"น้องชายของดิฉันได้ออกรถยนต์คันหนึ่งราคา 659,000 บาท ดาวน์ 150,000 บาท ที่เหลือผ่อนกับไฟแนนซ์ 48 งวด งวดละ 14,425 บาท โดยดิฉันเป็นผู้ค้ำประกัน น้องชายผ่อนไปได้ 17 งวด แล้วได้ขายต่อให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่ง โดยทำบันทึกส่งสอบรถยนต์และรับเงินมา 40,000 บาท โดยให้ผู้หญิงคนนั้นส่งไฟแนนซ์ต่อไปอีก 31 งวด และนัดโอนเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกันที่ไฟแนนซ์ แต่ยังไม่ทันได้เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อ น้องชายดิฉันได้หายสาบสูญไปเสียก่อน ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นได้ใช้รถยนต์ต่อมา โดยไม่ยอมส่งค่างวด จนถูกทางไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายจากดิฉัน ดิฉันได้ติดต่อทางโทรศัพท์ให้ผู้หญิงคนนั้นคืนรถ แต่ไม่ได้ผล ได้หอบหลักฐานขอพึ่งตำรวจ ตำรวจบอกว่าเป็นเรื่องทางแพ่งจัดการให้ไม่ได้ ต่อมามีหมายศาลให้ดิฉันไปขึ้นศาล โดยไฟแนนซ์ฟ้องดิฉันในฐานะผู้ค้ำประกันให้คืนรถยนต์ ถ้าไม่คืนต้องชดใช้ราคา 417,500 บาท และเรียกค่าเสียหายวันละ 200 บาท เป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เป็นเงินประมาณล้านบาท เงินที่ส่งไปแล้ว 17 งวด ถูกริบทั้งหมด ดิฉันไปปรึกษาอัยการ ได้รับคำแนะนำให้ตั้งทนายความสู้คดี ดิฉันก็เชื่อตั้งทนาย ดิฉันต้องจ่ายเงินให้ทนายร้อยละ 2.5 ของราคาทุนทรัพย์ไฟแนนซ์ฟ้องเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท โดยทนายความบอกว่า จะต้องเอาไปให้ศาลเป็นค่าสู้ความ แต่ยังไม่ทันถึงวันที่ศาลนัด ดิฉันติดตามรถยนต์คืนมาได้ และได้นำไปคืนให้แก่ไฟแนนซ์รับรถยนต์ แล้วบอกดิฉันว่าดิฉันไม่ต้องไปขึ้นศาลไปอีก เพราะได้รถยนต์คืนแล้ว จากการพูดคุยกับทางไฟแนนซ์ ทำให้ดิฉันได้รู้ว่า ค่าที่ต้องเสียให้ศาลร้อยละ 2.5 นั้น ไฟแนนซ์ได้จ่ายไปก่อนแล้ว จะมาเรียกเก็บจากดิฉันในภายหลังดิฉันจึงขอเงินคืนจากทนาย ได้คืนมา 10,000 บาท ที่เหลือ 5,000 บาท ทนายบอกว่าเป็นค่าเขียนสำนวน ต่อมาไฟแนนซ์ติดต่อมาว่าอีกประมาณ 6 เดือน จะมีหมายศาลมาอีก ให้ดิฉันอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องขึ้นศาล แล้วทางไฟแนนซ์ จะมีหนังสือแจ้งค่าเสียหายมาเอง ดิฉันรับราชการมีเงินเดือนไม่กี่พันบาท หมดเงินในการตามหาน้องชายที่หายสาบสูญไป 2 ปีแล้ว และในการติดตามรถยนต์คืนไปไม่น้อย ไหนต้องมาเสียรู้ทนายอีก และยังไม่แน่ใจว่าไฟแนนซ์คิดจะช่วยจริงหรือซ้ำเติมกันแน่ ที่แนะนำไม่ให้ดิฉันไปขึ้นศาล ดิฉันจะไม่ยอมชดใช้เงินให้ไฟแนนซ์อีก และจะฟ้องให้ผู้หญิงที่ซื้อรถยนต์ต่อจากน้องชายได้หรือไม่ การขอให้ศาลสั่งให้น้องชายเป็นคนสาบสูญจะต้องทำอย่างไร" |
เจ้าของจดหมายวันนี้ใช้ชื่อว่า "ดิฉัน" คุณดิฉันถามปัญหาข้อแรกว่า จะไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ไฟแนนซ์ได้หรือไม่
คุณดิฉันเป็นผู้ค้ำประกัน เป็นเรื่องที่คุณดิฉันยอมตนเข้าผูกพันต่อไฟแนนซ์เองว่า ถ้าหากไฟแนนซ์ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อ คุณดิฉันยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นให้แทนผู้เช่าซื้อ ฉะนั้นหากไฟแนนซ์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของผู้เช่าซื้อจริง คุณดิฉันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน แม้การเช่าซื้อรถยนต์รายนี้ผู้เช่าซื้อคือ น้องชายคุณดิฉันจะได้โอนขายให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อคนใหม่ต่อไฟแนนซ์ ทั้งคุณดิฉันก็ยังคงเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ คุณดิฉันในฐานะผู้ค้ำประกันคงจะหลีกเลี่ยงความรับผิดไปไม่พ้น
ความจริงตัวรถยนต์ที่น้องชายคุณดิฉันเช่าซื้อมาจากไฟแนนซ์นั้นน้องชายคุณดิฉันไม่อาจนำไปขายให้ใครได้ เพราะกรรมสิทธิในรถยนต์ดังกล่าวยังเป็นของไฟแนนซ์อยู่ แต่ที่น้องชายคุณดิฉันให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งไปนั้นเป็น การขายสิทธิเช่าซื้อ ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาที่ 4503/2540 ว่า สิทธิการเช่าซื้อ เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้
ถ้าผู้ซื้อซื้อสิทธิการเช่าซื้อแล้วทำไปสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันกับไฟแนนซ์ใหม่ ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเดิมก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเดิม ถ้ายังไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันใหม่ ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาทุกประการ หากผู้ซื้อสิทธิการเช่าซื้อผ่อนส่งค่าเช่าซื้อต่อไปโดยไม่ผิดนัด เท่ากับเป็นการผ่อนส่งค่าเช่าซื้อในนามของผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าผู้ซื้อสิทธิการเช่าซื้อไม่ผ่อนส่งค่าเช่าซื้อ ถือว่าผู้เช่าซื้อสิทธิการเช่าซื้อผิดสัญญาต่อผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน หากผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อไฟแนนซ์ จากการที่ผู้ซื้อสิทธิการเช่าซื้อผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ซื้อได้
คำตอบสำหรับคำถามข้อที่ว่า จะฟ้องร้องผู้หญิงที่ซื้อรถยนต์ต่อจากน้องชายได้หรือไม่ ก็คือ ฟ้องได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น
ส่วนคำถามที่ว่า การขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจะต้องทำอย่างไรนั้น เนื่องจากการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้จะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อน้องชายคุณดิฉันหายสาบสูญไปเพียง 2 ปี เท่านั้น จึงไม่อาจร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญในขณะนี้ได้
ยังมีเรื่องที่ผมอ่านจดหมายฉบับนี้แล้วไม่ค่อยสบายใจอยู่อีก 2 เรื่องคือ เรื่องที่ไฟแนนซ์บอกกับคุณดิฉันว่า ไม่ต้องไปศาลในวันที่ศาลนัดครั้งแรกแล้วบอกมาอีกว่า อีก 6 เดือน ไฟแนนซ์จะแจ้งค่าเสียหายมาให้ทราบ ตอนนี้ให้คุณดิฉันอยู่เฉย ๆ ไปก่อน ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง แสดงว่าคุณดิฉันถูกไฟแนนซ์หลอกไม่ให้ไปศาลในนัดแรก เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีไปโดยจำเลยขาดนัด แล้วให้รอไปให้พ้น 6 เดือน ก็เพื่อให้พ้นเวลาที่จำเลยจะขอพิจารณาคดีใหม่ คุณดิฉันควรไปศาลตามหมายที่มีมาถึงคุณดิฉัน เพื่อสอบถามให้แน่ชัดว่า คดีไฟแนนซ์ฟ้องร้องคุณดิฉันไปถึงไหนแล้ว
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องที่ทนายเรียกเงินร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์ โดยอ้างว่า จะนำไปให้ศาลเป็นค่าสู้ความนั้น ความจริงฝ่ายจำเลยไม่ต้องเสียค่าสู้ความ ฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่ต้องเสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2.5
ครับ ทนายความจะเรียกค่าว่าความจากลูกความอย่างไร ก็ควรบอกลูกความไปตรง ๆ ไม่ควรนำศาลมาอ้างให้ศาลเสียหายกันอย่างนี้
คนข้างศาล
main |