วัยรุ่น

พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล


วัยรุ่นเป็นวัยที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงมากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าหากเราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กวัยนี้อย่างดีพอ ก็จะเป็นการช่วยลดภาวะความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่และเด็ก ทั้งจะช่วยให้เด็กสามารถเดินทางไปตามแนวที่ถูกที่ควร

โดยทั่วไปวัยรุ่นแบ่งเป็น 2 ระยะคือ วัยรุ่นตอนต้น (ช่วงอายุ 10-14 ปี) และวัยรุ่นตอนปลาย (15-19 ปี) วัยรุ่นแต่ละช่วงอายุจะมีความแตกต่างในความรู้สึกนึกคิด ร่างกาย ลักษณะอารมณ์ การปรับตัวและความสัมพันธ์กับบิดามารดา และการมีสัมพันธ์กับเพื่อน จึงได้แบ่งวัยรุ่นออกเป็น 3 ระยะคือ
วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลาย ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะวัยรุ่นตอนต้น

วัยรุ่นตอนต้น

วัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และเริ่มมีลักษณะของความเป็นหนุ่มสาว
การย่างเข้าสู่วัยรุ่นและระยะเวลาของวัยรุ่น แตกต่างกันไปตามลักษณะของเด็กเอง กรรมพันธุ์ เศรษฐฐานะ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา เด็กที่จบการศึกษา ชั้นประถมและไม่ได้เรียนต่อ แต่มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว จะเข้าวัยหนุ่มสาวเร็วและมีโอกาสมีครอบครัวได้เร็ว

ปรากฏการณ์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง เมื่อเข้าวัยรุ่นมีดังนี้คือ

  1. เด็กหญิงจะเติบโตเป็นสาวเร็วกว่าเด็กชายประมาณ 1-2 ปี
  2. อัตราการเจริญเติบโตต่างกันมาก การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจในเรื่องความนึกคิด และสังคมจะพัฒนาใกล้เคียง และสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของร่างกาย
  3. เด็กหญิงจะเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 1 ปี ก่อนมีประจำเดือนครั้งแรก และต่อไปจะเติบโตสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยประมาณ 2-4 ปี ฉะนั้นเด็กหญิง จึงเติบโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 15-17 ปี ในขณะที่เด็กชาย จะเจริญเติบโตรวดเร็ว ภายหลังน้ำอสุจิหลั่ง เช่น จากฝันเปียก หรือจากสำเร็จความใคร่ตนเอง หลังจากนี้จะเติบโตไปได้อีกบ้างในช่วง 4-8 ปี และร่างกายโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 19-21 ปี ในปัจจุบันเด็กเติบโตเป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้น เนื่องมาจากโภชนาการที่ดีขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายและมีการกีฬามากขึ้น

วัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่ร่างกายเจริญเติบโตเร็ว เมื่อเด็กเริ่มเข้าวัยรุ่น เนื่องจากการทำงานของระบบฮอร์โมนได้ทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงมาก โดยเฉพาะคอ แขน และขามากกว่าลำตัว และเติบโตสูงเร็ว จนทำให้มีความเก้งก้าง นอกจากนี้การเติบโต อาจจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เช่น ซีกขวาเจริญเติบโตมากกว่าซีกซ้าย เป็นต้น อาจทำให้วัยรุ่นและพ่อแม่วิตกกังวล แต่ที่จริงแล้วในที่สุดจะเติบโตปรกติเท่ากัน

ในเด็กหญิงจะมีไขมันสะสมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่เต้านม และสะโพก มีขนรักแร้และที่อวัยวะเพศ เด็กชายจะมีกล้ามเนื้อเจริญ และพละกำลังเพิ่มขึ้น อวัยวะเพศขยายโตขึ้น เริ่มมีการหลั่งน้ำกามหรือฝันเปียก มีขนที่รักแร้และอวัยวะเพศ แล้วจึงมีเสียงเปลี่ยนเป็นห้าวขึ้น มีหนวดและขนตามตัว และสามารถตรวจพบน้ำเชื้อ (Sperm) ในปัสสาวะเด็กชาย ตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ต่อมไขมันใต้ผิวหนังและต่อมเหงื่อจะทำงานมากขึ้น เนื่องจากถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนทางเพศ ทำให้วัยรุ่นมีปัญหาเกี่ยวกับสิวและกลิ่นตัว ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตรวดเร็วในช่วงนี้ จะกินจุมากขึ้น และร่างกายอาจต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นถึง 3000-4000 กิโลแคลอรี่ต่อวันก็ได้ ทำให้บางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

การเข้าสู่วัยรุ่นและการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่เท่ากันในแต่ละคน บางคนเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว ทำให้เกิดความกังวล เด็กหญิงอาจรู้สึกอึดอัดประหม่า อายต่อสายตาผู้อื่น ทำให้ขาดความมั่นใจไปเมื่อเทียบกับเด็กหญิงที่เข้าสู่วัยสาวช้ากว่า ที่ทำให้มีเวลาปรับจิตใจเตรียมตัวในการเปลี่ยนแปลง เด็กชายที่เข้าสู่วัยหนุ่มเร็วมีภาษีดีกว่า ในเชิงความสามารถทางการทำงาน พึ่งตนเอง และการกีฬา แต่ในเด็กชายที่ยังตัวเล็ก มีการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่วัยหนุ่มช้า กลับรู้สึกกังวลไม่มั่นใจ มีความภาคภูมิใจต่ำ อาจทำให้มีปมด้อยต่อไปได้

การที่วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงมากทางร่างกาย ทำให้วัยรุ่นมีความวิตกังวลเกี่ยวกับร่างกายตนเอง และให้ความสนใจตนเองอย่างมาก เด็กจะรู้สึกไวต่อสายตา ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น ความรู้สึกที่แตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้เด็กไม่สบายใจ เด็กวัยนี้จึงชอบที่จะมีอะไรที่เหมือนกลุ่มเพื่อน ความสนใจตนเองอาจทำให้เด็กทำอะไรเชื่องช้าไป เช่น การแต่งตัว การอาบน้ำและอาจวิตกกังวลได้มากๆ ถ้ารู้สึกว่าตนมีความผิดปกติ เช่น ไม่สูง มีสิวที่หน้า เป็นต้น

สภาพอารมณ์ของเด็กช่วงนี้ จะเปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว หงุดหงิด วู่วาม แปรปรวน โดยเฉพาะในผู้หญิง และมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าวได้ในเด็กชาย นอกจากจะมีสาเหตุการเปลี่ยนแปลง ของร่างกายและฮอร์โมนเพศแล้ว เด็กยังกังวลและกลัวต่อการ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบมากขึ้นและเป็นอิสระ แต่ความรู้สึกนี้จะผันผวนทั้งอยากเป็นและไม่อยากเป็น ทำให้เป็นต้นเหตุอย่างหนึ่งของความไม่สงบทางอารมณ์ได้

เมื่อเข้าวัยรุ่น เด็กเริ่มแยกตัว ไม่ชอบไปไหนกับพ่อแม่ ชอบที่จะทำอะไรเอง ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว บางครั้ง อยู่บ้านก็แยกตัวอยู่ลำพัง ในขณะที่เด็กต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัว เด็กจะต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วยเสมอ เด็กที่ต้องการอิสระแต่ไม่รู้จักรับผิดชอบ และยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ดีพอ จะเป็นปัญหาได้อย่างมาก ทำให้เป็นผลเสียต่อการเรียนและความประพฤติ

อาจถูกชักนำไปในทางที่ผิดได้ง่าย และเป็นเหตุทำให้เกิด ความขัดแย้งกับพ่อแม่และผู้ปกครองหรือครูได้บ่อย

ความสัมพันธ์กับบิดามารดา

แม้ว่าวัยรุ่นต้องการเป็นตัวของเขาเองและเอนเอียง ไปทางเพื่อนมากกว่าก็ตาม เขาก็ยังต้องการพึ่งพ่อแม่อยู่ ฉนั้น วัยรุ่นตอนต้นจึงเป็นวัยที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ควรจะควบคุมให้มากกว่าวัยรุ่นตอนปลาย ทั้งนี้เพื่อให้เขา ได้ปรับตนเองและสามารถควบคุมตนเองและดำเนินชีวิตได้ถูกต้องต่อไป เด็กวัยนี้จะมีความคิดเห็นกว้างขวางขึ้น รับรู้และรู้จักความเป็นไปในชีวิตมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นข้อขัดแย้งกับพ่อแม่ได้บ่อย ถ้าความผูกพันและการเลี้ยงดู ในวัยเด็กเรื่อยมาจนโตเป็นไปต่อกันด้วยดี และวัยรุ่นมีความเคารพ รักพ่อแม่เป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างก็จะไม่รุนแรง เด็กวัยนี้จะขอสิทธิของตนหลายอย่าง และจะทดสอบผู้ใหญ่ ฉะนั้นผู้ใหญ่จึงต้องหนักแน่นในการพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผล ที่จะปฏิบัติกับวัยรุ่น มีหลายครั้งที่เขาทำไปเพื่อดูปฏิกิริยาของผู้ใหญ่มากกว่า จึงเป็นวัยที่ผู้ใหญ่ควรสนทนาปรึกษาปัญหาร่วมกันกับวัยรุ่น วัยนี้จะมีปัญหาเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น การที่รับปากแล้วไม่ทำ ไม่ขยันเรียนเท่าเดิม เพ้อฝันบ่อยๆ เป็นต้น

การคบเพื่อน

ในระยะวัยรุ่นตอนต้น เด็กจะยังคบเพื่อนคลุกคลีสนิทสนม อยู่ในกลุ่มเพศเดียวกัน การมีเพื่อนสนิทหรือเพื่อนคู่หูในวัยนี้ เป็นลักษณะสำคัญและจำเป็น ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้บทบาทและกฎเกณฑ์ของสังคม อันเป็นรากฐานของมนุษยสัมพันธ์ที่จะรู้จักผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อนต่อไปได้ และทำให้สร้างสัมพันธ์คบกันอย่างดีต่อไปเมื่อผู้ใหญ่ แต่ถึงกระนั้น วัยรุ่นช่วงนี้ยังมีลักษณะของเด็กอยู่ คือ ยังเอาแต่ใจตนเองบ้าง ยึดความคิดและเอาตนเป็นศูนย์กลาง แต่จะค่อยๆ ปรับเป็นการรู้จัก เอาใจเขามาใส่ใจเราได้เพิ่มขึ้น ลดการเอาแต่ใจของตนเองลง มีความรู้สึกเห็นใจช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้นและทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นลักษณะที่จะนำไปสู่การบรรลุภาวะทางอารมณ์ได้

การมีเพื่อนและการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาทางจิตใจ วัยรุ่นจะเลือกคบเพื่อน ที่มีลักษณะคล้ายตน ฉะนั้นพื้นฐานเบื้องต้นจึงสำคัญมาก ที่จะนำเด็กไปสู่ทิศทางใด การที่เพื่อนทำให้เด็กได้ห่างจากพ่อแม่ มีความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระพึ่งตนได้มากขึ้น และทำให้ได้เรียนรู้บทบาทการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเพศของตน เรียนรู้บทบาทในสังคมทั้งการเป็นผู้นำและผู้ตาม มีความมั่นคง ภาคภูมิใจและนับถือตนเองได้ ในทางตรงข้าม ถ้าวัยรุ่นบางคนที่แยกตัว ไม่มีเพื่อนสนิทเข้ากับใครไม่ได้ จะกลายเป็นคนมีปัญหา ขาดทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ มองตนเองในทางลบ อาจมีอารมณ์เศร้า เป็นปมด้อย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคจิต โรคประสาทหรือติดยาเสพย์ติด หรือเข้ากลุ่มเด็กเกเรที่มาชักจูง และยอมรับตนได้ง่าย

ความสนใจเรื่องเพศ

ความสนใจเรื่องเพศในช่วงต้นจะเป็นไปในทางอ้อม เช่น เด็กหญิงจะค่อนขอดว่ากล่าว เด็กชายต่อล้อต่อเถียงวิพากษ์วิจารณ์ เด็กชายก็ยังไม่สนใจเพศตรงข้ามจริงจัง แต่จะชอบมาล้อเลียน เย้าแหย่ ดูถูก กล่าวหาอ่อนแอ เป็นต้น แต่เด็กบางคนอาจแสดง ความสนใจเปิดเผย บางคนฝันกลางวันสำเร็จความใคร่ตนเอง สนใจร่างกายตนเอง สนใจจับกลุ่มอ่านหนังสือทางเพศ หรือดูภาพลามก พูดตลกสัปดน พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น โดยสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งผู้ใหญ่ควรเข้าใจและเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ แนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เบี่ยงเบนความรู้สึกขับดันภายในไปในทางกีฬา การงานในชีวิตประจำวัน กิจกรรมดนตรี การออกกำลัง ความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศในช่วงนี้เป็นเรื่องการทดลองคบหา มากกว่าความรักชอบพออย่างแท้จริง

อารมณ์รักร่วมเพศ

ในช่วงนี้จะเป็นเพียงความรู้สึกชั่วคราว และเมื่อบทบาททางเพศของตน เข้มแข็งมั่นคงขึ้นก็จะหายไปได้เอง บางครั้งวัยรุ่นจะมีอาการคลั่งไคล้นิยมบูชา กับบุคคลบางคนที่มีความเด่นมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง นักกีฬา ครู หรือเพื่อนรุ่นพี่ บุคคลเหล่านี้เป็นแบบฉบับที่วัยรุ่นชื่นชอบ อยากเลียนแบบ จึงจัดเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่ทำให้เกิดอุดมคติของตนเอง ลักษณะนี้จะค่อยคลายลงได้ เมื่อเด็กมีสิ่งอื่นเข้ามาเป็นที่สนใจใหม่ ในขณะที่เป็นนั้น ผู้ใหญ่ไม่ควรไปขัดแย้ง ประณาม ห้ามปรามหรือลงโทษ แต่ควรพยายามเข้าใจและพยายามชักจูงด้วยวิธี ที่นุ่มนวล เพื่อดึงเขาห่างมาจากบุคคล หรือความสนใจนั้น และหาบุคคลอื่น หรือเพื่อนวัยเดียวกันที่จะสามารถสร้างสัมพันธ์กับเด็กได้ดีแทน

เมื่อเด็กย่างเข้าวัยรุ่น สติปัญญาจะเพิ่มมากขึ้น และสามารถคิดได้เป็นระเบียบ เขาสามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล เข้าใจตามความจริงมากขึ้น มีความคิดจินตนาการไกลได้ถึงอนาคต สามารถวิเคราะห์และประเมินวิจารณ์เรื่องราวอ้างเหตุผล และนำทฤษฎีมากล่าวได้ แต่ถึงกระนั้นตาม ความคิดของวัยรุ่น ก็ยังขาดประสบการณ์และมองสิ่งต่างๆ แคบ มีความเพ้อฝันในการแก้ปัญหา และยึดกับอุดมการณ์เกินไปเชื่อมั่นในความคิดของตนมาก และยังให้ความสำคัญกับความคิดของตนเอง และยากที่จะยอมรับว่า ตนไม่ถูกต้องหรือแตกต่างจากผู้อื่น ลักษณะเหล่านี้ทำให้วัยรุ่น มีความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ได้เสมอ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เขามีประสบการณ์มากขึ้น ได้เรียนรู้ความผิดความถูกต้องเอง และมีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น ความยึดมั่นในตนเองจะค่อยๆ ลดลง

ความคิดของวัยรุ่นจะมีความสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น การเขียนบท โคลง กลอน ทุ่มเทความสนใจในทางการกีฬาดนตรี และงานอดิเรกที่เขาชอบ ซึ่งถ้าวัยนี้ วัยรุ่นมีความคิดทางลบ เช่น มีปมด้อย คิดอยากลองทำในสิ่งที่เป็นอันตรายหรือคิดทำอะไรโลดโผน จะเป็นอันตรายต่อตัววัยรุ่นเอง

นอกจากนี้ ความสำคัญของวัยรุ่นคือ การที่เขาจะต้องคำนึงถึง อนาคตและการเลือกอาชีพ หรือวิชาชีพต่อไป ฉะนั้นวัยรุ่นจะเริ่มสนใจว่า ตนมีความถนัดทางใด ชอบไปทางไหน อยากเป็นอะไรและมีแนวโน้มไปทางใด ตามความสามารถและความชอบของตน ความนิยมชมชอบนับถือบุคคลใด มีความสำคัญมาก ในการเป็นอิทธิพลจูงใจเด็ก ฉะนั้นเด็กจะเลือกเป็น อย่างพ่อแม่หรือไม่ หรือเป็นอย่างญาติ อย่างครู หรือนำใครมาเป็นแบบอย่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการเป็นแบบฉบับให้วัยรุ่น ถ้าวัยรุ่นไม่มีบุคลใด ที่จะใกล้ชิด ศรัทธา เชื่อถือโดยมีความรักความมั่นใจเป็นพื้นฐานแล้ว จะทำให้วัยรุ่นเบี่ยงเบนไปในกลุ่มแบบอย่างไม่ได้ การหันหาเครื่องประโลมใจ โอกาสที่จะเกเร ติดสารเสพย์ติด เสี่ยงอันตราย หรือมีความสัมพันธ์ กับเพื่อนต่างเพศก่อนวัยอันควรจะเป็นไปได้มาก

วัยรุ่นบางคนอาจจะมีระยะเวลาสั้นๆ ที่ตนเองรู้สึกเหมือนกับว่า ตนอยู่ห่างจากคนอื่นๆ เหมือนอยู่คนเดียวในโลก บางครั้งมีความรู้สึก เหมือนกับว่าจะควบคุมความคิดตนเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดชั่วครั้งชั่วคราว ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นในวัยรุ่นได้เสมอและจะเกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ลัทธิการเมือง ปรัชญา ฉะนั้น วัยรุ่นที่ปรับตัวได้ดี จะไม่หมกหมุ่นกับความคิดของตนเองเกินไป แต่จะใช้พลังงานไปในการเรียน การกีฬา การทำงานเพื่อส่วนรวมมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะจะเกิดจิตสำนึกที่อยากจะทำงานเสียสละเพื่อส่วนรวม

พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล

[ คัดลอกจากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 315 พฤษภาคม 2541
ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่ ]
บทเรียนสอนใจชีวิตคู่
1