พาวัยรุ่นฝ่าโค้งอันตราย
ได้อ่านเจอในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับที่ 8277 เขาพูดเกี่ยวกับปัญหาที่พบในวัยรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียวเพราะวัยรุ่นไทย 663,290 คน เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
41 % ของเด็ก ม.1-ม.3 เคยมีความคิดอยากตาย วัยรุ่นชายมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปีโดยเฉลี่ย และวัยรุ่นหญิงในเมืองร้อยละ 50 มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
เหล่านี้เป็นข้อมูลจากการทำโพลและการทำวิจัยของผู้ทำงานเกี่ยวกับวัยรุ่น เป็นเรื่องจริงที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในท่ามกลางสังคมยุคปัจจุบัน โลกของวัยรุ่นมีสิ่งน่าเป็นห่วงอยู่มากมาย ทั้งยาเสพติด อันธพาล เซ็กซ์ ความเครียดจากการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายในการเรียน ฯลฯ
หากถามปมปัญหาเหล่านี้ คงหนีไม่พ้นคำว่า ครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่กำลังก้าวสู่ความเป็นวัยรุ่น ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องฮอร์โมนสูง ยิ่งต้องการความรัก ความเข้าใจจากครอบครัวมากกว่าปกติ จึงเป้นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่จะต้องช่วยลูกให้ข้ามพ้นช่วงเวลาอันน่าหวาดเสียวนี้ไปให้ได้ หากไม่อยากให้ลูกต้องทนทุกข์และเป็นปัญหาของสังคมต่อไปในอนาคต
การสอนให้เขารู้จักเลือกเส้นทางที่ถูกต้องด้วยตนเอง นับเป็นสิ่งสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ ต้องปลูกฝัง ด้วยกลวิธี(ที่ไม่ยากจนเกินไป)ดังต่อไปนี้
ไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนของลูก แม้คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำงานเป็นเกลียวแต่ก็ควรหาเวลาไปนั่งเชียร์ลูกที่ขอบสนามหรือข้างเวทีบ้าง เพื่อให้เขารู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญมากกว่างานและสิ่งอื่นใด
แต่ถ้าลูกไม่สนใจกีฬาหรือกิจกรรมใด ๆ เลย ควรพยายามส่งเสริมเรื่องเหล่านี้แก่เขา เพราะมันจะช่วยหรือยกระดับความนับถือตนเอง (self-esteem) ซึ่งจะทำให้เขารู้จักเลือกสิ่งดีให้กับชีวิต
ให้ความรับผิดชอบ เป็นของขวัญสำหรับความเติบโต วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความเชื่อถือจากพ่อแม่ ดังนั้นสิ่งที่น่าจะให้กับลูกในวันที่เขาเติบโต คือคำพูดหรือท่าทีที่แสดงให้เขารู้ว่า "ลูกคือคนที่พ่อแม่เชื่อใจ ถึงเวลาแล้วที่ลูกสามารถรับผิดชอบตัวเองได้"
โดยอาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ให้เงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ และให้เขาจัดแจงการใช้จ่ายของตนเอง หรือให้เขาเป็นผู้จัดแจงการใช้จ่ายของตนเอง หรือให้เขาเป็นผู้วางแผนการไปเที่ยวพักผ่อนของครอบครัว ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้จำทำให้เด็กกลายเป็นนักแก้ปัญหาชีวิตที่ดีในอนาคต
เป็นพ่อแม่ในบทผู้ให้คำปรึกษา เพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดใช้ไม่ได้ผลกับวัยรุ่นเขาไม่ต้องการพ่อแม่ที่ทำตัวเหมือนผู้คุม หรือใช้บทบาทแบบผู้จัดการ (parent-as-manager role) แต่ปรารถนาพ่อแม่แบบที่จะเป็นที่ปรึกษา (parent-as-consultant role)ให้คำแนะนำเขาได้
ช่วยลูกตั้งเป้าหมายของชีวิต เริ่มจากระยะสั้น ๆ ก่อน ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ จากนั้นค่อยให้กำลังใจและช่วยสนับสนุนให้ลูกเดินไปสู่เป้าหมายนั้น เมื่อทำได้สำเร็จ เขาจะได้เรียนรู้คุณค่าของตนเองและมีความมั่นใจในการตั้งเป้าหมายต่อ ๆ ไปแต่สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรลืมคือ บอกลูก(และย้ำกับตนเอง) ให้เข้าใจว่า มีถนนหลายสายที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จ และไม้บรรทัดที่ใช้วัดความสำเร็จนั้นมีหลายอัน
สอนลูกให้เป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้เขาได้รู้จักคุณค่าและเป็นตัวของตัวเอง ส่งผลให้เขาสามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหมู่เพื่อน และกล้าที่จะปฏิเสธเพื่อนในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ฟังลูก ข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องย้ำนักย้ำหนา เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่พ่อแม่บอกและสอนลูกนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย หากปราศจากซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่รู้จักฟังเขา
มีคนพูดไว้ว่า "เราจะไม่ฟังคนที่เราไม่สนใจไยดีด้วยหรอก"
แน่นอนว่ากับลูก พ่อแม่ไม่รู้สึกอย่างนั้นแน่ ๆ เพราะฉะนั้นจง
. ฟัง
.
ถ้าไม่ต้องการให้ลูกตกลงไปในโค้งอันตราย ก็ไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้