ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ

การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

(ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ)

******************************

1. ชื่อร่างพระราชบัญญัติกับเนื้อหาและหลักการในตัวร่างพระราชบัญญัติ ขัดแย้งกันเอง เพราะในขณะที่ชื่อร่าง เป็นเรื่องของการอุปถัมภ์และคุ้มครอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย ที่จะให้เป็น "คุณ" แก่พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน แต่ในเนื้อหาและหลักการ กลับมีแต่เรื่องการควบคุม การปกครอง การจัดการผลประโยชน์ และการ "ลงโทษ" แทบจะทั้งสิ้น

2. เป็นกฎหมายที่จะลดบทบาทและฐานะของ "พระสงฆ์" ในพระพุทธศาสนา ให้เป็นเพียง "บุคลากร" ทางศาสนา ที่อยู่ในอาณัติและการควบคุมของ "รัฐ" เท่านั้น และ จะทำให้ "พระสงฆ์" สูญสิ้นความเป็นอิสระและความเป็นองค์กรหลัก ในการสืบทอดและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพราะจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และนโยบายของ "องค์กรของรัฐ" ที่มีชื่อว่า "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" ซึ่งมี นักการเมือง เป็นประธาน มิฉะนั้นจะมีความผิดและถูกลงโทษ

3. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 ที่ว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ส่งเสริมความ เข้าใจ อันดี และความสมานฉันท์ ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุน การนำหลักธรรมของศาสนา มาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิต" เพราะในขณะที่มาตรา 73 ซึ่งอยู่ในหมวด แนวนโยบายพื้นฐาน แห่งรัฐของรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็น "หน้าที่" ของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครอง และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา แต่ในตัวร่างพระราชบัญญัติ กลับมากำหนดให้เป็น "หน้าที่" ของบุคคลอื่นนอกจากรัฐ เช่น "หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน" หรือ "หน้าที่ของพระสงฆ์" เป็นต้น

4. หากพิจารณาดูตามมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับในรูปของพระราชบัญญัติ เพราะมาตรา 73 ดังกล่าว บังคับ "รัฐ" ให้ทำอะไร ต่ออะไร หลายอย่าง ที่เป็นคุณต่อศาสนาและประชาชน แต่การออกเป็นพระราชบัญญัติ กลับเป็นการบังคับ "ประชาชน" และบุคลากรทางศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนิกชน ทุกคน ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

5. การออกกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรของรัฐมา "จัดระเบียบ" และ "ควบคุม" พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ นอกจากจะขัดแย้งกับมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐ "อุปถัมภ์ และ คุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น" แล้ว ยังจะทำให้เกิด การแยกตัวเป็นเอกเทศ ภายใต้กฎหมายแต่ละฉบับ ของแต่ละศาสนา อันเป็นเหตุให้มีการแบ่งแยก กันในสังคม อย่างชัดเจน ระหว่างคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน กับคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น และในที่สุด จะทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้า และการเลือกปฏิบัติ ระหว่างคนไทย ที่เป็นพุทธศาสนิกชน กับคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น

6. มาตรา 6 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่บังคับให้พุทธศาสนิกชนมีหน้าที่รวม 8 ประการนั้น

ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคหนึ่งที่ว่า

"บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา และการปฏิบัติตาม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน" อย่างชัดแจ้ง ถือเป็นการออกกฎหมายลูก มาล้างกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะการออกกฎหมายบังคับให้ "พุทธศาสนิกชน" มีหน้าที่ ต้องทำบุญ กุศล บริจาคทรัพย์ เอาใจใส่ติดตามเหตุการณ์ ที่เป็นภยันตรายต่อ พระพุทธศาสนา รายงานต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ แสดงตนเป็นพุทธมามกะ และดำรงไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเพียงบางส่วน

ในมาตรา 6 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นั้น ขัดต่อบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญมาตรา 38 วรรคสองที่ว่า

"ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์ อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือ แตกต่างจาก บุคคลอื่น" ทั้งนี้เพราะ "คนไทย" ทุกคนจะสูญเสียเสรีภาพ ตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญทันที เพียงเพราะเขานับถือศาสนาพุทธเท่านั้น

7. กฎหมายฉบับนี้ ถ้าออกมาใช้บังคับ จะมีผลทำให้ "มหาเถรสมาคม" อันเป็นองค์กรหลักของพระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์มาตลอดเป็นเวลานับร้อยปี มีอันต้องเสื่อมสลาย ทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏบทบาท ความสำคัญ และอำนาจหน้าที่อันเป็นรูปธรรมของมหาเถรสมาคมเลยแม้แต่น้อยในกฎหมายฉบับนี้ และที่น่าฉงน สนเท่ห์มากก็คือ ในมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่ให้คำจำกัดความของคำต่างๆ ไว้มากมาย เช่น "ศาสนบุคคล" "ศาสนวัตถุ" "อุปถัมภ์" "ทรัพย์สินส่วน พระพุทธศาสนา" "คณะกรรมการทรัพย์สิน" หรือแม้แต่คำว่า "แม่ชี" แต่กลับไม่มีคำว่า "มหาเถรสมาคม"

8. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ หากมีผลใช้บังคับ อาจนำไปสู่การแปลงโฉม "ศาสนจักร" ให้เป็น "พุทธอาณาจักร" ซึ่งจะอยู่ภายใต้การปกครองและควบคุมของ "คณะกรรมการอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ตามมาตรา 11 อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

9. โครงสร้างของ "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ตามมาตรา 11   มีสภาพและฐานะไม่ผิดอะไรกับ "กรมการเมือง" ในระบอบการเมือง แบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการประจำ และฆราวาสจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างล้นเหลือ ต่อวงการพระพุทธศาสนา ซึ่งลักษณะคล้าย "กรมการเมือง" ดังกล่าว ยังได้ขยายและแผ่อำนาจลงไปถึง "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนา ส่วนกรุงเทพมหานคร" ตามมาตรา 19 "คณะกรรมการอุปถัมภ์ และคุ้มครอง พระพุทธศาสนา ส่วนจังหวัด" ตามมาตรา 17 และยังคุมลงไปถึง "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" อีกด้วย

ในระดับชาติ มีนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นหัวหน้าใหญ่ นอกนั้นก็มีบรรดา ปลัดกระทรวงหลักๆ ร่วมเป็นกรรมการ มีผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการศาสนา และ ฯลฯ เป็นกรรมการ และมีฆราวาสจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีนายกพุทธสมาคม แห่งประเทศไทย และประธานสภา ยุวพุทธิกสมาคม แห่งชาติ เป็นแกน พร้อมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 12-15 คน เป็นกรรมการ

ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าใหญ่ และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นนักการเมืองเป็น รองประธาน มีนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็น นักการเมือง เช่นกัน เป็นกรรมการ และที่น่าสังเกต จะมีนายกพุทธสมาคม ประจำจังหวัด และนายกยุวพุทธิกสมาคม ประจำจังหวัด พร้อมทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12-15 คน ซึ่ง รัฐมนตรีแต่งตั้ง ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า องค์กรซึ่งมีลักษณะคล้าย "กรมการเมือง" เช่นว่านี้ จะมีอำนาจครอบคลุม และมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ของชาวพุทธทั้งมวล ในทุกๆ ระดับ ซึ่งจะเป็นอันตราย อย่างยิ่ง ถ้าหากคณะบุคคล ซึ่งยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในองค์กรนี้ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ใช้อำนาจ กลไก และผลประโยชน์ ภายใต้การยึดกุมของตน ทำการสร้าง อาณาจักร ทางการเมือง การปกครองขึ้นมา ซ้อนกับองค์กร และอำนาจทางการเมือง ของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ

10.ในขณะที่ "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ตามมาตรา 11 ประกอบด้วย นักการเมืองและข้าราชการประจำ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคงจะส่ง ตัวแทน ที่ไม่มีปากเสียง เข้าไปเป็นกรรมการ หรือประชุมแทน นั้น จะมี "ฆราวาส" จำนวนหนึ่ง ซึ่งมี นายกพุทธสมาคม แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นแกนหลัก ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นประธาน ในที่ประชุม ทุกครั้งที่ประธานหรือรองประธาน ไม่มา หรือถึงจะมา "ฆราวาส" สองคนดังกล่าว ก็สามารถกำหนดเกม และชี้นำมติของการประชุมได้ เพราะในที่ประชุมทุกครั้ง จะประกอบด้วยบรรดาตัวแทน ซึ่งไม่มีปากเสียง เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา 15 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

ดังนั้น ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ คนที่จะมีอำนาจยึดกุมและปกครอง "พุทธอาณาจักร" ของประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็จะได้แก่ "ฆราวาส" สองคน ที่เป็น นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย และประธานยุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งใน "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนา แห่งชาติ" นั่นเอง

11.เป็นที่น่าสังเกตว่า "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ตามมาตรา 11 ซึ่งมีอำนาจมากมายถึง 13 ข้อตามมาตรา 14 นั้น ไม่มีการกำหนดวาระ ในการดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ในขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12-15 คน รวมทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ ที่เป็นประธาน รองประธาน และกรรมการ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไปตามวาระของตำแหน่งต้นสังกัด หรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนแปลงบุคคล เข้ามาเป็นกรรมการนั้น "ฆราวาส" สองคน ซึ่งเป็น นายกพุทธสมาคม แห่ง ประเทศไทย และประธานสภา ยุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ จะสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดไป

12.เป็นที่น่าสังเกตอีกเช่นกันว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12-15 คน ในส่วนที่เป็น "ฆราวาส" ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฯ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนั้น ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเอาไว้ ดังนั้น จึงหมายความว่าจะแต่งตั้งใครก็ได้ แม้แต่นักการเมือง ข้าราชการประจำ หรือพ่อค้านักธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นช่องทาง ที่จะทำให้มีการซื้อขายตำแหน่ง หรือเป็นการแต่งตั้ง ในลักษณะต่างตอบแทน หรือปูนบำเหน็จกัน ในทาง การเมืองได้ และในที่สุด ก็อาจจะได้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่ได้มีความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา อย่างจริงใจ และไม่มีความรู้ความเข้าใจ ในหลักธรรมของ พระพุทธศาสนา อย่างถ่องแท้ได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ต่อการสืบสานและเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืน

13.อำนาจหน้าที่ของ "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" รวม 13 ข้อ ตามมาตรา 14 นั้น มีมาก กว้างขวาง และไร้การตรวจสอบ จนน่ากลัวว่า จะถูกใช้ไปในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจทางการเมือง หรือกลายเป็นดาบสองคม ถึงขั้นทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนาได้ ตัวอย่างเช่น (2) กำหนด นโยบาย แนวทาง และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา (3) กำหนดมาตรฐาน ศีลธรรมจริยธรรมและคุณธรรม เพื่อใช้เป็นหลักในการจัด การศึกษาแห่งชาติ (4) อนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณฯ (6) ป้องกันและขจัดผู้ปลอมตน ผู้ต้องห้าม หรือไม่เหมาะสม ที่จะเข้ามาอุปสมบท ในพระพุทธศาสนาฯ (8) จัดตั้ง รวม ยุบเลิก ชมรม พระพุทธศาสนา และพุทธธรรมสถาน เพื่อศาสนศึกษา ในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และสถานศึกษา และ (11) เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐาน มาประกอบการพิจารณา และตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เป็นต้น

14.การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตามมาตรา 15 โดยให้ถือเสียงข้างมากนั้น จะเป็นช่องทางให้ นายกพุทธสมาคม และประธาน สภายุวพุทธิกสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการหลัก ประเภทถาวร ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีกไม่กี่คน ทำการชี้ขาด และกำหนดมติ อันกระทบต่อความเป็นไปของ พระพุทธศาสนา ได้ ทั้งนี้เพราะองค์ประชุม ได้กำหนดไว้เพียง กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ดังนั้น เพียงแค่มีกรรมการมาประชุม 15-16 คน ก็เป็นองค์ประชุม และมีเสียงเพียงแค่ 8-9 คน ก็เป็นมติที่จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่ออนาคต และชะตากรรมของ พระพุทธศาสนาได้แล้ว

15.ข้อความในมาตรา 25 ที่ว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคฤหัสถ์หรือคณะสงฆ์ เป็นผู้ขอสร้าง รวม ย้าย ยุบเลิก ยกวัดร้างขึ้นเป็นวัด มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา และยกวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง" จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพล ในท้องถิ่น เข้ามามีอิทธิพล ครอบงำวงการสงฆ์ การดำเนินงานของวัด และชุมชนชาวพุทธ รวมทั้งหาประโยชน์จาก พุทธพาณิชย์ ได้อย่างสะดวกง่ายดาย ซึ่งจะทำให้วัดและพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งเจ้าอาวาสวัด ขาดความ เป็นอิสระ

16.ข้อความในมาตรา 34 ที่ว่า "คณะสงฆ์ หน่วยงานพระสังฆาธิการ วัด ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา องค์กรเอกชน และ คณะกรรมการทรัพย์สิน อาจเรี่ยไรเพื่อดำเนินงานพระพุทธศาสนาก็ได้" จะเปิดช่องให้มีการหาประโยชน์ และทำธุรกิจ จากการเรี่ยไร อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งถึงแม้ จะต้องขออนุญาต จะถูกควบคุมโดย คณะกรรมการอุปถัมภ ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ตาม กลับยิ่งจะทำให้ ถนนทุกสาย มุ่งเข้าสู่แกนหลัก ผู้มีอิทธิพล สูงสุดใน คณะกรรมการฯ อันจะกลายเป็นศูนย์รวมของผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมและความเลื่อมใสศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนาเลย แม้แต่น้อย

17.ข้อความในมาตรา 35 ที่ว่า "ผู้บริจาคทรัพย์สินอุปถัมภ์คณะสงฆ์ หน่วยงานพระสังฆาธิการวัด และคณะกรรมการทรัพย์สิน อาจนำหลักฐาน มูลค่าการบริจาค ประกอบการ ขอลดหย่อนภาษีเงินได้ หรือในกรณีที่บริจาคอสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากร และค่าธรรมเนียมการโอน อสังหาริมทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี" จะเป็นช่องทาง ที่ทำให้เกิดการฟอกเงิน ที่ได้มาโดยทุจริต ผิดกฎหมาย หรือการค้ายาเสพติด โดยอาศัยการบริจาคดังกล่าว เป็นเครื่องมือได้

18.ข้อความในมาตรา 36 ที่ว่า "ผู้บริจาคทรัพย์สิน ตามมาตรา 35 อาจได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายตอบแทน หรือเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ตามระเบียบว่าด้วย การนั้น แล้วแต่กรณี" จะเป็นช่องทางให้เกิด การทุจริตและการหาประโยชน์ ในทางมิชอบ เหมือนในอดีต จากกรณีการบริจาค เพื่อขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวได้

19.ข้อความในมาตรา 38 ที่ว่า "ศาสนธรรม ต้องได้รับการคุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบิดเบือน ฉ้อฉล เหยียดหยาม หรือทำลาย" เป็นข้อความที่ทั้งกว้าง คลุมเครือ และเป็นดาบสองคม ที่จะเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจ ใช้เป็นเครื่องมือ ในการทำลายบุคคลากร ในทางศาสนา หรือพระสงฆ์ ที่ไม่ยอมอยู่ในโอวาทได้ นับเป็นมาตรา ที่เป็น อันตรายอย่างยิ่งต่อ พระพุทธศาสนา ที่จะถูกคุกคามจากอิทธิพล และอำนาจมืด

20."กฎเหล็ก" ในการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของบุคคล ก่อนที่จะอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบท โดยส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับมอบหมาย จาก กอค.พช. ตามมาตรา 41 จะทำให้บุคคลที่มีความประสงค์จะบวช เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อย่างบริสุทธิ์ใจ บวชเพื่อทดแทนพระคุณ บุพการี บวชตามประเพณี หรือบวช ตามฤดูกาล เลิกล้มความตั้งใจ ที่จะบวชอีกต่อไป เพราะความยุ่งยาก และระเบียบข้อห้าม ที่หยุมหยิมเกินเหตุ ทำราวกับผู้ที่คิดจะบวช เป็นอาชญากรหรือผู้ร้าย ในทาง ตรงข้าม อาจเป็นการเปิดช่องให ้เจ้าหน้าที่เรียกรับสินบน จากผู้ที่อยากบวช เพื่อหนีอาญาแผ่นดิน หรือโดยมีผลประโยชน์อย่างอื่น แฝงเร้น

21.ข้อความในมาตรา 42 วรรคสองที่ว่า "ภายใต้กฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล ชื่อสกุล ให้ใช้คำว่า "พระ" นำหน้าชื่อ และต่อท้ายด้วย "ฉายา" ควบคู่ไปกับคำดังกล่าว หรือ สมณศักดิ์ สำหรับพระภิกษุ และให้ใช้คำว่า "สามเณร" นำหน้าชื่อ และต่อท้ายด้วย "นามสกุล" สำหรับสามเณร แล้วแต่กรณี" นั้น นอกจากจะขัดแย้งกับกฎหมาย ที่อ้าง ดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสน ในการปฏิบัติทางปกครอง เป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ ไม่แน่ใจว่า จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนไปใช้คำว่า "พระ" หรือ "สามเณร" ดังกล่าว จะทำให้บุคคลนั้น เสียสิทธิในฐานะเป็น "บุคคล" ตามรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่

22.ข้อความในมาตรา 47 ที่ว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด สำนักคณะสงฆ์ และทรัพย์สินอันเป็นศาสนสถาน ศาสนสถานซึ่งเป็นที่วัด และที่ธรณีสงฆ์ ของ สำนักคณะสงฆ์ และทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา เป็นทรัพย์สิน ที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบ แห่งการบังคับคดี" นั้น จะทำให้วัด สำนักคณะสงฆ์ และทรัพย์สินส่วน พระพุทธศาสนา เป็นเสมือน "รัฐอิสระ" ที่อยู่ภายใน "พุทธอาณาจักร"   ซึ่งมี "คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เป็นผู้ปกครอง และควบคุม อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

23.ข้อความในมาตรา 56 ที่ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดหรือวัด จัดทำ สร้าง ปลุกเสก หรือโดยกรรมวิธีอื่นใด หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าว ที่ไม่เกื้อกูลต่อศาสนธรรม ในพระพุทธ ศาสนา ด้วยวิธีการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ประดิษฐาน มีไว้เพื่อการสักการบูชา ใช้ประกอบพิธีกรรม พิธีไสยศาสตร์ อวดอิทธิปาฏิหาริย์ ใบ้หวย หลอกลวง เพื่อลาภ สักการะ ก่อให้เกิดภยันตราย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี เว้นแต่กรณีตามมาตรา 49 มาตรา 52 และมาตรา 53"

นอกจากจะไม่สอดคล้องกับชื่อร่างพระราชบัญญัติแล้ว ยังเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีคิด รวมทั้งระบบความเชื่อถือ ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ชนิดหน้ามือเป็น หลังมือ แบบที่เรียกว่า "ปฏิวัติ" กันถอนรากถอนโคนทีเดียว เพราะบรรดาโรงหล่อพระ ทำพระเครื่องและรูปเหรียญบูชาทั้งหลาย ต้องเลิกกิจการหมด เนื่องจาก ห้ามซื้อขาย หรือให้เช่าวัตถุบูชา แผงเช่าพระ ที่มีนับพันนับหมื่นแผง ทั่วประเทศ ต้องเลิกกิจการ หรือไม่ก็หลบลงใต้ดิน พิธีกรรมต่างๆ ในทางไสยศาสตร์ ไม่ว่าแบบไหน ที่ได้ชื่อว่า เป็นพิธีกรรมของชาวพุทธ หรือแม้แต่พิธีกรรม ตามศาลเจ้าต่างๆ ต้องเลิกหมด ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เคยชี้ให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ ทำให้คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ถูกเลือก ปฏิบัติต่างกับ คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น เพราะถ้าเป็นการกระทำแบบเดียวกัน คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายนี้ จะใช้บังคับได้ แต่เฉพาะคนไทย ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น นอกจากนั้น ยังเป็นช่องทาง ที่จะทำให้เกิดการวิ่งเต้น ติดสินบนต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย โดยเฉพาะในการขออนุญาต สร้างพระพุทธรูปหรือ ศาสนวัตถุที่เป็นพระพุทธรูป การจำลองพระพุทธรูป หรือศาสนวัตถุที่เป็นพระพุทธรูป รวมทั้งการสร้างรูปปั้น รูปหล่อ และเหรียญศาสนบุคคล ตามมาตรา 49 มาตรา 52 และมาตรา 53

24.ข้อความในมาตรา 58 ที่ว่า "ศาสนสถานและศาสนวัตถุใด เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดใดวัดหนึ่ง และเป็นที่เคารพสักการะของ พุทธ ศาสนิกชน โดยทั่วไป ให้ศาสนสถานหรือศาสนวัตถุนั้น อยู่ในความควบคุมดูแล และจัดประโยชน์ของ คณะกรรมการทรัพย์สิน "นั้น เป็นการสร้างขุมทรัพย์ขึ้นใหม่ แบบรวมศูนย์ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ จำนวนมหาศาล และจะทำให้วัดแต่ละวัด หมดสิทธิที่จะจัดการผลประโยชน์ของตนเอง เพราะมีรายได้เท่าไร ต้องส่ง คณะกรรมการทรัพย์สินหมด แล้วหลังจากนั้น จึงค่อยเบิกจ่ายมาทำนุบำรุง หรือซ่อมสร้างศาสนวัตถุ และศาสนสถาน ในความดูแลรับผิดชอบของตน

25.ข้อความในมาตรา 66 ที่ให้มีทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย รายได้จากศาสนสถาน และศาสนวัตถุ ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ ของวัดใดวัดหนึ่ง เงินอุดหนุนจากต่างประเทศ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค ให้แก่พระพุทธศาสนา เงินและทรัพย์สิน จากการลงทุน ค่าธรรมเนียม การจัดการลิขสิทธิ์ และดอกผล และรายได้ จากทรัพย์สิน ส่วนพระพุทธศาสนา เป็นต้น นั้น เป็นการรวมศูนย์อำนาจ การจัดการผลประโยชน์ ไว้ที่ส่วนกลางแห่งเดียว ภายใต้การดูแลของ สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระพุทธศาสนา ซึ่งล้อการจัดการผลประโยชน์ ของสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งน่าจะไม่เหมาะไม่ควร

26.บทกำหนดโทษตั้งแต่มาตรา 73 ถึงมาตรา 87 ซึ่งมีแต่เรื่อง โทษจำคุกและโทษปรับ ที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ถึง หนึ่งแสนบาทนั้น ทำให้ดูเหมือนว่า วงการพระพุทธศาสนา ในสายตาของ ผู้ร่างและผู้เสนอ เป็น "โลกแห่งอาชญากรรม" โดยแท้ จึงต้องดำเนินการปราบปราม ทำลายล้าง ด้วยวิธีการที่รุนแรง

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใดต้องคำวินิจฉัยให้สึกแล้ว ไม่ยอมสึก ต้องจำคุกสามปี ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะต้องปาราชิกแล้ว ยังแต่งกายเลียนแบบสงฆ์อีก ต้องถูก จำคุกไม่เกินสามปี ผู้ใดเรี่ยไร โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกินสามปี ผู้ใดบิดเบือนศาสนธรรม โดยการโฆษณา หรือโดยกระจายเสียง ต้องโทษจำคุกห้าปีถึงสิบปี ผู้ใดทำลายหรือ ทำให้เสียหายซึ่งพระพุทธรูป ประติมากรรมติดที่ ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี ผู้ใดจัดกิจกรรมรื่นเริงในวัด ต้องโทษจำคุกไม่เกินสามปี ผู้ใดเสพเมถุน ในขณะเป็นพระภิกษุ รวมทั้งผู้ร่วมเสพเมถุน ต้องโทษจำคุก ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และผู้ใดกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาในวัด ต้องโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ อีกกึ่งหนึ่ง เป็นต้น

27.มาตรา 89 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เอาไว้ล่วงหน้า ทั้งๆที่ยังไม่มีกฎหมาย แก้ไข ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมใหม่ ที่ว่าด้วยการนั้นแต่อย่างใด

28.ข้อความในมาตรา 91 และมาตรา 92 ที่ให้จัดตั้ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา ภายในหนึ่งปี และให้ใช้กฎมหาเถรสมาคม และคำสั่งที่ออกตามความ ใน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์เดิม ได้ต่อไป อีกเพียงหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แสดงให้เห็นความเร่งร้อน ในการแปลงโฉม ศาสนจักรของชาวพุทธทั้งมวล ให้เป็น "พุทธอาณาจักร" ที่อยู่ในความควบคุมและปกครอง แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ   "ฆราวาส" เพียงไม่กี่คน


คณิน บุญสุวรรณ

27 กรกฎาคม 2542

1