ถาม |
เจ้าของปัญหาวันนี้ใช้ชื่อว่า คนอยากทราบ ได้ตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์ส่งมาพร้อมกับคำถาม โดยเนื้อข่าวมีว่า คนร้ายได้ว่าจ้างรถจักรยานยนต์จากหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ให้ไปส่งที่โรงพยาบาลธัญญรักษ์ เมื่อรถจักรยานยนต์แล่นไปถึงทางเข้าโรงเรียนธัญบุรี ริมถนนวิภาวดีรังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี พวกคนร้ายคนหนึ่งอายุไล่เลี่ยกับคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้เดินเข้าไปที่รถจักรยานยนต์ คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จึงแสดงตัวเป็นคนร้ายโดยชักปืน .38 ออกมาจี้บังคับให้คนขี่ จักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าวลงจากรถ คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างไม่ยอมลงคนร้ายอีกคนหนึ่งเข้าไปช่วย เกิดชุลมุนต่อสู้กัน ในที่สุดคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างแย่งปืนจากคนร้ายได้แล้วใช้ปืนดังกล่าวยิงคนร้าย
ที่ใช้ปืนจี้ 1 นัด ถึงแก่ความตาย คนร้ายอีกคนหนึ่งตกใจวิ่งหนีไป คนอยากทราบถามว่า คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างจะมีความผิดและต้องรับโทษอย่างใดบ้างหรือไม่ จะมีทางใดที่จะป้องกันตัว และทรัพย์สินได้ดีกว่านี้
ตอบ |
การใช้อาวุธปืนยิงคนจนถึงแก่ความตายนั้น ตามปกติคนยิงจะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา มีโทษ 3 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
แต่คนทุกคนมีสิทธิป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุเท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำ ที่เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันไม่เป็นการกระทำที่ ชอบด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะลงโทษผู้กระทำน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69
การกระทำของคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ ส่วนข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ที่คนอยากทราบตัดส่งมานั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จาก คำบอกเล่าของคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นความจริงทั้งหมด หรือเป็นความจริง เพียงบางส่วนก็ได้
สมมุติว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ เป็นไปตามข่าวในหนังสือพิมพ์ การกระทำของคนขี่กรยานยนต์ รับจ้าง ย่อมเป็นการป้องกัน เพราะการที่คนร้ายใช้ปืนจี้บังคับให้คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างลงจากรถ และคนร้าย อีกคนหนึ่งเข้ามาช่วยนั้น ถือว่ามีภยันตรายที่เกิดจากประทุษร้ายตามกฎหมายและเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องดูตอนที่คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างแย่งปืน มาจากคนร้าย แล้วใช้ปืนนั้นยิงคนร้ายไป 1 นัด ว่าเป็นการกระทำที่พอแกเหตุหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าคนขี่จักรยานยนต์รับจ้าง แย่งปืนมาได้ แล้วไม่ยิงคนร้ายในทันทีทันใดนั้น คนร้ายซึ่งมีอยู่ถึง 2 คน อาจแย่งปืนกลับคืนไปได้แล้วใช้ปืน ยิงคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างถึงแก่ความตายก็เป็นไปได้ กรณีอย่างนี้ถือว่าคนขี่จักรยานยนต์รับจ้างกระทำไป พอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คนขี่จักรยานยนต์รับจ้างไม่มีความผิด
ดังตัวอย่างในคำพิพากษาฎีกาที่ 808/2540 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ผู้ตายเคยกอดปล้ำข่มขืน กระทำชำเรา ภริยาจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยก็ไม่เอาเรื่อง ครั้นถูกจำเลยต่อว่า ผู้ตายยังพูดสบประมาทจำเลยกับภริยาอีก วันเกิดเหตุผู้ตายพูดขอภริยาจำเลยไปเป็นภริยาตนโดยพูดขอจากพ่อตาแม่ยายของจำเลย และผู้ตายได้จับแขน ภริยาจำเลยดึงเข้าหาตัวผู้ตาย แล้วมิได้มีเจตนาทำร้าย แต่ถือว่าผู้ตายมีเจตนา กระทำอนาจารภริยาจำเลย เมื่อผู้ตายกระทำละเมิดต่อกฎหมายและศีลธรรมอย่างร้ายแรง จำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำการป้องกัน เกียรติยศชื่อเสียงและเสรีภาพของภริยาตนได้โดยชอบ ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีอาวุธ หากจำเลยจะเข้าช่วยเหลือ ภริยาของตนด้วยมือเปล่าก็อาจถูกผู้ตาย ชักอาวุธปืนมายิงได้ ในภาวะเช่นนั้นจำเลยไม่มีทางเลือก นอกจาก จะแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วยิงผู้ตาย ถ้าเพียงแต่ใช้อาวุธปืนตีผู้ตายปืนอาจลั่นไปถูกคนอื่น หรือผู้ตายอาจแย่งคืนมายิงเอาได้ จำเลยแย่งอาวุธปืนได้ก็ยิงทันทีโดยไม่เลือกว่าถูกตรงไหน แล้วทิ้งอาวุธปืน วิ่งหนี การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยไม่มีความผิด"
ครับ ในเหตุการณ์ที่ฉุกละหุกอย่างนั้น คนขี่จักรยายนต์รับจ้างคงจะหาวิธีป้องกันที่ดีกว่านี้ค่อนข้างลำบาก
คนข้างศาล
main |