มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



การเลิกจ้างที่เอาเปรียบลูกจ้าง



ผมเข้าทำงานที่บริษัทปูน เป็นผู้จัดการทั่วไป เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2539 เงินเดือน 40,500 บาท ประวัติการทำงานดีมาตลอด แต่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2542 ฝ่ายบุคคลบอกให้ผมเขียนใบลาออก และจะให้เงิน 3 เดือน ถ้าไม่เขียนใบลาออกก็จะเลิกจ้าง ผมอาจจะไม่ได้รับเงินก็ได้ ผมเลยเซ็นลาออก ตอนนี้ผมนั่งทบทวนดูผมเหลือเวลาเพียง 18 วันอายุงานก็ครบ 3 ปีแล้ว ถ้าผมถูกเลิกจ้าง จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ผมถูกหลอกให้เขียนใบลาออก ผมจะฟ้องเรียก 6 เดือนได้ไหม


ในปี 2542 ที่ผ่ามา ดิฉันได้ฟังความทุกข์ของลูกจ้างที่นายจ้างกำลังจะเลิกจ้างด้วยวิธีเดียวกับผู้ถาม เพื่อประหยัดการจ่ายเงินค่าชดเชย ถ้าลูกจ้างคนไหนไม่เชื่อ นายจ้างขู่ว่ามีความผิดฐานขัดคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าลาออก อาจจะได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ บางคนงง ไม่รู้จะทำอย่างไร

เดิมใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 เรื่องการคุ้มครองแรงงาน บัญญัติเรื่องเงินชดเชย ดังนี้
1. ลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่าย 30 วัน
2. ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่าย 90 วัน
3. ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีขึ้นไป ให้จ่าย 180 วัน
ลูกจ้างก่อนกฎหมายใหม่ที่ทำงานมา 10 ปี 20 ปี หรือ 40 ปี ถ้าถูกเลิกจ้างจะได้ค่าชดเชยเพียง 180 วัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานรัฐวิสาหกิจหรือทำงานบริษัทใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะบางที่บริษัทมีเงินสะสม เงินสมทบให้รวมกับเงินชดเชย 180 วัน แต่พวกที่ทำงานบริษัทเล็กๆ ได้ชดเชย 180 วัน ท่านลองคิดดูว่า ลูกจ้างพวกนี้จะอยู่ได้หรือเปล่า

ส่วนกฎหมายแรงงานใหม่เรียกว่า "พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ วันที่ 19 สิงหาคม 2541" บัญญัติเรื่องค่าชดเชยใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกจ้าง ที่ทำงานมานานให้ดีขึ้นตาม

"มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน…ฯ
2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน…ฯ
3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน…ฯ
4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน…ฯ
5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน…ฯ
การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึง กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น…"

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ค่าชดเชยตามกฎหมายใหม่กำหนดช่วงอายุมากขึ้น ทำให้นายจ้างบางแห่งหาวิธี "จ่ายน้อย หาคนใหม่ และจ่ายน้อยกว่า" คือ เลิกจ้างคนเก่า ก่อนครบอายุงาน 3 ปี 6 ปี จากนั้นก็รับลูกจ้างใหม่ ทำหนังสือให้ทดลองงาน ทั้งที่กฎหมายใหม่ไม่มีให้ทดลองงาน แต่จ่ายเงินเดือนตามวุฒิซึ่งน้อยกว่าลูกจ้างประจำ ดิฉันไม่แน่ใจว่าต่อไปสังคมบ้านเราจะเป็นสังคมที่เอาเปรียบกันมากขึ้นหรือเปล่า เพราะพฤติการณ์อย่างนี้ เกิดขึ้นกับที่ทำงานที่มีแต่คนมีการศึกษาสูงทั้งนั้น

การถูกบังคับให้เขียนใบลาออก ตามปัญหานี้ ดิฉันมีความเห็นว่า "เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม" เพราะนายจ้างมีเจตนาที่จะให้ลูกจ้างออกก่อนครบอายุงานที่จะต้องจ่ายค่าชดเชย ผลต่างระหว่างเงินชดเชย 90 วัน กับ 180 วัน คือนายจ้างจ่ายน้อยลงอีก 90 วัน หรือค่าชดเชย 180 วัน กับ 240 วัน คือนายจ้างจ่ายน้อยลงอีก 60 วัน ปัจจุบันจึงใช้วิธีนี้บังคับให้ลูกจ้างออกก่อนกำหนดครบอายุงาน ลูกจ้างบางรายถูกหลอกให้ "เขียนใบลาออก" หลังจากเขียนใบลาออกเสร็จ นายจ้างไม่ให้อะไรเลย อ้างว่าลาออกไม่ต้องจ่ายอะไร เพราะถือว่าสมัครใจลาออก ระวังนะคะ "อย่าเขียนใบลาออกเป็นอันขาด" ขอให้ท่านมีคำสั่งเลิกจ้าง เมื่อมีคำสั่งแล้ว ก็ถามว่าเลิกจ้างมีความผิดอะไร ถ้าไม่มีความผิด ก็เป็นเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเหมือนกัน

ถ้านายจ้างอ้างว่า ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ให้ลูกจ้างไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการ คุ้มครองแรงงานของเขตที่ทำงานของท่าน (ถ้าเจ้าหน้าที่คนใดไม่รับร้องเรียนให้ไปที่กระทรวงแรงงานฯ ถนนดินแดง เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป) จากนั้นไปสถานีตำรวจ บอกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ตำรวจบันทึกลงประจำวันไว้ แล้วขอถ่ายสำเนาประจำวันให้รับรองความถูกต้องด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในคดี ถ้าไม่ลงประจำวันไว้ บางคนอาจไม่เชื่อว่าลูกจ้างถูกหลอกหรือถูกบังคับ เรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

กรณีนี้เป็นเรื่องความเจ็บปวดของลูกจ้างที่ถูกหาว่าอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐาน หลังจากนั้นให้กลับไปทำงานตามเดิม ถ้าไปแล้วนายจ้างไม่มอบงานให้ทำ ถือว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กลับไปที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หลังจากนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ชี้ขาดแล้ว ถ้าลูกจ้างไม่พอใจ ให้ลูกจ้างไปฟ้องร้องสิทธิต่างๆ ที่เรียกคือ ค่าชดเชยตามอายุงาน ค่าเสียหาย เงินโบนัส สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินที่ไม่ได้ใช้สิทธิลาพักร้อน ค่าจ้างที่ค้างชำระ รวมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกเจ็ดวันได้ และลูกจ้างอย่าลืมเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีด้วย คนมีเงินไม่เสียดายเวลา แต่คนจนเวลามีคุณค่า ลูกจ้างบางคนฟ้องเรียกเงินไม่กี่พันบาท แต่สู้คดีเป็นปีไม่ได้เรียกดอกเบี้ย สุดท้ายได้เงินน้อยกว่าค่ารถที่เดินทางเสียอีก ขอให้ต่อสู้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งนะคะ

ยามเศรษฐกิจเฟื่องฟู ไม่ใช่ลูกจ้างเหล่านี้หรือที่ทำงานให้ถึงขนาดบางท่านเป็นมหาเศรษฐี แต่ยามเศรษฐกิจตกต่ำ มหาเศรษฐีก็ขับไล่ไสส่งลูกจ้างเพื่อลดภาระ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างนี้ทำถูกไหม

มยุรี ภัคดุรงค์
สำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาต์

(update 15 กุมภาพันธ์ 2001)


[ ที่มา...นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 21 ฉบับที่ 249 มกราคม 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21] resolution 800x600
1