แบ่งแยกที่ดินเล็ก
ดิฉันมีบุตรสาว 1 คน ที่เกิดจากสามีซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว โดยสามีได้ไปโอนที่ดิน แปลงหนึ่ง ซึ่งเดิมมีชื่อสามีพียงคนเดียวให้แก่ลูกสาวและดิฉันมีชื่อร่วมกันในโฉนดที่ดิน ปัจจุบันลูกอายุได้ 10 ขวบ
ปัญหาก็คือดิฉันต้องการจะขายที่ดินในส่วนที่ดินฉันมีกรรมสิทธิ์อยู่ในโฉนดกึ่งหนึ่งจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ ทำการแบ่งโฉนดเพื่อแบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งของดิฉันไปขาย แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมดำเนินการให้ อ้างว่าต้องให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต จึงจะสามารถแบ่งโฉนดที่ดินออกมาได้
ดิฉันกำลังเดือดร้อนเพราะผู้จะซื้อเร่งรัดให้ดิฉันโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตกลงกันตามสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่เช่นนั้นดิฉันจะถูกปรับ จึงอยากปรึกษาว่าการที่ดิฉันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินส่วนที่มีกรรมสิทธิ์ อยู่กึ่งหนึ่งไม่ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนของบุตรสาวด้วย ทำไมจึงต้องฟ้องศาลขอแบ่งโฉนดที่ดินส่วนของดิฉัน หากต้องฟ้องศาลจริงจะต้องฟ้องที่ไหน และต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในการฟ้องร้องคดีประเภทนี้ หญิงผู้ไม่รู้กฎหมาย |
ตอบ |
การที่คุณมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่การที่คุณจะขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินส่วนของคุณออกมา หากในโฉนดที่ดินยังไม่ได้ระบุตำแหน่งที่ดินของแต่ละคนไว้ ในฐานะที่คุณเป็นมารดาของบุตรสาว ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง (ได้แก่บิดาหรือมารดา) ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งโฉนดออกมาได้ จึงต้องได้รับ อนุญาตจากศาลก่อน
คุณจึงต้องร้องต่อศาลขอแบ่งโฉนดที่ดินที่คุณถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้เยาว์ โดยอาจจะตกลงกับผู้เยาว์ ในขณะที่ยื่นคำร้อง หรือคำฟ้องว่าตำแหน่งที่ดินของใครจะอยู่บริเวณใด และให้ศาลได้ตรวจสอบว่า ผู้เยาว์ไม่ได้ถูกเอาเปรียบหรือเสียประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อศาลมีคำสั่งให้แบ่งแยกโฉนดตามตำแหน่งที่ดิน ที่ได้มีการรังวัดในชั้นศาลแล้ว จึงนำคำสั่งศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินแยกโฉนดส่วนของคุณออกมา เพื่อนำไปขายให้แก่ผู้ซื้อได้
สำหรับศาลที่จะมีอำนาจในการให้แบ่งแยกโฉนดคือศาลที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตามปกติคือศาลจังหวัด เว้นแต่ในท้องที่ใดมีศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ยื่นที่ศาลเยาวชนและครอบครัว สำหรับกรุงเทพมหานครได้แก่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
คดีประเภทนี้เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าจ้างว่าความให้แก่ทนายความแล้วแต่จะตกลงกันและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการรังวัดที่ดินเพื่อเบ่งแยกโฉนดหรือค่าใช้จ่ายในกระบวนการดำเนินคดีในชั้นศาล โดยทั่วไปคดีฟ้องแบ่งโฉนดถือว่าเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2.5 ของราคาที่ดิน ที่ตนมีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นการร้องแบ่งกรรมสิทธิ์ให้ที่ดินมาเป็นของผู้ฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องแบ่ง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่แล้ว ซึ่งมักพบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าขึ้นศาล ที่ทนายบางคน เรียกจากลูกความ อ้างว่าต้องใช้จ่ายเป็นค่าขึ้นศาล แต่ความจริงแล้วจ่ายค่าขึ้นศาลไว้เพียง 200 บาทโดยคดีนั้นไม่มีการพิพาทกัน เรื่องที่ดิน แต่พิพาทกันในเรื่องไม่ยอมแบ่งโฉนดที่ดินออกมา ให้แก่เจ้าของอีกคนหนึ่ง
แต่กรณีอาจมีการเสียค่าขึ้นศาลได้หากตำแหน่งของที่ดินที่ฟ้องแบ่งแยกโฉนดพิพาทกัน ยังพิพาทกันอยู่ว่า ของใครอยู่บริเวณใดและตำแหน่งของที่ดินพิพาทมีราคาต่างกันมากศาลอาจมีคำสั่งให้มีการเสียค่าขึ้นศาล ได้ ดังนั้นถ้าหากว่ามีการเรียกค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ คุณอาจจะจ่ายเมื่อศาลมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าขึ้นศาล และอย่าลืมขอดูหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าขึ้นศาลด้วย เพราะค่าขึ้นศาลต้องเสียร้อยละ 2.5 ของราคา ทรัพย์ ที่พิพาท ดังนั้นถ้าที่ดินที่ขอแบ่งแยกราคาเป็นล้าน หมายถึงราคาทรัพย์ที่ขอพิพาทหนึ่งล้านบาท จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นเงินสองหมื่นห้าพันบาท
สุกัญญา รัตนนาคินทร์
main |