"ผมข้องใจมานานแล้วว่า ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ใครกันแน่ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ประเทศไทยของเรานำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้าซึ่งใช้อยู่เดิม ผมได้พยายามศึกษาหาความรู้ตามประสาคนมีความรู้น้อย ว่ามันมีความหมายอย่างไร ใครเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสีย และภาษีมูลค่าเพิ่มดีกว่าภาษีการค้าอย่างไร ประเทศเราจึงได้นำมาใช้แทนภาษีการค้า ศึกษาเท่าไหร่ก็ยังไม่เข้าใจจนทุกวันนี้ แต่ที่รู้ ๆ ก็คือ เวลาไปซื้อของมากินมาใช้ ผมจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกครั้ง ทั้ง ๆ ตอนที่รัฐใช้ระบบภาษีการค้าอยู่ ผู้ซื้อผู้บริโภคไม่ต้องเสียภาษีการค้า เพราะรัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบการค้า แล้วอย่างนี้จะว่าภาษีมูลค่าเพิ่มดีกว่าภาษีการค้าได้อย่างไร เกิดเป็นคนจนๆ และโง่ ๆ อย่างผมนี้ก็ลำบาก ไปรับจ้างเขาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ กว่าจะได้เงินมาแต่ละบาทก็ถูกนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวนหนึ่งแล้ว โดยเขาบอกว่าเป็นค่าภาษีเงินได้ ครั้นเอาเงินที่เหลือมาใช้จ่าย ไม่ว่าจะนำไปซื้อหาอะไรมากินมาใช้ตามความจำเป็นในชีวิต ล้วนแต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น ดูแต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเป็นบริการของรัฐแท้ ๆ ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย ดังตัวอย่างค่าน้ำประปาของผมเดือนหนึ่ง ผมใช้น้ำไปเป็นเงินค่าใช้น้ำจริง ๆ เพียง 210 บาท แต่มีค่าบริการอีก 25 บาท เมื่อรวมค่าน้ำกับค่าบริการเป็น 235 บาท ผมจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 23.50 บาท รวมเบ็ดเสร็จผมต้องใช้เงินในส่วนนี้ทั้งหมด 258.50 บาท ไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ หากสงสารคนโง่ ๆ อย่างผมก็ช่วยอธิบายให้หายโง่หน่อยเถอะ |
ครับบอกตรง ๆ ว่าสงสารเจ้าของจดหมายฉบับนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า คนโง่เป็นอย่างมาก จะช่วยอธิบายให้เข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังสงสัยอยู่ เพราะผมเองก็ไม่ค่อยจะสันทัดจัดเจนในเรื่องนี้สักเท่าไร
เอาเป็นว่า แม้ในระบบภาษีการค้าที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคก็เป็นผู้เสียภาษีการค้าเองเหมือนกัน เพียงแต่ผู้ประกอบการได้รวมเอาภาษีการค้าไว้ในราคาสินค้าแล้ว ทำให้ผู้บริโภคมองไม่เห็น คิดว่าราคานั้นเป็นราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว ความจริงเวลาซื้อเสื้อ 1 ตัว ราคา 300 บาท นั้นคือ ราคาเสื้อและค่าภาษีการค้าด้วย
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แม้กฎหมายจะได้บัญญัติให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่กฎหมายก็บัญญัติไว้อีกว่าให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคแล้วนำส่งรัฐบาล ฉะนั้นหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการก็คือ หน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ แล้วนำส่งรัฐบาล ถ้าหากผู้ประกอบการละเลยไม่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ผู้ประกอบการก็จะต้องเป็นผู้รับภาระเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีการขายที่จัดเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกขั้นตอน การจำหน่ายสินค้าหรือบริการในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งผู้ซื้อหรือผู้รับบริการคนสุดท้าย เป็นผู้รับภาระแต่เพียงผู้เดียว
สมมุติว่า กางเกงสำเร็จรูปที่วางขายปลีกอยู่ตามร้านค้าต่าง ๆ ราคาตัวละ 1,000 บาท ก่อนจะนำมาเป็นกางเกงตัวดังกล่าว พ่อค้าคนแรกจะต้องไปซื้อฝ้ายจากคนขายฝ้ายมาทำด้ายเสียก่อน ถ้าซื้อฝ้าย 100 บาท พ่อค้าทำด้ายจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 บาท พ่อค้าโรงงานทอผ้าไปซื้อด้ายดังกล่าวมาทอผ้าในราคา 200 บาท พ่อค้าโรงงานทอผ้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 20 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าฝ้ายที่คนขายฝ้ายเป็นผู้เรียกเก็บจากพ่อค้าทำด้าย คนขายฝ้ายจะต้องนำส่งรัฐบาลทั้ง 10 บาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มด้ายที่พ่อค้าทำด้ายเป็นผู้เรียกเก็บจากพ่อค้าโรงงานทอผ้า 20 บาทนั้น พ่อค้าทำด้ายมีสิทธิ์นำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนได้ชำระไปตอนซื้อฝ้าย 10 บาท มาหักออกก่อน แล้วนำส่งรัฐบาลเพียง 10 บาท เท่ากับพ่อค้าทำด้ายไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย เพราะเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่พ่อค้าทำด้ายเสียไป 10 บาท นั้นได้รับคืนจากพ่อค้าโรงงานทอผ้าแล้ว ต่อมาพ่อค้าโรงงานตัดเย็บกางเกงไปซื้อผ้ามาตัดเย็บกางเกงในราคา 400 บาท พ่อค้าตัดเย็บกางเกงจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 40 บาท ซึ่งพ่อค้าโรงงานทอผ้าเป็นผู้เรียกเก็บและมีสิทธิ์นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนได้รับชำระไปตอนซื้อด้าย 20 บาท มาหักก่อนแล้วนำส่งรัฐบาลเพียง 20 บาท เท่ากับพ่อค้าโรงงานทอผ้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย จากนั้นพ่อค้าขายปลีกไปซื้อกางเกงมาจากโรงงานตัดเย็บกางเกงในราคา 600 บาท พ่อค้าขายปลีกจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 60 บาท ซึ่งพ่อค้าโรงงานตัดเย็บกางเกงเป็นผู้เรียกเก็บและมีสิทธิ์นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนได้รับชำระไปตอนซื้อผ้า 40 บาท มาหักออกก่อนแล้วนะเงินส่งรัฐบาลเพียง 20 บาท สุดท้ายผู้บริโภคไปซื้อกางเกงตัวนี้มาในราคา 1,000 บาท ผู้บริโภคจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 100 บาท ซึ่งพ่อค้าขายปลีกเป็นผู้เรียกเก็บ และมีสิทธิ์นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนได้รับชำระตอนซื้อกางเกง จากโรงงานตัดเย็บกางเกง 60 บาท มาหักออกก่อนแล้วนำส่งรัฐบาลเพียง 40 บาท
สรุปแล้ว รัฐบาลจะได้รับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการผลิตและจำหน่ายกางเกงตัวนี้ รวม 100 บาท เท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคคนสุดท้ายได้เสียไป โดยพวกพ่อค้าทุกขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย เพราะพ่อค้าทุกคนที่ได้เสียไป แล้วจะได้รับคืนจากผู้ซื้อคนถัดมาเสมอ
ฉะนั้นไม่ว่าจะเสียภาษีในระบบภาษีการค้า หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในที่สุดผู้บริโภคคนสุดท้ายก็เป็นคนเสียภาษีแต่ผู้เดียว จะต่างกันก็แต่ภาษีการค้าผู้บริโภคคนสุดท้ายอาจเสียหลายต่อ ที่เรียกว่า ภาษีซ้ำซ้อน เพราะพ่อค้าที่เสียภาษีการค้าไปแล้ว กี่ทอดก่อนจะมาถึงทอดสุดท้าย จะต้องนำเอาภาษีการค้านั้น มาบวกเข้ากับราคาสินค้าทุกทอด โดยไม่ได้หักส่วนที่ได้เสียไปแล้วออกก่อน เหมือนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้บริโภคเสียเพียงต่อเดียว ราคาสินค้าในระบบภาษีการค้าจึงแพงกว่าราคาสินค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ครับ คนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจริง ๆ แต่เพียงผู้เดียวก็คือ พวก เรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละครับ
คนข้างศาล
main |