โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การตั้งคลังออมสินและสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน


เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการเก็บออมซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการก่อตั้งคลังออมสิน จึงได้มีการจูงใจให้เด็กนักเรียนสะสมดวงตราไปรษณียากรจนครบวงเงินฝากขั้นต่ำที่กำหนดไว้คือ 1 บาท แล้วจึงนำมาฝากยังคลังออมสินต่อไป โดยวิธีการเป็นดังในคำกราบบังคมทูลรายงานของเสนาบดีกระทรวงพระคลังต่อไปนี้

“การออมสินเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นการยากที่ผู้มีทรัพย์น้อยจะเก็บไว้ได้ จึงคิดด้วยเกล้าฯ จะฝึกหัดเด็กนักเรียนให้มีนิสัยประหยัดในการใช้จ่ายเป็นสมบัติติดตัว เมื่อมีวัยอันเจริญต่อไปข้างหน้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ปรึกษาหารือกับกระทรวงธรรมการ เห็นชอบตามความดำริข้าพระพุทธเจ้า แต่การที่เด็กนักเรียนนำตัวเงินมาฝากตามข้อบังคับคลังออมสิน คราวหนึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 บาทย่อมไม่สะดวก จึงตกลงเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันจะให้ครูที่สอนประจำโรงเรียน เป็นผู้แนะนำให้เด็กเข้าใจวิธีการของคลังออมสิน แลช่วยเหลือให้เด็กนักเรียนมีโอกาสฝากเงินได้โดยวิธีใช้ฝากด้วยตั๋วตราไปรษณีย์ คือแนะนำให้เด็กซื้อตั๋วตราไปรษณีย์ของกรมไปรษณีย์แลโทรเลข ที่ครูได้รับไปจำหน่ายให้แก่นักเรียนสำหรับโรงเรียนทีละเล็กละน้อย มาปิดลงไว้ในแผ่นกระดาษซึ่งมีนามของนักเรียนผู้นั้น เมื่อครบ 1 บาทแล้วจะได้นำมาฝากคลังออมสินเป็นคราว ๆ”

อย่างไรก็ตาม วิธีการส่งเสริมนี้ได้ผลกับนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นส่วนใหญ่เพราะผู้ปกครองสนับสนุน โดยที่ในปีแรกที่ดำเนินการนั้นนักเรียนที่เข้าร่วมการฝากคลังออมสินโดยสะสมตราไปรษณีย์มีแต่นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชินีเท่านั้น ไม่มีนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกระทรวงธรรมการเลย ดังรายงานของพระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติความว่า

“อนึ่ง เรื่องที่ทรงพระดำริให้นักเรียนฝากเงินคลังออมสินด้วยซื้อตั๋วตราไปรษณีย์ปิดสะสมไว้วันละเล็กละน้อยจนครบบาท แล้วจึงให้ครูนำมาฝากยังคลังออมสินนั้น ตั้งแต่เริ่มจัดการเรื่องนี้มาจนบัดนี้ โรงเรียนที่อยู่ในปกครองของกระทรวงธรรมการยังไม่มีนักเรียนฝากเงินเลย ที่มีจำนวนปรากฏอยู่ในบัญชีว่ามีนักเรียน 98 คนนั้น เป็นนักเรียนในโรงเรียนซึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แลโรงเรียนราชินี ซึ่งผู้ปกครองทั้ง 2 โรงเรียนได้เห็นประโยชน์ในการออมสินแล้ว ….แต่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงการยังไม่ใคร่จะดำเนินดีเหมือนอย่างนักเรียนโรงเรียนราชินี”

เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักฝึกหัดเก็บออมทรัพย์กับคลังออมสินมากยิ่งขึ้น ในปีพ.ศ.2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ กำหนดให้ผู้ที่จะสอบได้วิชาลูกเสือเอกจะต้องเก็บออมทรัพย์ไว้ที่คลังออมสินไม่ต่ำกว่า 5 บาท เพื่อชักนำให้เยาวชนหมั่นเก็บออมทรัพย์มากยิ่งขึ้น ดังข้อความบางตอนจากประกาศเพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พุทธศักราช 2461 ต่อไปนี้

“….มีบางข้อที่ควรจะส่งเสริมให้ยิ่งขึ้น เช่นการอบรมให้รู้จักเก็บหอมรอมริบเพื่อเสียสละช่วยชาติได้เต็มที่ เมื่อถึงคราวในเวลาปกติก็จะได้ไว้สำหรับบำรุงตน ไม่ต้องตกอยู่ในที่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งจะได้ช่วยผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากด้วย ซึ่งในเวลานี้เป็นแต่เพียงสั่งสอนให้รู้ ยังหาได้ทำจริงจังไม่ ทรงพระราชดำริว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะให้ลูกเสือได้แสดงการทำในส่วนนี้จริง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ พ.ศ.2461 ว่า ลูกเสือที่จะนับว่าเป็นลูกเสือเอก นอกจากมีความรู้สอบไล่ได้วิชาลูกเสือเอกตามข้อ 58 ต้องแสดงว่าเป็นผู้รู้จักการออมถนอมทรัพย์ จนเก็บไว้ในคลังออมสินได้ตามที่สภานายกกรรมการจัดการลูกเสือมณฑลกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่า 5 บาท และเงินที่ฝากไว้ในคลังออมสินจะถือว่าถูกต้องตามข้อบังคับ ต้องมีผู้ควรเชื่อรับรองว่า เป็นเงินที่หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือประหยัดไว้ได้จริง ๆ มีบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายประกอบ…”

กิจการของคลังออมสินได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ มีการขยายเปิดที่ทำการคลังออมสิน ณ คลังมณฑลต่าง ๆ เพิ่มจากมณฑลปราจีนอีกมาก และในกรุงเทพฯ ก็ได้เปิดคลังออมสินเพื่อรับฝากเงินเพิ่มขึ้น ณ ที่ทำการไปรษณีย์ และสรรพากรอำเภอต่าง ๆ ในเขตพระนครและธนบุรี ในระยะแรกเมื่อคลังออมสินเปิดทำการรับฝากใหม่ ๆ ประชาชนยังไม่รู้จักประโยชน์ในการที่จะนำเงินมาฝาก เพราะยังขาดความรู้และการให้คำแนะนำของเจ้าพนักงานก็ยังไม่เพียงพอ จำนวนผู้ฝากในระยะแรกนี้จึงยังคงวนเวียนอยู่แต่ในหมู่ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ภายหลังเมื่อการคลังออมสินได้ขยายออกไป ประชาชนได้รู้สึกประโยชน์ของการออมสินดีขึ้น จึงได้มีจำพวกพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน และผู้ที่ประกอบการอื่นมาขอฝากขึ้นบัญชีบ้างเป็นครั้งคราวแต่ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นยังคงเป็นข้าราชการและนักเรียน

ผลการดำเนินการในขั้นต้นนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถดึงดูดให้ราษฎรทั่วไปมาฝากเงินได้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังให้คนในต่างจังหวัดซึ่งขณะนั้นแทบจะไม่มีสาขาธนาคารพาณิชย์จากกรุงเทพฯ ไปตั้งอยู่เลย ได้รู้จักและเข้าใจในระบบธนาคารมากขึ้น และที่สำคัญคือเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนของชาติรู้จักเก็บออมและประหยัด ตลอดจนเรียนรู้ความสำคัญของระบบธนาคารในอนาคต เมื่อคำนึงถึงว่าจำนวนเด็กนักเรียนที่ได้รับการสั่งสอนให้เก็บออมและฝากเงินที่คลังออมสินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากปี พ.ศ.2466 เป็นต้นมา ซึ่งจำนวนนักเรียนที่ฝากเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นถึง 2,044 คน จากที่มีเพียง 612 คนในปี พ.ศ.2465 และในปี พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยนั้น จำนวนนักเรียนที่ฝากเงินกับคลังออมสินเพิ่มขึ้นเป็นถึง 4,206 คน การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักเรียนที่ฝากเงินกับคลังออมสินนี้ ส่วนใหญ่อันเป็นผลจากการกำหนดให้ผู้ที่จะสอบได้ลูกเสือเอกต้องเก็บออมทรัพย์ไว้ที่คลังออมสินไม่ต่ำกว่า 5 บาท นั่นเอง

ผลการดำเนินงานของคลังออมสิน(พ.ศ.2456-2468)

พ.ศ.

จำนวนผู้ฝากคงเหลือ เงินฝาก รายได้ รายจ่าย กำไร
2456 600 135,235 5,800.69 2,064.06 3,736.63
2457 1,380 375,614 9,197.16 8,165.77 1,031.39
2458 1,930 600,695 18,169.24 15,468.42 2,700.82
2459 3,088 988,927 26,530.40 21,765.06 4,765.34
2460 4,052 1,149,559 39,982.98 29,077.16 10,905.82
2461 4,905 1,395,748 41,429.53 33,812.54 7,616.99
2462 5,853 1,488,797 65,085.93 39,012.58 26,073.35
2463 6,271 1,321,757 69,428.06 35,805.10 33,622.96
2464 6,912 1,427,916 74,491.77 35,477.79 39,013.98
2465 7,587 1,606,597 72,039.10 39,108.80 32,930.30
2466 10,708 1,943,209 73,903.35 44,048.31 29,855.04
2467 11,870 2,050,632 90,614.92 51,142.90 39,472.02
2468 12,985 2,237,319 95,794.33 56,229.03 39,565.30

ที่มา: รายงานคลังออมสิน ประจำปี พ.ศ.2468

    หน้า 18   

    หน้า 20   

1