การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง
(ช) โครงการอื่น ๆ
โครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการคมนาคมทางรถไฟอีกประการหนึ่ง
ก็คือการสร้างบ้านพักสำหรับผู้โดยสารรถไฟที่เดินทางไปตากอากาศยังหัวหินอันเป็นหัวเมืองตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อที่สุดในขณะนั้น
โดยในตอนแรกได้ใช้วิธีให้มีผู้รับเหมาซึ่งประมูลราคาสูงสุดเป็นผู้ผูกขาดไปจัดทำ
ต่อมาจึงได้จัดตั้งกองโฮเต็ลและบ้านพักขึ้นเพื่อจัดบริการด้านนี้โดยกรมรถไฟหลวงเอง
ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
"...เพื่อเพิ่มพูนความผาสุก
และความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไปเที่ยวตากอากาศดียิ่งขึ้น.......เพราะผู้ที่ไปพักต้องเตรียมจัดหาของตนไปเองในเรื่องอาหาร
การบริโภค คนใช้ และเครื่องภาชนะใช้สอยต่างๆ
โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงและไม่สะดวกด้วย....จึงได้เริ่มก่อสร้างสถานโฮเต็ลขึ้น...ส่วนบ้านพัก
นั้น ย้ายไปปลูกลงในที่ใหม่
แล้วได้จัดให้มีอาหารจำหน่ายและมีคนใช้พร้อมสรรพ
...ส่วนการเริงรมย์สำหรับผู้ที่ไปพักได้จัดทำสนามกอล์ฟและสนามเทนนิสขึ้น..."
นอกจากสถานที่เพื่อการพักผ่อนที่หัวหินแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยังทรงมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีที่พักทันสมัยสำหรับไว้ต้อนรับชาวต่างประเทศ
ทั้งที่เข้ามาติดต่อการ
ค้าและเข้ามาท่องเที่ยวในพระราชอาณาจักรอีกด้วย
ซึ่งปรากฏในรายงานว่าด้วยกิจการของกรมรถไฟหลวงดังนี้
"พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6
ได้ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยแล้วว่า
การที่จะเผยแผ่สินค้าของประเทศสยามให้ปรากฏแก่บรรดาพ่อค้าต่างประเทศ
กับทั้งที่จะชักชวนให้นักท่องเที่ยวพากันเข้ามาเยี่ยมพระราชอาณาเขตมากขึ้นนั้น
จำต้องมีโฮเต็ลชนิดที่ถูกต้องตามสมัยนิยม...และในตอนปลายรัชกาลของพระองค์
ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังพญาไทให้กรมรถไฟหลวง
เพื่อจัดการแก้ไขทำเป็นโฮเต็ลขึ้น... อนึ่ง
เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาเที่ยวประเทศสยามในชั่วเวลาอันน้อย
กับบรรดาพ่อค้าต่างประเทศที่เดินทางไปมานั้น
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างบ้านพักของรถไฟขึ้นที่สถานีหัวลำโพง
อันเป็นสถานีปลายทางซึ่งอยู่ติดต่อกับทำเลค้าขาย
แต่การก่อสร้างที่พักนี้
ได้เริ่มต่อเมื่อพระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว
ถ้าจะพิเคราะห์ดูลักษณะภูมิประเทศของแหลมอินโดจีน ก็จะเห็นได้ว่า
เฉพาะในทางบกแล้ว กรุงเทพฯ
เป็นย่านกลางอันสำคัญของการคมนาคมโดยไม่ต้องสงสัย
เพราะฉะนั้นการที่โปรดเกล้าฯ
ให้จัดสร้างโฮเต็ลรถไฟขึ้นเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร
จึงเป็นพระบรมราโชบายอันสุขุมยิ่ง
และคงจะได้ประโยชน์เกินตัวในปีต่อ ๆ ไปเป็นแน่นอน"
ในด้านของเงินลงทุนนั้น
ยกเว้นเส้นทางสายใต้ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ตามจำนวนที่ผูกพันข้อตกลงไว้กับมลายูของอังกฤษตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
เงินลงทุนในเส้นทางรถไฟสายอื่น ๆ ส่วนใหญ่มาจากเงินคงคลังเป็นหลัก
ทั้งนี้เนื่องมาจากความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งตามนโยบายพัฒนาการเศรษฐกิจของชาติ
ประกอบกับการที่มีเงินคงคลังสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นผลจากงบประมาณแผ่นดินมีฐานะเกินดุลในช่วงระหว่างปีพ.ศ.
2454-2462 เป็นจำนวนเงินรวมถึง 69,032,252 บาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2455 เป็นต้นมาถึงปีพ.ศ.2462
ยอดเงินงบประมาณเกินดุลในแต่ละปีเกินกว่า 3 ล้านบาทตลอดมา
และบางปีสูงถึงกว่า 13 ล้านบาท
ในขณะที่การใช้จ่ายลงทุนด้านกิจการรถไฟในช่วงเวลาเดียวกันนั้น
จำนวนเงินสูงสุดเป็นเพียง 2 ล้านบาทเศษเท่านั้น
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างทางรถไฟสายใหม่
ๆ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เงินคงคลังแทนการกู้เงินเพิ่มเติม
ก็เพราะการกู้เงินนั้นทำให้ต้องตกอยู่ใต้เงื่อนไขผูกมัดของชาติตะวันตก
ดังเช่นในกรณีของทางรถไฟสายใต้ซึ่งประเทศไทยถูกบังคับทาง
อ้อมให้กู้เงินจากรัฐมลายูของอังกฤษ
เหตุผลนี้ปรากฏอยู่ในคำกราบบังคมทูลของผู้ว่าการกรมรถไฟหลวง
เมื่อฝรั่งเศสเจรจาขอให้ไทยสร้างทางรถไฟไปต่อเชื่อมกับอินโดจีนของฝรั่งเศสดังนี้
"ข้อวิตกมีอยู่ในเรื่องเงินทุน
ที่จะต้องต่อหลายสายพร้อมกันเช่นนี้จะมาจากทางใด
หรือจะถูกบังคับให้ยืมกันอีก"
และอีกตอนหนึ่งว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
โดยพระปรีชาญาณอันสุขุมของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ได้ให้ประเทศสยามทำการร่วมศึกกับผู้ที่มีไชยชนะเช่นนี้
ย่อมเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งซึ่งจะหาทางพูดจากับต่างประเทศทุก ๆ
ฝ่าย ให้ประเทศสยามได้รับผลเสมอภาคกับประเทศอื่น ๆ
การคมนาคมของประเทศสยามซึ่งติดต่อกับต่าง ประเทศที่ล่วงแล้วมา
เป็นการที่ประเทศอื่นคิดผลประโยชน์สำหรับประเทศเขา
และเป็นที่บังคับให้ประเทศสยามทำไปโดยมาก
แม้มีโอกาสในคราวนี้ที่จะตรวจตราให้ประเทศสยามมีโอกาส
ในทางซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ สยามได้บ้าง เห็นด้วยเกล้าฯ
ว่าเป็นของดีอย่างยิ่ง"
|