[คัดลอกจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2542]

อีคิว-ความฉลาดทางอารมณ์



ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความสำคัญในด้านงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ได้จัดการอบรมด้านสุขภาพอนามัยสำหรับประชาชนขึ้น เป็นครั้งที่ 204 ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ที่จะถึงนี้ เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมจงจินต์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในหัวข้อเรื่องที่ว่า "โรคของเด็กไอคิวดี อีคิวสูง" ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องทันสมัยน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ในช่วงของประเทศที่ประชาชนจำเป็นต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องแข่งขันกันประกอบอาชีพอย่างเข้มข้นและหนักหน่วงยิ่ง ทั้งเรื่องของไอคิวและอีคิว จึงมีความสำคัญ และดูเหมือนว่าในปัจจุบันนี้ เรื่องของอีคิวน่าจะมีความสำคัญมากกว่าไอคิวเสียด้วยซ้ำ

E.Q. (Emotional Quotient) บางคนเรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ หรือทักษะทางอารมณ์ อีคิวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในบ้านเราไม่มากนัก ในช่วงที่มีวิกฤติทางสังคมและเศรษฐกิจจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้ร้ายหรือผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นคนมีชื่อเสียง มีการศึกษาดีเยี่ยมและมีฐานะดีจนไม่น่าเชื่อว่า เขาจะทำสิ่งที่เลวร้ายได้ขนาดนั้น แต่ก็ได้ทำไปแล้ว ผลทำให้สังคมตื่นตระหนกมากเกิดคำถามขึ้นมาว่า เด็กที่มีสติปัญญาดีเรียนเก่งอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุข

ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำอย่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนคนทำงานธุรกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด หลายคนตกงานเสียขวัญเสียกำลังใจกันมาก บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย หรือหนีสังคมไปเลย คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่มีการศึกษาดี เป็นผู้บริหารระดับสูงเป็นที่รู้จักกันดีในสังคม บางคนเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงระดับนานาชาติยอมรับ เมื่อประสบปัญหาชนิดที่คาดไม่ถึง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงเกิดความทุกข์มาก เสียขวัญกำลังใจ ท้อแท้หมดหวัง ถ้าเขาขาดขวัญ กำลังใจ ขาดสติไม่เข้าใจตนเองและคนอื่นแล้ว รวมทั้งมองโลกในแง่ร้าย โอกาสจะกอบกู้ฐานะชื่อเสียง และประสบความสำเร็จคงจะเป็นไปได้ยาก อีคิวจึงมีบทบาท ในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ ผู้ปกครองในการจัดการเรียนการสอน และในการทำธุรกิจกันมากขึ้น

อีคิว ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และพัฒนาอารมณ์ ให้เป็นปกติสุขได้ไม่ว่าเหตุการณ์รอบข้างจะเป็นอย่างไร อีคิวเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนได้จากการอบรมเลี้ยงดู การฝึกฝนทุกช่วงชีวิต คนที่มีอีคิวไม่ดีจะไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจคนอื่น ไม่ยอมรับความจริง เอาแต่ใจตนเอง ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในใจตนเองได้

ปกติคนเราจะมีความโกรธ เครียด ผิดหวังได้ทั้งนั้น แต่คนที่มีพื้นฐานอารมณ์ ไม่ดีอยู่แล้ว อาการต่างๆ จะมาก และนานกว่าคนปกติ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จึงพบว่าคนเก่งๆ แต่ประสบความล้มเหลวในการประกอบกิจการงาน ชีวิตครอบครัวและความสัมพันธ์กับผู้อื่นบ่อยๆ เฉพาะความเก่งหรืออีคิวอย่างเดียวคงไม่ทำให้ประสบความสำเร็จได้

E.Q. ดีประกอบด้วย

1. รู้จักตนเอง รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนเองและยอมรับได้ มีเป้าหมายชีวิต ต้องการอะไรในชีวิต

2. รู้อารมณ์ของตนเองเมื่อดีใจ เสียใจ รู้สึกอย่างไร ไม่เก็บกดจนทำให้เกิดปัญหาจิตใจตามมา ควบคุมอารมณ์ได้ โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกโกรธ หรือผิดหวัง คนที่ไอคิวดี จะสามารถควบคุมอารมณ์เหล่านี้ได้ดี เมื่อจิตใจสงบ ก็จะสามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
รู้จักบริหารอารมณ์ขอตนเอง คนปกติจะมีอารมณ์โกรธ ดีใจ เสียใจ เครียดกันได้ทั้งนั้น บางวันอาจจะเกิดอารมณ์ได้ หลายรูปแบบแล้วแต่สิ่งที่มากระตุ้นประสาทสัมผัส ถ้ารู้จักระบายออกในทางที่ถูกที่ควรไม่หมกมุ่นกับอารมณ์เหล่านี้ มากเกินไปก็จะสามารถหลุดพ้นจากอารมณ์นั้นเร็วขึ้น ทุกข์ก็จะลดลง

3. ทำให้ตนเองมีพลัง มีแรงจูงใจ ที่จะทำกิจการงาน ให้ประสบความสำเร็จ คนที่มีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมานะพยายามรู้ว่า ความสำเร็จไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้มาง่ายๆ สิ่งเหล่านี้ขึ้นกับการอบรมเลี้ยงดูและวัฒนธรรมในการทำงาน การดำรงชีวิตของแต่ละชาติ ภาษา อยู่มาก

4. เข้าถึงจิตใจของผู้อื่น การที่จะเข้าใจเห็จใจผู้อื่นได้นั้น คนๆ นั้นต้องเข้าใจตัวเขาเอง รู้จักตัวเองก่อนจึงจะเข้าใจผู้อื่นได้ ซึ่งจะต้องอ่านความรู้สึกจองคนอื่นเป็น อ่านภาษากาย คือท่าทางการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้อื่นเป็น และมีความรู้สึกว่าถ้าเราเป็นเขาจะทำอย่างไร

5. รักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีการติดต่อคบค้าสมาคมซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือส่วนรวมสัมพันธภาพยืนยาวได้ต้องรู้จักสร้าง และรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ โดยมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักแสดงความรู้สึกดีๆ ต่อผู้อื่นในเวลาอันสมควร

คนที่มีอีคิวสูงแสดงออกโดยเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับคนอื่นได้ดี รู้จักการทำงานเป็นทีม สามารถสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ ได้ และรักษาให้ยืนยาว รู้จักเห็นอกเห็นใจเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นเป็นอย่างดี เมื่อเกิดปัญหาในชีวิตรู้จักจัดการกับปัญหาอย่างสรรค์สร้าง ไม่จมอยู่กับความเศร้านานเกินไป ไม่ท้อแท้หรือท้อถอย ความรู้สึกเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นบางครั้งบางคราวได้ เมื่อพบกับปัญหาอุปสรรคในชีวิต แต่สามารถหาทางออก ให้กับตนเองได้ด้วยดีโดยไม่ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น คือ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์นั้นเอง รวมทั้งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดี อีคิวอาจจะไม่มีความสัมพันธ์กับไอคิว หรือระดับความฉลาดเลย

คนที่มีไอคิวสูงแต่ล้มเหลวในชีวิต เพราะมีวุฒิทางอารม์ต่ำ หรืออีคิวต่ำทำให้เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดี ไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่กดดันอยู่ รวมทั้งไม่เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของคนอื่น มุ่งแต่สนองความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกันจึงเป็นไปได้สูงมาก พูดจาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ดี เพราะขาดทักษะ บางครั้งไม่ได้เจตนาจะพูดร้าย พูดไม่ดี แต่การสื่อสารบกพร่อง ก็ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ เขาจึงไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต บางครั้งขาดความเชื่อมั่นตนเองไปเลย จึงต้องอยู่ในโลกของตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตถึงแม้จะฉลาดก็ตาม

ไอคิวและอีคิว

I.Q. (Intelligence Quotient) ระดับเชาวน์ปัญญา เป็นคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา วัดความสามารถของบุคคลโดยเอาไปเปรียบเทียบ กับคนกลุ่มที่มีลักษณะและระดับอายุเดียวกัน ว่าเขามีความสามารถมากน้อยเพียงใด อยู่ในระดับต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

I.Q. เป็นเรื่องของความสามารถของสมองเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของสมอง การเจริญเติบโตของสมอง ความปราศจากโรค ปราศจากความกระทบกระเทือนใดๆ ของสมองร่วมกับการทำงาน ของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายที่ช่วยสนับสนุนให้สมองเติบโตเจริญไว ได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงภาวะแวดล้อมทุกประเภท ที่เอื้ออำนวยให้สมองเจริญสุดขีด ตามความสามารถของแต่ละสมอง แสดงออกในแง่ของเชาว์ปัญญา ความฉลาด ความสามารถในการเรียน การรู้ การจำ การนำมาดัดแปลง คิดค้นจนนำมาปฏิบัติเป็นผลงาน เป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ และอาจก่อเป็นรายได้

อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าไอคิวที่วัดได้ คืออะไรกันแน่ เพราะสติปัญญาของมนุษย์ไม่ได้คงที่ แต่เปลี่ยนไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ข้อสอบเชาวน์แต่ละแบบ ก็ให้ค่าไอคิวของเด็กคนเดียวกันไม่เหมือนกัน การบอกคะแนนไอคิว ควรจะบอกชนิดแบบทดสอบที่ใช้ด้วย โดยทั่วไปแล้วในคนปกติ ค่าไอคิวจะอยู่ระหว่าง 90-110 ต่ำกว่า 70 ไม่ดี ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป ปัญญาดี การแบ่งระดับเชาวน์ปัญญามีดังนี้

ระดับเชาวน์ปัญญากับค่าไอคิว

ค่า I.Q. ลำดับความสามารถของเชาวน์ปัญญา
130 และสูงกว่า ดีเลิศ (Very Superior)
120-129 ดี (Superior)
110-119 ค่อนข้างดี (High Average)
90-109 เฉลี่ย (Average)
80-89 ค่อนข้างด้อย (Low Average)
70-79 คาบเส้น (Borderline)
69 และต่ำกว่า ปัญญาอ่อน (Mentally Deficient)

ทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเด็กฉลาดอยู่บ้าง เป็นต้นว่า บางคนเชื่อว่าเด็กยิ่งฉลาดก็ยิ่งฉลาด พฤติกรรมไม่เหมือนชาวบ้านหรือเชื่อว่า เด็กฉลาดต้องตัวเล็ก ผอม สายตาสั้น ไม่เก่งด้างกีฬา ท่าทางอมทุกข์ เงื่องหงอย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเด็กฉลาดก็เหมือนกับเด็กปกติทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือ ฉลาดกว่าเท่านั้น

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


ขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

home
home
1