การวิเคราะห์หนังสือของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)
อิทธิปาฏิหาริย์ช่วยอะไรไม่ได้

 

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หัวใจของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ "ปาฏิหาริย์" ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ แต่พระธรรมปิฎกก็ยังจงใจ ลบความสำคัญของปาฏิหาริย์ ในพระพุทธศาสนา ดังข้อความว่า

"กรณีที่ขอร้องให้ช่วยเหลือ ด้วยอิทธิปาฏิหารย์ ไม่พบในพระไตรปิฎกเลย แม้แต่แห่งเดียว" (หนังสือพุทธธรรม หน้า ๔๖๕) ซึ่งนับว่า เป็นการบิดเบือนพระพุทธประวัติ โดยตรง เนื่องจากในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ชัด

คราวเมื่อ กรุงไพศาลี เกิดแห้งแล้ง เกิดทุพภิกขภัย มีโรคระบาด ทำให้ประชากรล้มตายมากมาย จนซากศพเน่าเหม็น อบอวลไปทั่วทิศ ท้องฟ้าคลาคร่ำ ไปด้วยฝูงแร้ง ที่ลงมาจิกกินซากศพ เป็นภักษาหาร เป็นทุรยุคทุกเข็ญ ประชาชนพากันไปเฝ้าพระราชา แห่งกรุงไพศาลี เมื่อพระราชา สดับคำร้องทุกข์ จากชาวเมือง แล้ว ก็ให้สลดพระทัยยิ่งนัก ทรงสำรวจดูความบกพร่อง ของพระองค์ว่า จะมีที่ใดบ้าง ก็ไม่ทรงพบ จึงทรงอนุญาตให้ชาวเมือง ตรวจดูอีกว่า พระองค์ทรงประพฤติ ผิดทศพิธราชธรรมหรือไม่ หากพบ ก็ให้กล่าวโทษขึ้น ก็ไม่มีประชาชนคนใด หาข้อผิดของพระราชา แห่งกรุงไพศาลีได้ เป็นอันว่า สาเหตุที่บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ เพราะพระราชา ทรงประพฤติไม่เป็นธรรมนั้นไม่มี แต่ชาวเมือง ก็ยังคิดจะหาวิธี ระงับมหาภัยอันนี้ให้ได้ จึงระลึกถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้น ทรงประทับอยู่ ณ เมืองราชคฤห์ จึงพากันไปอาราธนา มาเมืองไพศาลี เพื่อระงับมหาภัย

สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระกรุณา อันหาขอบเขตมิได้ มีน้ำพระทัย เปี่ยมไปด้วยความการุณย์ ในหมู่สัตว์ แม้จะมิใช่เป็นทางนำออก จากสังสารวัฏฏ์ เพียงทำให้เขาปลอดจากโรค มีชีวิตอยู่รอดก็ตาม พระองค์ก็ยังทรง พระประสงค์จะช่วยเหลือ ฉะนั้นจึงรับอาราธนา ชาวเมืองไพศาลี แล้วพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ ร้อยรูป ก็ออกจากกรุงราชคฤห์ ระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมืองไพศาลีนั้น มีแม่น้ำ ขวางกั้นอาณาเขต สมเด็จพระผู้มีพระภาค กับเหล่าสาวก จึงเสด็จโดยทางเรือข้ามไป สิ้นระยะทางเป็นเวลา ๘ วัน จึงถึงเมืองไพศาลี ในวันที่พระพุทธองค์ ทรงย่างพระบาท เหยียบแผ่นดิน เขตเมืองนั้น ฝนก็ตั้งเค้าหนาทึบ แล้วกระหน่ำ ลงมาอย่างหนัก น้ำท่วมขึ้นมาถึงเข่า ไหลนองไปทั้งแผ่นดิน พัดพาเอาซากศพ ที่เน่าเฟะ ลอยล่องลงแม่น้ำ ไปจนหมดสิ้น ผืนแผ่นดินเมืองไพศาลี จึงสะอาดแล้ว

พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนเอา รัตนสูตรเถิด เรียนแล้วจงไปสวด ภายในกำแพง ความสวัสดี จักมีแก่ชาวไพศาลีทั้งหลาย (รัตนสูตร คือ บทสวดมนต์ ที่ขึ้นต้นด้วย ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ มีเนื้อความสรรเสริญรัตนคุณ ๓ ประการ คือ พุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ อันทำให้ผู้สวด และผู้ฟัง ประสบความสวัสดี)

พระอานนท์ ได้เรียนเอารัตนสูตรจาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงถือเอาบาตรน้ำมนต์ ของพระพุทธองค์ ไปยืนที่ประตูนครไพศาลี แล้วสวดรัตนสูตร พร้อมกับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ สาดไปทั่วพระนคร เมื่อน้ำมนต์ไปตกถูกภูตผีปีศาจ ในขณะกล่าวคำว่า ยังกิญจิ ภูตผีปีศาจ ก็หนีไปสิ้น เมื่อกล่าวคำว่า ยานีธ ภูตานิ หยาดน้ำมนต์ ตกไปถูกมนุษย์คนใด ที่กำลังเจ็บป่วย ก็หายในฉับพลัน มีความสุขสบาย ทั่วทุกตัวคน..."

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มิใช่ไม่รู้ในข้อความนี้ เพราะรัตนสูตรนี้ คือต้นกำเนิด ที่มาของ การที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ แม้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็เคยประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้แก่ญาติโยมเช่นกัน การกล่าวอย่างนี้ จึงนับว่า เป็นเจตนา บิดเบือนข้อความสำคัญ ในพระพุทธศาสนา อย่างไม่มีสิทธิปฏิเสธ เป็นการปฏิเสธ พระไตรปิฎกเถรวาทโดยแท้


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1