เส้นทางสายโจรสลัด



     การเดินทางไปยังเกาะตะรุเตานั้น เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างจะยาวนานมากทีเดียว เป็นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ที่ผมใช้เวลาในการเดินทางยาวนานที่สุดก็ว่าได้ เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา อ่านเรื่องย่อการเดินทางของผมได้เลยครับ

ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2544
     เริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณสามทุ่ม (ช้ากว่ากำหนดจริง คือหนึ่งทุ่ม) ทัวร์ครั้งนี้มีลูกทัวร์และทีมงานเกือบสี่สิบคนครับ แล้วการเดินทางอันยาวนานก็เริ่มขึ้น มีการแวะเข้าห้องน้ำเป็นระยะๆ เมื่อความมืดมาเยือน ก็เป็นเวลาของการพักผ่อนเพื่อเก็บแรงไว้ใช้ในวันพรุ่งนี้


เสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2544
     เช้าแล้ว หกโมงก็แล้ว เจ็ดโมงก็แล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงสตูลซะที กว่าจะถึงท่าเรือปากบารา และทานอาหารเช้า ก็ปาเข้าไปเกือบสิบเอ็ดโมง หลังจากนั้นเราก็เปลี่ยนยานพาหนะ จากรถบัส มาเป็นเรือ ใช้เวลาในการรอเรือและขนสัมภาระลงเรือสักพักใหญ่ๆ หลายคนที่กลัวจะเมาคลื่น ก็คว้ายามาทานก่อนลงเรือ จากนั้นการเดินทางไกลในช่วงที่สองก็เริ่มขึ้น ต่างคนก็หาทำเลเหมาะๆ นั่งรับสายลมและแสงแดด กินลมชมวิวไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาค่อยๆ ผ่านไป วิวทะเลที่เห็นก็เริ่มไม่มีอะไรให้ดู เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ทะเล เลยหามุมพักสายตากันคนละมุม บางคนที่พกหนังสือไปอ่าน เมื่ออ่านไปสักพักใหญ่ พอเงยหน้าขึ้นมามองวิว ก็มีแต่ภาพทะเลอยู่ตรงหน้า ไปๆมาๆ ก็นอนเหมือนกัน
     และแล้วเราก็เดินทางมาถึงเกาะอาดัง จุดหมายแรกของทริปนี้ ก่อนที่เราจะขึ้นเกาะ ทางเรือได้มีการจอดให้คณะลงเล่นน้ำและดำน้ำดูปะการัง เป็นการทักทายฝูงปลา ก่อนที่จะดำกันจริงๆจังๆ ในวันพรุ่งนี้ เมื่อขึ้นเกาะแล้วต่างก็แยกย้ายกันเข้าที่พักและทำธุระส่วนตัว หลังจากนั้นก็มาเจอกันตอนมื้อค่ำ ที่โรงอาหารของอุทยานฯ หลังอาหารค่ำ ก็มีการเตรียมตั้งวงกินดื่มกันต่อ สำหรับคนที่เตรียมสุรามา ต้องขอบอกว่าควรจะเตรียมมิกเซอร์มาให้พร้อม เพราะที่นี่ไม่มีโซดาจำหน่าย น้ำแข็งก็ค่อนข้างจะหายาก แต่ที่นี่มีเบียร์บริการ จำหน่ายในราคากระป๋องละ 40 บาท น้ำอัดลมกระป๋องละ 20 บาท ก็แล้วแต่จะเลือกทานกันไป หลังจากนั้นเราก็มาล้อมวงร้องเพลงกัน ท่ามกลางบรรยากาศอันบริสุทธิ์ และกลิ่นอายของทะเล ก่อนที่จะกล่าวราตรีสวัสดิ์ แยกย้ายกันไปพักผ่อน

อาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2544
     เช้าแล้วจ้า บางคนที่ตื่นแต่เช้าจะได้เดินขึ้นผาชะโดไปชมภาพพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเล อันแสนสวยงาม และชมทิวทัศน์รอบๆ เกาะ ก็เป็นการวอร์มไปในตัว เพราะความสูงของผาชะโด พอจะทำให้หลายๆ คนเหงื่อตกได้เชียวแหละ หลังจากนั้นก็ลงมาทานอาหารเช้า ก่อนจะเตรียมเสื้อผ้าไปดำน้ำดูปะการังกัน
     ระหว่างทางที่จะไปดำน้ำดูปะการัง ก็จะมีจุดแวะที่น่าสนใจคือ เกาะหินงาม อันเป็นเกาะที่มีชายหาดเป็นหินก้อนกลมๆ สีดำมีลายเป็นเส้นๆ สวยงามมาก โดยเฉพาะเมื่อยามที่ถูกฉาบด้วยน้ำทะเล ก้อนหินจะมีสีดำเป็นมัน ซึ่งไม่มีเกาะใดที่จะมีหาดเป็นหินอย่างนี้ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่น่าแวะอีกจุดหนึ่ง ตอนที่ขึ้นไปเที่ยวบนเกาะ มีทัวร์คณะอื่นอยู่บนเกาะเหมือนกัน บริเวณหาดหินงามจึงคราคร่ำไปด้วยผู้คน แต่มิได้ทำให้ความงามของธรรมชาติลดลงไปเลย สำหรับผู้ที่พิสมัยในความงามของหิน โปรดอดใจ และเก็บไว้แต่เพียงภาพ เพราะมีคำสาปของเจ้าพ่อตะรุเตาเขียนไว้ว่า ผู้ใดที่หยิบหินนี้ไปจากเกาะ จะมีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ มิเช่นนั้น ป่านนี้หินคงใกล้จะหมดหาดไปแล้วหละ
     หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อ ถึงจะดำน้ำจุดแรกเป็นจุดชมปะการังอ่อนที่เกาะจาบัง ขอบอกว่าใครที่ว่ายน้ำไม่เก่ง ควรจะพากันไปเป็นกลุ่ม เพราะจุดนี้น้ำจะค่อนข้างแรง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสำหรับจุดที่มีปะการังอ่อน(ชอบน้ำไหล) เฮ่อ จุดแรกก็ว่ายน้ำซะเหนื่อยแล้ว แต่ไม่เป็นไร คุ้มค่ากับความงามที่ได้ชม หลังจากขึ้นเรือมาผึ่งตัวและพักเหนื่อยแล้ว ต่อจากนั้นก็ไปดำน้ำดูปะการังแข็งและปลาสวยงามที่เกาะยาง จุดนี้ก็สวยงามไม่แพ้จุดแรก เพียงแต่ว่าว่ายน้ำสบายหน่อย เพราะน้ำไม่ไหลไปไหน ความงามใต้ท้องทะเล มีทั้งปะการังอ่อนหลายอย่าง ปลาสวยงามมากมาย ดอกไม้ทะเลและเจ้าปลาการ์ตูน นอกจากนี้ยังมีหอยเม่นมาให้เสียวเล่นอีก
     จากนั้นเราก็ขึ้นมาผึ่งตัวบนเรือ พร้อมกับทานข้าวกลางวัน ระหว่างเดินทางไปยังจุดดำน้ำจุดต่อไป.... ถึงแล้วครับ จุดดำน้ำเกาะราวี เราเริ่มต้นด้วยการลงเรือเล็กเพื่อเดินทางขึ้นเกาะ ชายหาดที่นี่ขาวเนียนสวยงามมากทีเดียว จุดที่ดำน้ำก็อยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งเท่าไหร่ แถมมีพื้นที่กว้างขวางว่ายกันจนเหนื่อยไปข้างนึงเลย พอได้ชมความงามอันหลากหลายของปะการังแข็งหลากหลายชนิด ฝูงปลามากมาย ดอกไม้ทะเล และหอยมือเสือตัวเบิ้ม ก็ว่ายน้ำเข้าฝั่งมานั่งเล่น เฮ่อ ทรายขาวเนียน ลมเย็นๆ ชวนให้เคลิ้มได้ดีทีเดียว เราจึงได้เห็นบางคนสร้างโลกส่วนตัวใต้ร่มเงาไม้ สบายสุดๆ ไปเลย
     ขึ้นเรืออีกรอบ สู่จุดดำน้ำอีกจุดคือเกาะรองกวย ที่นี่ชายหาดสวยมากอีกเช่นกัน แต่ปะการังไม่สวยเท่าที่เกาะราวี เราจึงเห็นหลายคนไม่ยอมลงไปดำน้ำ เปลี่ยนมานอนเล่นบนเรือแทน บางคนก็หาทำเลถ่ายวิวกันไปตามเรื่อง
     หลังจากนั้นก็เดินทางกลับที่พัก เกาะอาดัง ระหว่างทางก็แวะถ่ายภาพคู่กับเกาะหินซ้อน ซึ่งมีหินก้อนใหญ่สองก้อนซ้อนกันอยู่ กว่าจะกลับถึงที่พัก เราก็ได้เห็นภาพดวงอาทิตย์ตกน้ำอันสวยงาม เป็นภาพที่น่าประทับใจมากทีเดียว
     ถึงที่พักแล้ว แยกย้ายกันไปอาบน้ำล้างคราบน้ำทะเล และเกลือที่ติดตามผิว แล้วก็พบกันที่โรงอาหาร ทานมื้อค่ำร่วมกัน หลังจากนั้นก็เป็นเวลาแห่งการสังสรรค์ กิน ดื่ม ร้องเพลง นอนนับดาว เก็บความประทับใจเอาไว้ ก่อนจะกล่าวอำลาค่ำคืนแห่งความประทับ แล้วเอาไปฝันต่อว่านอนอยู่บนเรือ เอ อย่างนี้เค้าเรียกว่าเมาบกมั้ยเนี่ย ??

จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544
     เช้าอีกครั้ง วันนี้มีหลายคนที่ตื่นสายหน่อย เพราะเมื่อวานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน เริ่มต้นเช้าวันนี้ด้วยอาหารเช้าที่โรงอาหารเช่นเดิม หลังจากนั้นก็เตรียมตัวเก็บข้าวของ ย้ายที่พัก คืนนี้เราจะไปพักที่เกาะตะรุเตาครับ ช่วงเวลาก่อนจะขึ้นเรือ หลายคนก็เก็บภาพเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นเราก็กล่าวอำลาเกาะอาดัง เพื่อมุ่งหน้าสู่เกาะตะรุเตา ระหว่างทางก็มีการแวะเที่ยวที่เกาะไข่ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสตูล จุดเด่นคือสะพานหิน ซึ่งเป็นภูเขาที่มีช่องอยู่ตรงกลาง เอ บรรยายไม่ค่อยถูก ดูรูปก็แล้วกัน
ที่เกาะไข่นี้น้ำทะเลจะสวยมาก.........ก หาดทรายสวยสุดๆ เลย ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ใครที่มาเที่ยวตะรุเตา ต้องแวะมาถ่ายรูป มิเช่นนั้นเหมือนกับมาไม่ถึงนะครับ
     หลังจากนั้นเราก็มุ่งหน้าสู่เกาะตะรุเตา เกาะที่เคยเป็นที่กักขังนักโทษอุกฉกรรจ์ และนักโทษการเมืองคดี "กบฎวรเดช" ก่อนที่เราจะแวะชมศูนย์นิทรรศการ ก็ต้องเติมพลังด้วยอาหารกลางวันกันก่อน หลังจากนั้นเป็นโปรแกรมเที่ยวถ้ำจระเข้ เป็นการท่องเที่ยวบนเกาะ ซึ่งต้องนั่งเรือไปตามคลองพันเตมะละกา ระหว่างทางจะเป็นป่าโกงกางและทิวเขาอันสวยงาม เมื่อถึงปากถ้ำ จะมีสะพานศึกษาธรรมชาติพาเราเดินเข้าไปสู่ปากถ้ำ และแล้วเหตุการณ์สุดระทึกก็กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อเดินทางไปจนสุดสะพานไม้ ก็จะเป็นการเดินเข้าถ้ำ ซึ่งมีวิธีเดียวคือการเดินบนน้ำ (ถ้ำนี้มีทางน้ำอยู่ข้างใน เราจะต้องเดินไปตามสะพานที่วางอยู่บนถังน้ำมัน ซึ่งลอยอยู่บนน้ำ) โอ้โฮ เส้นทางที่เดินนี่ช่างน่าหวาดเสียวจริงๆ ทั้งมืด ทั้งโยกเยก ทั้งร้อน ดีที่ว่าจระเข้ในถ้ำนี้ไม่มีแล้ว ไม่งั้นคงมีเรื่องหวาดเสียวเพิ่มขึ้นมาอีก ระยะทางที่เดินบนสะพาน จริงๆ แล้วไม่ไกลเลย แต่บรรยากาศระหว่างทาง ทำให้รู้สึกว่าช่างเป็นเส้นทางที่ยาวเสียนี่กระไร เมื่อเดินไปจนสุดสะพานแล้ว ก็มีทางเดินต่อในถ้ำ ซึ่งภายในถ้ำจะเป็นตินเหนียวๆ เละๆ บางจุดก็เป็นเป็นเนินลื่นๆ เอ่อ มีใครบางคนเข้าไปจับกบในถ้ำจระเข้ด้วย ได้มาหนึ่งตัวใหญ่ๆ เลย ภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยเป็นระยะๆ บางคนมองอยู่ตั้งนาน มองไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร แต่พอเจ้าหน้าที่เค้าบรรยายให้ฟังก็ร้องอ๋อ เห็นเป็นรูปตามที่เค้าบอกทันที ของผมก็พยายามมอง ก็เห็นเป็นรูปเหมือนกัน แต่บางรูปไม่เหมือนกับที่เค้าบรรยาย เอ... หรือว่าจินตนาการเราไม่เหมือนกันเอ่ย กว่าจะเดินจนครบเส้นทาง แล้ววนออกมาสู่ปากถ้ำอีกครั้ง ก็เล่นเอาเหงื่อตก เพราะภายในถ้ำนั้นร้อนมากๆ อากาศก็ค่อนข้างน้อย พอเดินออกมาจนถึงปากถ้ำได้เห็นแสงอีกครั้ง หลายๆ คนต่างถอนหายใจด้วยความโล่งอก
     แล้วเราก็เดินทางออกจากปากถ้ำ ผ่านคลองพันเตมะละกา มาสู่ที่พัก ต่างคนก็แยกย้ายกันไปทำธุระส่วนตัว บางคนก็ลงไปเล่นน้ำทะเลบริวณใกล้ๆ ที่พัก ซึ่งมีชายหาดและน้ำทะเลที่สวยงามมาก ก่อนจะเจอกันอีกทีตอนมื้อค่ำอิ่มเอมกับอาหารทะเลหลากหลาย แล้วไปนั่งฟังบรรยายประวัติความเป็นมาของเกาะตะรุเตา ที่ห้องนิทรรศการของอุทยานฯ จากนั้นก็ไปนอนนับดาวเคล้าสายลมแห่งทะเลอันดามัน ก่อนจะกลับไปนอนหลับฝันดี

อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544
     ตื่นเช้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ บางคนที่แรงยังดี ก็ปีผาโต๊ะบูเพื่อชมวิวทิวทัศน์รอบเกาะตะรุเตา หรือคนที่สนใจธรรมชาติจะเดินชมต้นไม้ และนกหลากหลายกันเพลินๆ ก็ได้บรรยากาศดี หลังอาหารมื้อเช้า ก็เตรียมเก็บข้าวเก็บของอำลาชีวิตชาวเกาะ สู่แผ่นดินใหญ่ต่อไป เมื่อเรือนำเรามาส่งยังท่าเรือปากบาราแล้ว ต่างคนก็ขนข้าวของขึ้นรถ เตรียมพร้อมกับการเดินทางอันยาวนานอีกครั้ง แต่ขากลับได้แวะทานข้าวและซื้อของที่หาดใหญ่ ซึ่งที่นี่แหละที่ผมได้เห็น....เอ่อ.....คุณก็รู้ว่าใคร บนถนนสายหนึ่ง ผมงี้แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยครับ ว่าได้เห็นคุณศุภชัย ณ หาดใหญ่ ตัวจริง หลังจากนั้นก็ต้องปฏิบัติภาระกิจหลัก คือการชอปปิ้ง ตามออร์เดอร์จากกรุงเทพฯ เฮ่อ เล่นเอาเหนื่อยได้เหมือนกันแฮะ ต่อจากนั้นก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ระหว่างทางก็แวะทานข้าวที่สุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นเมื่อความมืดมาเยือน ก็เป็นเวลาแห่งการพักผ่อนอีกคราว แล้วเจอกันที่กรุงเทพฯ

พุธที่ 12 ธันวาคม 2544
     ถึงกรุงเทพฯ ซะที แต่กว่าจะถึงได้ ก็ปาเข้าไปแปดโมงได้ เฮ่อเล่นเอาเหนื่อยเลยเรา แล้วต่างคนก็แยกย้ายกันกลับบ้านอันเป็นที่รักของแต่ละคน เก็บความประทับใจที่ยากจะลืมเลือนกลับไปแบ่งปันให้กับคนที่ยังไม่เคยไป จะได้แบ่งปันความฝันร่วมกัน แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า

 

1