จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 ]
หมิ่นประมาท

การทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กฎหมายถือว่า เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่ง ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด และถ้าหากการทำละเมิดนั้น เข้าองค์ประกอบของความผิดทางอาญาด้วย นอกจากผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งแล้ว ยังจะต้องรับผิดและรับโทษในทางอาญา จากการกระทำอันเดียวกันนั้นด้วย เช่น ทำให้ผู้อื่นตายโดยเจตนา เป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่ง ฐานทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมีความผิดทางอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 คดีแพ่งในลักษณะเช่นนี้กฎหมายเรียกว่า คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรือภาษาทางกฎหมายโบราณเรียกว่า อาญาสินไหม

อย่างไรก็ดี การกระทำโดยละเมิด ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความผิดทางอาญาเสมอไป เช่น การกระทำให้ผู้อื่น ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งแต่เพียงอย่างเดียว ผู้กระทำไม่มีความผิดในทางอาญา เพราะไม่มีความผิดทางอาญาฐานทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายโดยประมาท การกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งกรณีเช่นนี้จึงไม่อาจเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้เลย เช่น ทำปืนลั่นโดยประมาทเลินเล่อกระสุนปืนไปโดนรถยนต์ผู้อื่นเสียหาย ผู้ที่ทำปืนลั่นโดยประมาท คงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์ ฐานที่ทำละเมิดในทางแพ่งเท่านั้น

แต่ถ้าทำปืนลั่นโดยประมาทถูกผู้อื่นบาดเจ็บ ผู้ที่ทำปืนลั่นโดยประมาทจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ทั้งฐานละเมิดในทางแพ่ง และฐานทำโดยประมาทให้ผู้อื่นบาดเจ็บ หรือตายในทางอาญา การกระทำโดยละเมิดทางแพ่งกรณีเช่นนี้ เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

มีการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งอยู่อย่างหนึ่ง ที่บางกรณีเป็นความผิดอาญา บางกรณีไม่เป็นความผิดทางอาญา คือ การกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง หรือที่เรียกว่า หมิ่นประมาท

การหมิ่นประมาทผู้อื่นย่อมทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จึงเป็นการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งเสมอ ไม่ว่าผู้หมิ่นประมาทจะกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม

การหมิ่นประมาทผู้อื่น ที่จะเป็นทั้งการกระทำโดยละเมิดในทางแพ่งและความผิดในทางอาญา ก็เฉพาะแต่ การหมิ่นประมาทที่ผู้กระทำกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เพราะการทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงโดยไม่เจตนา ไม่เป็นความผิดในทางอาญา

จำเลยได้รับคำบอกกล่าวจากญาติของโจทก์ว่า โจทก์รักใคร่กับชายทางชู้สาว นอนกอดจูบและได้เสียกัน ต่อมามีผู้ถามจำเลยถึงเรื่องนี้ จำเลยก็เล่าข้อความตามที่ได้รับคำบอกเล่ามาให้ผู้นั้นฟังเช่นนี้ ถือว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 380/2503)

จำเลยถามนายประกอบว่า "พี่กอบ ได้ข่าวว่ามีอะไรกับติ๋มหรือเปล่า ถ้ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาว ก็ขอให้เลิกเสีย มันไม่ดี เพราะติ๋มก็มีผัวอยู่แล้ว" คำถามดังกล่าว เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลย มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์ (ติ๋ม) เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ประการใด จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวดังกล่าวต่อหน้าโจทก์ ย่อมไม่เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า (คำพิพากษาฎีกาที่ 2180/2531)

การทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงที่เป็นละเมิดในทางแพ่งโดยผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนานั้น ได้แก่ การกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขา เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่า ข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้"

เมื่อการกระทำละเมิด ตามมาตรา 423 นี้ ผู้กระทำไม่จำต้องกระทำโดยเจตนา การกระทำละเมิดชนิดนี้ จึงเป็นการละเมิดที่อาจจะเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำทำละเมิดตามมาตรา 423 โดยเจตนา การกระทำนั้นย่อมเป็นความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท

กรณีที่เป็นการกระทำละเมิดโดยไม่มีเจตนาใส่ความผู้อื่นเช่นนี้ การกระทำที่เป็นการละเมิดในทางแพ่ง ย่อมไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ฉะนั้นถ้าหากโจทก์ได้นำคดีที่จำเลยทำละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของโจทก์ไปฟ้องจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา แล้วศาลในคดีส่วนอาญาพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น จำเลยไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ ศาลในคดีส่วนแพ่งก็น่าจะนำ หลักในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา มาใช้ไม่ได้

มีคนไปบอกหนังสือพิมพ์ว่าถูกธนาคารโกงเงินที่ฝากไว้กับธนาคาร เพราะธนาคารไม่ยอมให้ถอนเงินที่ฝากไว้ หนังสือพิมพ์เชื่อได้ลงข่าวแพร่หลายไปตามที่ได้รับคำบอกเล่านั้น ธนาคารย่อมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้และทางเจริญของธนาคาร เพราะคงไม่มีลูกค้าคนใดติดต่อธุรกิจกับธนาคารที่ขี้โกงอีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่ความจริงธนาคารไม่ยอมให้ลูกค้าถอนเงินจริง แต่ธนาคารอาจไม่ได้โกงลูกค้า เป็นเพราะลูกค้าเป็นหนี้ธนาคารอยู่ ธนาคารได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 เมื่อนำเงินฝาก ไปหักกลบลบหนี้ที่ลูกค้าเป็นหนี้ธนาคารอยู่ จนหนี้ของลูกค้าระงับไปแล้ว จึงไม่มีเงินฝากที่จะคืนให้ลูกค้าได้อีก

กรณีอย่างนี้คนที่บอกให้หนังสือพิมพ์ลงข่าว และหนังสือพิมพ์อาจไม่มีความผิดในทางอาญาฐานหมิ่นประมาท เพราะไม่มีเจตนาใส่ความธนาคาร แต่อาจจะต้องรับผิดในทางแพ่งฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423

ครับ ได้ข่าวอะไรมา ตรวจสอบเสียหน่อยก่อนจะเผยแพร่ข่าว ต่อ ๆ ไปก็น่าจะดี ชื่อเสียงของใครใครก็รักก็หวงแหน ไม่อยากให้ใครมาทำลายด้วยกันทั้งนั้น

คนข้างศาล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด
ห้องสมุด E-LIB[ hey.to/yimyam ][ pantip.com/ELIB ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]
1