แนวทางการศึกษาต่อเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ( ชั้น ม.3 )
การศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ระดับการศึกษาสายอาชีวศึกษา
สำหรับการศึกษาหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วนั้น จะเป็นการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพและหรือเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับสูงหรืออุดมศึกษาต่อไป
หรือ 2 ทางเลือก ใหญ่สำหรับการศึกษาต่อหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเลือกศึกษาต่อได้หลายแนวทางดังนี้
1. ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ( ม.4 - ม.6 )
2. ศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา
3. ศึกษาต่อสายพยาบาลและสาธารณสุข
4. ศึกษาต่อสายทหาร
5. ศึกษาต่อสายนาฏศิลป์ ดนตรี - ขับร้อง
6. ศึกษาต่อสายวิชาชีพในสถาบันอื่น ๆ
6.1 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
6.2 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
6.3 วิทยาลัยช่างศิลป์
6.4 โรงเรียนช่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
6.5 โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ
6.6 วิทยาลัยในวัง โรงเรียนผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ
6.7 สถานศึกษาสังกัดกองการศึกษาอาชีพ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
6.8 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย
6.9 สถาบันฝึกอาชีพในสังกัดหน่วยงานของรัฐบาลและของเอกชน
การศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ
การศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ (ม.4 , ม.5 , ม.6) จะใช้เวลาเรียน 3 ปีการศึกษา การศึกษาในสายสามัญผู้เรียนจะต้องเรียนวิชาบังคับแกน (วิชาสามัญที่ทุกคนต้องเรียน) วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี (วิชาที่ผู้เรียนเลือกตามความสนใจและตามเงื่อนไขที่โรงเรียนกำหนด ซึ่งได้แก่ วิชาสามัญ วิชาพิ้นฐานอาชีพ วิชาชีพ) บางโรงเรียนอาจกำหนดแผนการเรียนหรือกลุ่มวิชาเลือก โดยสรุปแล้วอาจแบ่งวิชาเลือกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. กลุ่มวิชาภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์
วิชาเลือก ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาอาหรับ ภาษาบาลี สังคมศึกษา แนวทางการศึกษาต่อสำหรับผู้ที่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มวิชาเลือกกลุ่มนี้ อาจศึกษาต่อในสาขาอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ สังคมศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ บรรณารักษ์ศาสตร์ จิตวิทยา นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จิตกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มัณฑนศิลป์ โบราณคดี พลศึกษา ศุลการักษ์ แนวทางประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา เช่น นักอักษรศาสตร์ ล่าม-แปล มัคคุเทศก์ ครู-อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย นักการทูต นักปกครอง บรรณารักษ์ นักจิตวิทยา นักประชาสัมพันธ์ เลขานุการ นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ นักแสดง จิตรกร มัณฑนกร นักโบราณคดี เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการกีฬา ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เป็นต้น
2. กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศึกษา
วิชาเลือก คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอาหรับ ภาษาบาลี สังคมศึกษา แนวทางการศึกษาต่อสำหรับผู้ที่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มวิชาเลือกกลุ่มนี้ อาจศึกษาต่อในสาขาพณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สถิติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มัณฑนศิลป์ โบราณคดี ศุลการักษ์ พลศึกษา แนวทางประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา เช่น นักบัญชี นักบริหารธุรกิจ-บริหารงานบุคคล เลขานุการ นักเศรษฐศาสตร์ นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ ครู-อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย นักปกครอง บรรณารักษ์ นักจิตวิทยา นักแสดง นักประชาสัมพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ จิตกร มัณฑนากร นักโบราณคดี เจ้าหน้าที่ศุลกากร ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการกีฬา เป็นต้น
3. กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ
วิชาเลือก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์) ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ฯลฯ) แนวทางการศึกษาต่อสำหรับผู้ที่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มวิชาเลือกกลุ่มนี้ อาจศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ สัตวแพทย์ศาสตร์ สัตวแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ กายภาพบำบัด รังสีวิทยา รังสีเทคนิค พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ การประมง สถาปัตยกรรมศาสตร์ เคมีปฏิบัติ พณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ พลศึกษา การเดินเรือพาณิชย์ ศุลการักษ์ อุตุนิยมวิทยา แนวทางประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักกายภาพบำบัด นักรังสีวิทยา เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาตร์ นักคณิตศาสตร์ นักสถิติ เกษตรกร เจ้าหน้าที่ประมง นักวิชาการประมง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สถาปนิก นักเคมี นักธุรกิจ นักบริหารบุคคล นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักปกครอง ครู-อาจารย์ นักเดินเรือ-พาณิชย์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร นักอุตุนิยมวิทยา ทหาร ตำรวจ เป็นต้น
จากวิชาเลือก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ นี้ บางโรงเรียนอาจแบ่งเป็นแผนการเรียนต่าง ๆ หลายแผนการเรียน แต่ละแผนการเรียนอาจจัดวิชาให้นักเรียนเลือกเรียนทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพ วิชาชีพ เช่น ธุรกิจ - พณิชยกรรม เกษตรกรรม คหกรรม ช่างอุตสาหกรรม ศิลปกรรม เป็นต้น
กลับด้านบน
การศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา
การศึกษาต่อสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 5 กลุ่ม คือ ช่างอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พณิชยกรรม คหกรรม และศิลปกรรม-ศิลปหัตถกรรม
1. ช่างอุตสาหกรรม
แยกออกเป็นแผนกหรือสาขาต่าง ๆ เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะและโลหะแผ่น ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุและคมนาคม ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเขียนแบบ ช่างไม้ครุภัณฑ์ การพิมพ์ ช่างสำรวจ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีสิ่งทอ ช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม การถ่ายภาพและภาพยนต์ ช่างท่อและประสาน ช่างต่อเรือ ฯลฯ
2. เกษตรกรรม
แยกออกเป็นแผนกหรือสาขาต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรมทั่วไป ประมง เป็นต้น
3. พณิชยกรรม
แยกออกเป็นแผนกหรือสาขาต่าง ๆ เช่น พณิชยการ ธุรกิจสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ การประชาสัมพันธ์ อุตสาหกรรม
การท่องเที่ยว บัญชี เลขานุการ การขาย การตลาด การธนาคาร ธุรกิจการเงินและการจัดการ ธุรกิจบริการ ธุรกิจต่างประเทศ ธุรกิจโรงแรม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
4. คหกรรม
แยกออกเป็นแผนกหรือสาขาต่าง ๆ เช่น คหกรรมทั่วไป ผ้าและเครื่องแต่งกาย อาหารและโภชนาการ คหกรรมธุรกิจ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า การออกแบบแฟชั่น เสื้อผ้าเพื่อการอาชีพ ธุรกิจอาหาร เป็นต้น
5. ศิลปกรรม-ศิลปหัตถกรรม
แยกออกเป็นแผนกหรือสาขาต่าง ๆ เช่น ศิลปกรรม ศิลปหัตถกรรม โลหะรูปพรรณ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ถ่ายภาพ วิจิตรศิลป์ ศิลปประยุกต์ ศิลปอุตสาหกรรม เป็นต้น
กลับด้านบน
ระดับการศึกษาสายอาชีวศึกษา
การศึกษาสายอาชีวศึกษาแบ่งออกเป็นหลายระดับหรือหลายหลักสูตร ในแต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาในการศึกษาและพื้นฐานความรู้ของผู้ที่จะเข้าศึกษาต่างกัน โดยทั่วไปแบ่งระดับการศึกษาสายอาชีวศึกษาออกเป็นหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
1. หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
เป็นหลักสูตรที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ฝึกวิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่มีความประสงค์ที่จะนำความรู้ความชำนาญจากวิชาชีพที่เรียนไปประกอบอาชีพ ปรับปรุงงาน เพิ่มความรู้พิเศษ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การฝึกอบรมตามหลักสูตรนี้จะต้องศึกษาทฤษฎีเกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้น ๆ และเน้นหนักในทางปฏิบัติ โดยมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับงานจริง ๆ สามารถปฏิบัติได้เมื่อจบหลักสูตร ระยะเวลาในการศึกษาในสาขาต่าง ๆ จะกำหนดการฝึกอบรมเป็นชั่วโมงหรือเป็นเดือน เช่น 30 ชั่วโมง 60 ชั่วโมง 80 ชั่วโมง 255 ชั่วโมง 3 เดือน 5 เดือน 6 เดือน เป็นต้น พื้นฐานความรู้ของผู้ที่สมัครเรียนในหลักสูตรระยะสั้นกำหนดพื้นฐานความรู้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรช่างฝีมือ (ปชม.)
การศึกษาในหลักสูตรนี้เน้นทักษะและความรู้ทางด้านอาชีพเฉพาะสาขา มีลักษณะจบในตัวเอง โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรสามารถออกไปประกอบอาชีพตามสาขาที่ศึกษามาได้ ระยะเวลาในการศึกษาสำหรับหลักสูตรนี้ ใช้เวลา 1 ปี หรือ 1,350 ชั่วโมง ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีพื้นความรู้ (สำเร็จการศึกษา) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
3. หลักสูตรประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
เป็นหลักสูตรหลังมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเปิดโอกาสให้เลือกเรียนได้อย่างกว้างขวาง เพื่อออกไปประกอบวิชาชีพได้ตรงความต้องการของตลาดแรงงานสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งฝึกงานฝีมือที่ใช้เทคโนโลยีปฏิบัติจนเกิดทักษะสามารถจัดการเชิงธุรกิจ เชิงอุตสาหกรรม และเชิงเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้จริง ฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนางานได้เสมอ ระยะเวลาในการศึกษาสำหรับหลักสูตรนี้ใช้เวลาศึกษาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปีการศึกษา หรือ 6 ภาคเรียนปกติ ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีพื้นความรู้ (สำเร็จ การศึกษา) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า)
4. หลักสูตรประกาศณียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.)
เป็นหลักสูตรระดับช่างเทคนิคหรือระดับนักวิชาการซึ่งจบในตัวเอง ผู้เรียนจะได้ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเหมาะสมกับลักษณะของงานอาชีพต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีงานทำอยู่แล้วศึกษาเพิ่มเติมได้ ระยะเวลาในการศึกษาสำหรับหลักสูตรนี้ ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา หรือ 4 ภาคเรียนปกติ ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีพื้นความรู้ (สำเร็จการศึกษา) ระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
5. หลักสูตรประกาศณียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)
เป็นหลักสูตรระดับวิชาชีพเทคนิคต่อจากหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า โดยมุ่งการศึกษาอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เหมาะสมกับลักษณะของอาชีพต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีงานทำอยู่แล้วศึกษาเพิ่มเติมได้ ระยะเวลาในการศึกษาสำหรับหลักสูตรนี้ ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา หรือ 4 ภาคเรียนปกติ ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีความรู้ (สำเร็จการศึกษา) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ. 5 , ม.6) หรือระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า
6. หลักสูตรประกาศณียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.)
เป็นหลักสูตรที่มุ่งหมายเพื่อผลิตครูเทคนิคที่มีความสามารถในการสอนวิชาชีพเฉพาะสาขา มีความคิดสร้างสรรค์ มีการวางแผนเตรียมแผนการสอน ประเมินการสอนและปรับปรุงการสอนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคม สามารถแก้ปัญหาด้วยหลักการและเหตุผล ปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการศึกษาสำหรับหลักสูตรนี้ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา ไม่เกิน 4 ปีการศึกษา โดยเรียนภาคปกติ ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องมีพื้นความรู้ (สำเร็จการศึกษา)
ระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
คิด
ก่อนตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ
การตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสายวิชาใดนั้น จะมีความสัมพันธ์และผลกระทบกับการประกอบอาชีพในอนาคต ตำแหน่งงานในบางสาขาอาชีพมีน้อยมาก สถานประกอบการต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยจะรับคนเข้าทำงานเพิ่มขึ้น หรือถ้าจะรับเพิ่มก็จะรับในอัตราที่น้อยมาก คนที่ทำงานอยู่เดิมก็จะพยายามทำงานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะในสภาพปัจจุบันนี้ถ้าออกจากงานแล้วก็จะหางานทำได้ยากมาก ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสายวิชาใดหรือสาขาวิชาใดนั้น ควรจะได้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจ ดังนั้น
1. ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง นักเรียนจะต้องสำรวจและทำความรู้จักตนเองให้ละเอียดในทุก ๆ ด้าน และควรพิจารณาด้วยว่าคุณสมบัติหรือความเป็นจริงที่ปรากฏกับตนเองในปัจจุบันเหมาะสมที่ไปศึกษาต่อในสายวิชาหรือสาขาวิชาใด เหมาะสมที่จะประกอบอาชีพนั้น ๆ หรือไม่ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่นักเรียนควรพิจารณามีดังนี้
1.1 ความสนใจ คือ นิสัยความเอาใจใส่ในเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ นักเรียนต้องค้นให้พบว่าตนเองมีความสนใจหรือความชอบงานในลักษณะใดมากน้อยเพียงใด ถ้าจะไปศึกษา-ฝึกอบรมในสายงานนั้น ๆ จะศึกษา-ฝึกอบรมจนสำเร็จได้หรือไม่ ทำกิจกรรมหรือทำงานนั้น ๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานหรือทำเป็นประจำได้หรือไม่ สนใจเพียงแต่มองดู-หูฟัง หรือสนใจที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
1.2 ความถนัด คือ การที่จะทำอะไรดูเข้าที ทำด้วยความคล่องตัว คล่องแคล่ว ว่องไว ทำแล้วดูดีและเหมาะสม หรือมีความสามารถพิเศษในการปฏิบัติหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีถ้าฝึกปฏิบัติหรือทำกิจกรรมนั้นเสมอ ๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญในสิ่งนั้น ๆ
1.3 สติปัญญา คือ ความสามารถในการคิดค้นหาเหตุผล คิดได้เป็นเรื่องเป็นราวสามารถสื่อความหมายหรือแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ระดับสติปัญญาอาจใช้ผลการเรียนที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิจารณาได้ในเบื้องต้น แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่าการเรียนที่ผ่านมาในอดีตนั้นตั้งใจเรียนมากน้อยเพียงใด มีอะไรที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค์หรือไม่
1.4 ฐานะการเงินของผู้ปกครอง ในการศึกษา-ฝึกอบรมในสายวิชาหรือสาขาวิชาใดก็ตามจะต้องใช้เงินในการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษา ค่าลงทะเบียนเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนอีกมากมาย สำหรับในข้อนี้นักเรียนจะต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าจะศึกษา-ฝึกอบรมในสาขาวิชานั้น ๆ จะต้องใช้เงินมากน้อยเพียงใด ผู้ปกครองมีเงินพอที่จะส่งเสียให้ศึกษา-ฝึกอบรมได้จนจบหลักสูตรหรือไม่
1.5 สุขภาพและลักษณะของร่างกาย ในการศึกษาเล่าเรียนและการประกอบอาชีพนั้น สุขภาพและลักษณะของร่างกายนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าสุขภาพร่างกายและจิตใจผิดปกติหรือไม่เข็งแรงสมบูรณ์ จะมีผลกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนและการประกอบอาชีพไปในทางที่ไม่ดี การศึกษาเล่าเรียนในบางสาขาวิชาหรือบางอาชีพจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขภาพและลักษณะของร่างกายไว้อย่างชัดเจน เช่น มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สายตาปกติ ตาไม่บอดสี มีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 145 เซนติเมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม เป็นต้น ฉะนั้นในการตัดสินใจที่จะศึกษา-ฝึกอบรมในสายวิชาหรือสาขาวิชาใดก็ตาม นักเรียนควรจะนำข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและลักษณะของร่างกายมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจด้วย
1.6 เพศและอายุ เพศและอายุจะมีความสัมพันธ์กับความคล่องแคล่วว่องไว ความชำนาญ ประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ความละเอียดรอบคอบ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา ดังนั้นจะพบว่าการรับบุคคลเข้าทำงานในหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือสถานประกอบการของเอกชนบางแห่งจะกำหนดเพศและอายุในการรับบุคคลเข้าทำงาน เพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่การงาน
1.7 สัญชาติและเชื้อชาติ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้อาชีพบางอาชีพ เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยที่มีสัญญาไทยโดยเฉพาะ เช่น ผู้สมัครเข้าศึกษา-ฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคคลออกมาเพื่อมีอาชีพเป็นทหาร ตำรวจ ต้องมีบิดามารดาที่มีสัญชาติและเชื้อชาติไทย เป็นต้น
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่มุ่งหวังว่าจะเข้าศึกษาต่อ สำหรับข้อมูลเหล่านี้จะประกอบด้วยชื่อสถานศึกษา สถานที่ตั้ง แผนการเรียนหรือสาขาวิชาที่เปิดสอน-ฝึกอบรม วันเวลาสมัครเข้าศึกษา ฝึกอบรม วันเวลาและวิชาที่จะสอบ ค่าใช้จ่ายในการศึกษา-ฝึกอบรม คุณสมบัติของผู้สมัคร ระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสถานศึกษานั้น ๆ ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น นักเรียนควรศึกษาล่วงหน้า เพื่อจะได้มีเวลาในการคิด-พิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ
3. ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ มีนักเรียนหลายคนที่ยังไม่ทราบว่า อาชีพใด ทำงานอะไรมีรายได้มากน้อยเพียงใด และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพนั้น เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพ แนวทางในการศึกษา-ฝึกอบรมเพื่อให้มีความชำนาญหรือมีทักษะในอาชีพเพิ่มขึ้น เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากงานแนะแนวของโรงเรียน ซึ่งนักเรียนอาจค้นคว้าได้จากเอกสารและ/หรือสอบถามจากอาจารย์แนะแนว
หวังว่าคงได้แนวทางในการเลือกศึกษาต่อบ้างนะคะ
"หยุดคิดสักนิด เสียเวลาสักหน่อย อย่างน้อยก็เพื่อตัวเราเอง อย่าลืมว่าถนนที่จะให้เราเลือกเดินในชีวิตนั้นไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียว แต่มีเป็นร้อยเป็นพันทาง อยู่ที่เราจะตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา"
กลับด้านบน