โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
|
|
กรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ(พระยศขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงพระคลังทรงเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งคลังออมสินขึ้นตามมติของที่ประชุมเสนาบดีสภา โดยที่ทำการแห่งแรกของคลังออมสินอยู่ที่กรมพระคลังมหาสมบัติ สังกัดกระทรวงพระคลังฯ ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และการปฏิบัติงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ โดยข้าราชการของกรมนี้ปฏิบัติงานให้คลังออมสินด้วยเพิ่มจากงานประจำ การเปิดทำการเริ่มรับฝากเงินของคลังออมสินนั้น ตามกำหนดจะเป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 แต่เนื่องจากตรงกับวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การเปิดรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปจึงเริ่มในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2456 ดังรายงานของพระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ กราบทูลเสนาบดีพระทรวงพระคลังฯ ต่อไปนี้ ตามประกาศลงวันที่ 1 เมษายน 2456 โปรดเกล้าฯ ให้เปิดคลังออมสินเริ่มรับฝากจากประชาชนขึ้นที่กรมพระคลังฯ เป็นปฐมนั้น ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 เป็นวันปีใหม่ กรมพระคลังฯหยุดทำการตามธรรมเนียม คลังออมสินจึงได้เลื่อนเปิดทำการรับฝากในวันรุ่งขึ้น(วันที่ 2 เมษายน 2456) คลังออมสินในระยะแรกมีการรับเงินฝาก 3 ประเภทคือ 1.ฝากเผื่อเรียก คิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี มีกำหนดให้ถอนได้ไม่เกินอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และจำนวนเงินฝากประเภทนี้จำกัดให้ฝากได้อย่างสูงไม่เกิน 500 บาท 2.ฝากประจำ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และจำกัดให้ฝากได้อย่างสูงไม่เกิน 2,500 บาท 3.ให้ประชาชนซื้อใบกู้เงินของรัฐบาลสยามได้ ไม่เกินคนละ 3,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 4.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ใบกู้เงินของรัฐบาลนี้ปกติจะขายเพื่อกู้เงินตราต่างประเทศ มีราคาเป็นเงินปอนด์ 2 ราคาคือฉบับละ 20 ปอนด์(ประมาณ 270 บาท) และฉบับละ 100 ปอนด์(ประมาณ 3,350 บาท) เงินที่ประชาชนนำมาซื้อใบกู้เงินนี้ตามข้อบังคับสำหรับการตั้งคลังออมสินข้อ 48 กำหนดให้ลงในสมุดคู่บัญชีเป็นเงินฝากเผื่อเรียกไว้ก่อน จนกว่าจะจัดหาซื้อให้ได้ แม้จะทำให้ยอดเงินในบัญชีสูงเกินขีดที่จำกัดไว้(คือ 500 บาท)ก็ตาม และดอกเบี้ยก็จะจ่ายโดยลงในบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกนั้น เนื่องจากคนไทยในยุคนั้นส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักธนาคาร ไม่กล้าหรือไม่ไว้ใจที่จะนำเงินไปฝากกับใครที่ไม่รู้จัก ดังนั้นการที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบธนาคารแพร่หลายออกไปได้จนกลายเป็นแหล่งระดมเงินออมและแหล่งเงินทุนที่สำคัญของประเทศต่อไปได้นั้น จึงต้องพยายามจูงใจให้คนมาฝากเงินโดยไม่ต้องกลัวการโกง หรือไม่ต้องกลัวว่าเงินฝากจะสูญเสีย ด้วยเหตุนี้นับแต่ก่อตั้งเป็นต้นมารัฐบาลจึงรับประกันเต็มที่ต่อเงินฝากของผู้ที่ฝากเงินไว้กับธนาคารออมสิน และในสมุดคู่บัญชีนอกจากจะมีตราครุฑและคำว่าคลังออมสินแล้ว ยังมีข้อความว่า รัฐบาลเป็นประกัน อีกด้วย ในส่วนการนำเงินฝากไปสร้างรายได้เพื่อให้มีเงินสำหรับจ่ายเป็นดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินนั้น คลังออมสินได้ตั้งคณะกรรมการจัดหาผลประโยชน์ขึ้นมีกรรมการประกอบด้วย กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หม่อมเจ้าสิทธิพร นายวิลเลียมสันซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลัง นายเฟอริโก และพระยาไชยยศสมบัติ คณะกรรมการได้ดำเนินการจัดซื้อใบหุ้นกู้ของกระทรวงพระคลังฯที่ยังเหลือขายอยู่มูลค่า 4,940 ปอนด์ และใบหุ้นกู้รายใหม่อีก 5,060 ปอนด์ รวมเป็น 10,000 ปอนด์ ซึ่งจะทำให้ได้รายได้จากดอกเบี้ยของใบหุ้นกู้นี้ เนื่องจากที่ตั้งของคลังออมสินแห่งแรกอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สะดวกที่จะเข้าติดต่อฝาก-ถอนเงิน ดังนั้นจึงได้เพิ่มที่ทำการขึ้นที่กรมศุลกากรอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้การติดต่อสะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากที่ทำการในพระนครแล้ว ในปีพ.ศ.2456 อันเป็นปีแรกแห่งการดำเนินการของคลังออมสินนี้ ยังได้ขยายงานไปเปิดทำการยังต่างจังหวัดที่เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีน อีกด้วยเนื่องจากเป็นเมืองที่มีการค้าขายมาก ดังรายงานของเสนาบดีกระทรวงพระคลังความว่า
|