สิทธิรับมรดก
ดิฉันเป็นเมียไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาสามีแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับผู้หญิงอื่น และมีบุตรด้วยกัน ดิฉันจึงฟ้องขอให้บุตรของดิฉัน 2 คนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี และเรียกค่าเลี้ยงดูนมบุตรด้วย ขณะนี้ศาลได้มีคำสั่งพิพากษาให้บุตร 2 คนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และปรากฏว่า สามีได้เสียชีวิตไปเสียก่อนที่ศาลจะตัดสินออกมา ดิฉันอยากจะทราบว่า หลังจากนี้ไปดิฉันจะต้องทำอย่างไรและบุตรทั้งสองคนของดิฉัน จะมีสิทธิได้รับมรดกของสามีด้วยหรือไม่ ถ้าเขาแบ่งมรดกกันไปแล้วจะนำมาแบ่งใหม่ได้หรือไม่ มลิวัลย์ |
โดยทั่วไปเมื่อศาลมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรของชายแล้ว เด็กก็จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายนั้น นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ใช่ย้อนหลังไปวันที่เด็กเกิดแต่อย่างใด ในทางปฏิบัติจึงต้องไปขอคัดถ่ายให้มีการับรองถูกต้อง สำเนาคำพิพากษาดังกล่าวพร้อมทั้งหนังสือรับรองว่า คำพิพากษาดังกล่าวได้ ถึงที่สุดแล้วจากศาล แล้วนำไปจดทะเบียนว่า เด็กเป็นบุตรที่อำเภอหรือเขตตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 20 เพราะหากไม่จดทะเบียนแล้วบุคคลภายนอกก็ไม่รู้ว่า เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย เด็กจะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้
เมื่อเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นบิดานับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เด็กก็ย่อมที่จะมีสิทธิที่จะได้รับมรดกของบิดา ปัญหาของคุณคือว่า ชายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของชายผู้ตายในภายหลัง เด็กจะยังมีสิทธิรับมรดกของชายผู้ตายหรือไม่นั้น ให้ดูที่ว่าถ้าได้มีการฟ้องคดี ขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย
หรือถ้าฟ้องภายหลังจากที่ผู้ตาย ตายไปแล้ว แต่ฟ้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตายแล้ว หลังจากนั้นหากต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายแล้ว เด็กก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรม ซึ่งหากได้มีการแบ่งมรดกของผู้ตายไปเสียก่อนแล้ว ก็จะมีการนำกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้มาอนุโลมใช้คือ หากทายาทคนอื่น ๆ ของผู้ตายในขณะแบ่งมรดก ได้รับส่วนแบ่งมรดกไปโดยสุจริต และได้ใช้จ่ายไปแล้วบางส่วน ก็ต้องคืนทรัพย์มรดกเพียงเท่าที่ยังเหลืออยู่ เข้ากองมรดกเพื่อจัดแบ่งกันใหม่ โดยไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์มรดก
สุกัญญา รัตนนาคินทร์
main |