โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


โครงการชลประทาน


  • การดำเนินการจัดระบบชลประทาน

ความคิดที่จะจัดให้มีระบบการชลประทาน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันแปรของดินฟ้าอากาศที่มีต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรไทยนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่การดำเนินการที่สำคัญคือการขุดคลองเพื่อประโยชน์ในการคมนาคมและการชลประทานร่วมกันขึ้น และการอนุญาตให้บริษัทเอกชนคือบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม เข้าดำเนินการขุดคลองชลประทานบริเวณทุ่งรังสิต ตั้งแต่ปีพ.ศ.2431 โดยบริษัทจะได้รับกรรมสิทธิในที่ดิน 2 ฝั่งคลองที่ไม่มีผู้ใดจับจองขึ้นไปฟากละ 40 เส้นสำหรับลำคลองใหญ่ และ 25 เส้นสำหรับลำคลองเล็ก และบริษัทสามารถขายที่ดินบริเวณที่ได้รับประโยชน์นี้ เป็นการตอบแทนให้คุ้มกับทุนที่ลงไปได้

ในปีพ.ศ.2442 เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ไปตรวจราชการในทุ่งรังสิต ได้พบเห็นสภาพของทุ่งนาซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านการชลประทานอย่างเร่งด่วน จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตจ้างนายช่างชลประทานชาวต่างประเทศ ให้เข้ามาสำรวจและคิดจัดระบบชลประทานที่ทันสมัยขึ้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลติดต่อว่าจ้าง นาย วัน เดอ ไฮเด(J.H. Van der Heide)วิศวกรชลประทานชาวฮอลันดา มาศึกษาสภาพธรรมชาติของทุ่งราบภาคกลาง เพื่อพิจารณาวางโครงการชลประทาน แต่เนื่องจากโครงการที่นายวัน เดอ ไฮเดเสนอนั้นค่าใช้จ่ายสูงถึง 47 ล้านบาท และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็ยังไม่ชัดเจน โครงการดังกล่าวจึงถูกระงับไว้ก่อน และมีการดำเนินการเพียงขุดซ่อมและสร้างประตูน้ำที่คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และคลองแสนแสบ โดยที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเรือที่ผ่านไปมาเพื่อชดเชยค่าใช่จ่ายที่ได้ลงทุนไป

เนื่องจากในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดภาวะแห้งแล้งจนการทำนาเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในระยะเวลาไม่ห่างกันนักคือในปีพ.ศ.2454 และ 2457 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีพระจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นประธานกรรมการ เพื่อทำการสอบสวนเหตุผลต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการทำนาของประเทศ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานว่า

"...การที่จะบำรุงส่งเสริมการทำนา ให้ชาวนาได้ตั้งหลักทำไปได้ด้วยดี นั้นจำเป็นต้องสร้างการชลประทานตามทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาน้ำฝนกับน้ำในแม่น้ำลำคลอง ให้มีพอที่จะบำรุงการทำนา เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะหวังผลได้ ถ้าไม่ได้ทำการชลประทานแล้ว ประเทศและอาณาประชาราษฎร์ ก็จะถึงซึ่งความสมบูรณ์หาได้ไม่"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับรองรายงานของคณะกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ติดต่อคณะวิศวกรชลประทานชาวอังกฤษ นำโดยนายโทมัส วอร์ด(Thomas Ward)ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์ โทมัส วอร์ด เข้ามาสำรวจตามแนวโครงการที่นาย วันเดอไฮเด ชาวฮอลันดาเคยทำไว้ คณะสำรวจชาวอังกฤษเห็นว่า โครงการเดิมใหญ่เกินกำลังของประเทศไทย จึงคิดโครงการใหม่ ผ่อนผันการต้องใช้เงินทุนให้น้อยลง และคิดแบ่งการดำเนินการตามโครงการใหม่นั้น ออกเป็นโครงการย่อย ๆ หลายโครงการ โดยที่สามารถแยกทำได้ทีละโครงการ ทำให้ไม่ต้องใช้เงินมากในคราวเดียวกัน

โครงการแรกสุดที่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของ เซอร์โทมัส วอร์ด ก็คือโครงการชลประทานลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งตอนแรกของโครงการนี้เริ่มดำเนินการในปีพ.ศ.2457เรียกว่าโครงการป่าสักใต้ อันเป็นการสร้างทำนบ ใหญ่ ปิดกั้นลำน้ำป่าสักที่ตำบลท่าหลวง และขุดคลองใหญ่(คลองระพีพัฒน์) ทำประตูน้ำในทำนบนั้น เพื่อชักน้ำลงมาทุ่งหลวงตอนเหนือคลองรังสิต แล้วทำประตูน้ำและทำนบ รวมทั้งขุดคลองชักน้ำเข้านาทั้ง 2 ฟากคลองระพีพัฒน์เป็นระยะลงมาต่อคลองหกวาสายบน ซึ่งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ขุดไว้แต่ก่อน นอกจากนั้น ก็มีการขุดแต่งคลองหกวาสายบนนั้นและคลอง 1 ไปจนถึงคลองรังสิต โครงการนี้เดิมคาด ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 11,500,000 บาท และมีกำหนดแล้วเสร็จในพ.ศ.2466 แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศนั้น มีราคาสูงขึ้นมาก จำนวนเงินที่ต้องจ่ายลงทุนไปในโครงการนี้จึงสูงถืง 15,780,768 บาท

การดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 ที่ได้เตรียมการไว้เพื่อจะทำหลังจากโครงการป่าสักใต้เสร็จสิ้นลงนั้น มีการกำหนดระยะเวลาของโครงการไว้ 8 ปี และแบ่งเป็นโครงการย่อย 4 โครงการคือ

(1)"สกีมสุพรรณ" เป็นโครงการทดน้ำที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลง ทุนทั้งสิ้น 11,489,084 บาท

(2)"สกีมบางเหี้ย" เป็นโครงการชักน้ำในทุ่งหลวง ลงมาใช้ทางใต้ของคลองรังสิตแล้วเลย ระบายออกทะเลทางบางเหี้ย ประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,709,760 บาท

(3)"สกีมเชียงรากน้อย"(เดิมรวมอยู่กับสกีมบางเหี้ย) เป็นโครงการชักน้ำในทุ่งหลวง ตอนเหนือคลองรังสิต ไปใช้ทำนาทางแถบตะวันตกของทางรถไฟ ตั้งแต่แขวงอยุธยาลงมาจนถึงคลองรังสิต แล้วจึงระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,069,000 บาท

(4)"สกีมนครนายก" เป็นโครงการสร้างทำนบปิดกั้นแม่น้ำนครนายก ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมที่นาในแขวงจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี แล้วนำน้ำขึ้นมาเพิ่มเติมในเขตทุ่งหลวง ประมาณการว่า จะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 8,033,469 บาท

(5)"สกีมป่าสักเหนือ" เป็นการขุดคลองส่งน้ำ จากลำน้ำป่าสักที่สร้างทำนบไว้แล้ว ไปใช้ทำนาในเขตจังหวัดสระบุรี ด้านตอนเหนือของทำนบป่าสัก ประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 28,551,313 บาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเงินงบประมาณรายได้ของรัฐไม่เพียงพอกับรายจ่ายซึ่งสูงขึ้นมากอันเป็นผลมาจากการเร่งรัดพัฒนาดังนั้นในปีพ.ศ.2467 เมื่อเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ มีจดหมายกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระทานพระบรมราชานุญาตจ่ายเงินในการทดน้ำ จึงต้องผ่านการพิจารณาของสภาองคมนตรีตรวจจัดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมการของสภาดังกล่าวได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า

(1)ให้งดการก่อสร้างสกีมป่าสักเหนือ และสกีมนครนายกไว้ก่อน เนื่องจากสกีมป่าสักเหนือนั้นเป็นเพียงโครงการชักน้ำเข้านา โดยไม่สามารถระบายน้ำเพื่อป้องกันอันตรายในการทำนาได้เหมือนกับสกีมเชียงรากน้อยและสกีมบางเหี้ย ส่วนสกีมนครนายกนั้นต้องใช้เงินมากและไม่ผูกพันกับโครงการอื่น เมื่อเงินยังไม่พอจึงสมควรรอไว้ก่อนได้

(2)ให้ดำเนินการตามสกีมเชียงรากน้อยและสกีมบางเหี้ย ให้เสร็จสิ้นก่อนเพราะจะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพของสกีมป่าสักใต้ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้น

(3)สกีมสุพรรณบุรีซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้วให้ทำต่อไปเพียงถึงประตูระบายน้ำที่ 3 และ การก่อสร้างเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ปรากฏว่าจนถึงปี พ.ศ.2469 งานของสกีมเชียงรากน้อยและสกีมบางเหี้ย ได้สำเร็จไปประมาณครึ่งหนึ่ง และใช้จ่ายไปทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,355,719 บาท ส่วนสกีมสุพรรณบุรีนั้นได้สร้างประตูระบายน้ำที่ 3 และการก่อสร้างเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวข้องก็เสร็จสิ้นแล้ว ด้านคลองส่งน้ำทางฝั่งตะวันตก ก็แล้วเสร็จไปประมาณครึ่งหนึ่ง ในขณะที่คลองส่งน้ำฝั่งตะวันออกกำลังจะดำเนินการ

    หน้า 1   

    หน้า 3   

1