อายตนะนิพพาน มีในพระไตรปิฎกหรือไม่?

p24-133.jpg (12881 bytes)

 

พระพุทธองค์ได้ทรงบรรยายถึงสภาพของ นิพพาน ว่า เป็นอายตนะชนิดหนึ่ง ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท หลายแห่ง เช่น ปาฏลิคามวัคค์ อุทาน. ขุ.๒๕/๒๐๖/๑๕๘ แต่ที่จะสามารถเข้าใจ ได้อย่างละเอียด สำหรับผู้สงสัยใน สภาพ หรือ ภพ ของ นิพพาน ที่ท่านได้ขยายความถึง สภาพ ลักษณะ ของ นิพพาน ว่าเป็น อายตนะ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสแก่ เกวัฏฏคหบดีบุตร ณ ปาวาริกัมพวัน เมืองนาลันทา ปรากฏเป็นหลักฐานใน พระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี สี.ที. ๙/๒๗๗ - ๒๘๓/๓๔๓ -๓๕๐) ว่า

"คือ อายตนะ หนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่มีทางปฏิบัติ เข้ามาถึงได้โดยรอบ นั้นมีอยู่ใน อายตนะ นั้นแหละ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่อาจหยั่งลงได้

ใน อายตนะ นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่อาจหยั่งลงได้

ใน อายตนะ นั้นแหละ นามรูปย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือ นามรูปดับสนิทใน อายตนะ นี้ เพราะความดับสนิทของวิญญาณ ดังนี้"

จากพุทธวจนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คงไม่ต้องถกเถียง กันต่อไปว่า อายตนะนิพพาน นั้นมีอยู่จริง แม้พระพุทธองค์ ก็ยังไม่สามารถ จะบรรยายลักษณะ ของนิพพาน โดยเปรียบเทียบ กับสิ่งที่เป็น สภาวธรรม (สังขตธรรม) ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่สภาวธรรม (อสังขตธรรม) แต่พุทธองค์ ก็ทรงยืนยันว่า มีอยู่จริง สิ่งนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ถึงคำว่า อายตนะนิพพาน

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ผู้ที่เขียน "กรณีธรรมกาย" มีเจตนาเช่นใดกันแน่ที่จงใจ ไม่กล่าวถึงพระพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาทเช่นนี้ ท่านผู้อ่านสามารถตอบได้หรือไม่ ???

พระพุทธศาสนามีธรรมคำสั่งสอนที่ลึกซึ้ง และเป็นของปัญญาชน ที่ต้องพินิจพิจารณา จะเห็นถึงความมหัศจรรย์ ในธรรมของ พระผู้มีพระภาคเจ้า บรมศาสดา ที่ไม่ปล่อยให้พุทธบริษัท ต้องมีความสงสัย ในพระธรรมของพระองค์ เมื่อท่านได้แสดงพุทธพจน์ว่า นิพพาน มิใช่สภาวธรรม เป็นสิ่งตรงกันข้าม เพราะสภาวธรรม ย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ นิพพาน เป็นอายตนะ หนึ่ง ซึ่งอยู่นอกเหนือ จากสภาวธรรมทั้งปวง ด้วยความเป็นอายตนะนิพพาน นั้นเอง จึงอาจทำให้ผู้ปฏิบัติถึง นิพพาน จะเกิดความเพลิดเพลินลุ่มหลง ในนิพพานขึ้นได้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเตือน พระเถระทั้งหลาย ณ โคนต้นสาละ ในป่าสุภวัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐะปรากฏในพระไตรปิฎก (บาลี มูลปริยายสูตร มู.ม. ๑๒/๑๐/๙) ว่า

"...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่งนิพพาน ตามความเป็นนิพพาน ครั้นรู้นิพพาน ตามความเป็นนิพพานแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายซึ่ง นิพพาน ไม่ทำความมั่นหมาย ในนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมาย โดยความเป็นนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายว่า นิพพานเป็นของเรา ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลง ในนิพพาน ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า? เรากล่าวว่า เพราะรู้ว่าความเพลิด เพลินเป็นมูลแห่งทุกข์ และเพราะมีภพจึงมีชาติ เมื่อเกิดเป็นสัตว์แล้ว จึงต้องมีแก่ และตาย เพราะเหตุดังนี้ ตถาคต จึงตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯลฯ"

ดังพระไตรปิฎกได้กล่าวว่า นิพพานเป็นอายตนะหนึ่ง ดังนั้นในนิพพานมีแต่ความสุข เมื่อมีความสุข จึงทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ลุ่มหลงได้ (นี่เป็นที่มาของพุทธภาษิตที่ว่า "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ" แปลว่า พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง ) เจือสมกับที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า นิพพานสัมผัสได้ เป็นอายตนะ (ตามพระไตรปิฎก...อ้างแล้ว) อายตนะ ก็คือลักษณะของ อัตตา ฉะนั้นองค์พระทศพล จึงทรงมีพุทธาธิบายไว้ ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท เป็นหลักฐานสืบมา

สิ่งที่เราทราบดีว่า พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ตามประวัติว่า เป็นนักค้นคว้า ดังนั้นคงมีความ เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก ส่วนนี้ต้องทราบดีอยู่แล้ว เหตุใดจึงเขียนข้อความ ที่บิดเบือน ส่วนที่สำคัญที่สุด ของพุทธศาสนาเช่นนี้ ท่านผู้อ่าน สามารถคาดเดาถึงวัตถุประสงค์ ที่แท้จริงได้หรือไม่...???

ข้อความของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ขัดกับพุทธวจนะ ของพระพุทธองค์ ที่ทรงขยายความ ในส่วนของอมตะนิพพาน ไว้หลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อทรงยืนยันว่า นิพพานคือสภาพ อันพ้นจากสภาวธรรม พ้นจากวัฏฏสงสาร ไม่มีภพชาติ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เป็นอมตะ ปรากฏเป็นหลักฐาน ในพระไตรปิฎก ฉบับบาลีเถรวาท ที่ มัชฌิมปัณสาสก์ มัชฌิมนิกาย (บาลี ม.ม.๑๓/๔๖๓/๕๑๑) ว่า

"....นิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้ว แก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธา ลงไปเถิด

ดูก่อน พรหม เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราแคล่วคล่องชำนาญ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้...."

นอกจากนี้หนังสือ "กรณีธรรมกาย" (ฉบับคัดตัวอย่าง หน้า ๗ ถึง ๑๔) สรุปว่า " การนำพระไตรปิฎก ของประเทศอื่น นิกายอื่น มาเปรียบเทียบกับ พระไตรปิฎกฉบับเถรวาท เป็นการกระทำที่ทำลายพุทธศาสนา"

เมื่อตรวจสอบแล้ว ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทว่า พระพุทธเจ้าทรงให้สาวก เทียบเคียงคำสั่งสอน ใน (มหาปรินิพพานสูตร มหา.ที. ๑๐/๑๐๔/๑๑๒)

"ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้า ฟังมาแล้ว ได้รับมาแล้ว เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

เธออย่าเพ่อรับรอง อย่าเพ่อคัดค้าน เธอกำหนดเนื้อความนั้นให้ดี แล้วนำไปสอบสวนในพระสูตร นำไปเทียบเคียงในวินัย ถ้าลงกันไม่ได้ พึงแน่ใจว่า นั้นไม่ใช่คำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ฯลฯ"

ดังนั้น การที่นำเอาพระสูตรจากพระไตรปิฎกอื่น ไม่ว่าจะเป็นของ ฝรั่ง จีน ไทย แขก มาสอบสวน ว่าตรงกันหรือไม่ จึงเป็นการปฏิบัติ ตามบัญญัติของพระไตรปิฎก ฉบับบาลีเถรวาท โดยเคร่งครัด ซึ่งควรแก่การยกย่องเสียด้วยซ้ำ โดยฐานะของนักค้นคว้า หรือนักวิชาการ

                                            นำพิสูจน์ทราบ                                   

กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มีเจตนาอย่างแจ้งชัด ในการกล่าวร้าย วัดพระธรรมกาย เพราะในการสอนของท่านที่ ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านก็ใช้พระไตรปิฎกประเทศอื่น มาเทียบเคียง ในการสอนเช่นกัน ซึ่งเป็นหลักการ ในการสอนของศูนย์ศาสนศึกษา ที่ให้พิสูจน์ด้วยเหตุและผลอยู่แล้ว จึงพิสูจน์ได้ไม่ยากในกรณีนี้

สิ่งที่แสดงถึงเจตนาบิดเบือนความเป็นจริง อันเกิดขึ้นจริง และเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเลือกกระทำ ซึ่งมิใช่เจตนาบริสุทธิ์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ปรากฏในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ( ฉบับคัดตัวอย่าง หน้า ๗ ถึง ๑๔) สรุปว่า "วัดพระธรรมกายนำพระไตรปิฎกมหายานมาสั่งสอน เป็นการทำลายพุทธศาสนา"

ความเป็นจริง พระภิกษุสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาท ได้มีการนำพระสูตรของพระไตรปิฎก ฉบับมหายาน มาสั่งสอนให้กับพุทธศาสนิกชน ในประเทศไทย อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมมาเกินกว่า ๔๐ ปีแล้ว และก็ได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับปัญญาชน โดยเฉพาะในช่วงระยะ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา พระเถระผู้ใหญ่ ท่านที่นำมาเผยแผ่ ก็เป็นที่รู้จักเคารพกันทั่วแผ่นดิน ก็เพราะว่า ท่านได้เป็นผู้นำเอา พระสูตรในพระไตรปิฎกมหายาน มาสั่งสอนอย่างเปิดเผย พิมพ์เผยแพร่ และยังขายดีอีกด้วยในปัจจุบัน พระสูตรนั้นมีชื่อว่า "คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร" เป็นคำสอนของ นิกายมหายานแท้ ว่าด้วยความว่าง คือทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนเป็นอนิจจัง เป็นความไม่เที่ยง เป็น สุญญตา (ต้นกำเนิดของ นิกายเซ็น ซึ่ง พระธรรมรักษ์ เป็นผู้นำมาเผยแผ่ ในประเทศจีน ซึ่งรู้จักกันในนาม สูตรของเว่ยหล่าง) พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระสูตรนี้ แก่สาวกก็เพราะ เนื่องจาก สาวกผู้ได้อิทธิบาท และอภิญญา บางองค์ใช้ฤทธิ์ไปในทางที่ผิด เช่น พระเทวทัต เนื่องจากว่า การปฏิบัติตามวิถีแห่งอภิญญา ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร อยู่ในวรรณะใด หากปฏิบัติตามอภิญญาวิถี ก็ย่อมได้ฤทธิ์ทั้งสิ้น พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนคัมภีร์นี้ เพื่อลดความยึดติดในฤทธิ์ อภิญญา และญาณเสียให้สิ้น ชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นความว่าง ทรงสั่งสอนโดย คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร นี้อยู่ ๑๔ ปี

พระพุทธทาสภิกขุ แห่งวัดสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.นครศรีธรรมราช ได้นำมาเผยแพร่ สั่งสอน ตีพิมพ์ และใช้เป็นหลักปฏิบัติ ของพระภิกษุในวัด และสานุศิษย์ เรียกว่า ความว่าง ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ หนังสือ ข้อเขียน "แนวมหายาน" ของท่านนั้น เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ ราชบัณฑิตทั่วไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ไม่มีพระสูตรนี้ หลักการปฏิบัติของท่านพุทธทาสก็คือ หลักของนิกายเซ็น แท้ๆ อีกด้วย แม้กระทั่งโรงละครแห่งวิญญาณ เป็นเครื่องพิสูจน์ ได้เป็นอย่างดี สำหรับการสั่งสอน โดยหลักมหายาน ในสงฆ์เถรวาทประเทศไทย

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เองก็อ้างคำพูด หลักธรรม ของพระพุทธทาส อยู่เป็นประจำ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่ท่านจะไม่ทราบว่า "สุญญตา หรือ ความว่าง" เป็นหลักของมหายาน และเป็นนิกายเซ็น (ธยาน) โดยตรง จึงเป็นคำถามว่า การเขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ขึ้นนั้น ด้วยจุดประสงค์อะไรกันแน่...??

โดยเฉพาะการเขียนข้อความ โจมตีวิธีปฏิบัติ ของวัดพระธรรมกายนั้น ทั้งๆ ที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ย่อมทราบดีว่า ล้วนถูกต้องตามประกาศองค์การศึกษา เรื่องระเบียบการศึกษาวิปัสสนาธุระข้อ ๗ ซึ่งพระสังฆาธิการจำเป็นจะต้องรับรู้ ซึ่งระบุว่า" ข้อความอันใด ซึ่งเป็นวิธีของวิปัสสนาธุระ ที่มิได้กล่าวไว้ในที่นี้ ให้ถือเอาโดยนัย ที่มีใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค" (ปรากฏตามเอกสารประกอบ) ทั้งยังเป็นไปตาม คัมภีร์วิสุทธิมรรค อันรจนาโดย พระพุทธโฆษาจารย์ แห่งลังกา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของเถรวาททั้งปวง ในฐานะที่พระธรรมปิฎก เป็นอาจารย์สอนอยู่ใน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านย่อมรู้จัก คัมภีร์ วิสุทธิมรรค ว่าเป็นของเถรวาท และที่ยิ่งไปกว่านั้น ในเอกสารวิธีการปฏิบัติ ของวัดพระธรรมกายทุกฉบับ ได้ระบุไว้ชัดแจ้ง ว่า วิชชาธรรมกาย อาศัยการกำหนด อาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง กสิณ เป็นวิชชาหนึ่งที่ระบุแนวทางปฏิบัติไว้ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ของเถรวาท ไม่ใช่มหายาน ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระเถระ ๓ รูป คือ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ปรากฏในพระไตรปิฎก บาลีเถรวาท (บาลี อุปักกิเลสสูตร สุญญตวรรค (อุปริ. ม. ๑๔/๓๐๒ /๔๕๒) โดยทรงอาลปนะว่า

"อนุรุทธะทั้งหลาย นิมิตนั้นแหละ เธอพึงแทงตลอดเถิด แม้เราเมื่อครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็จำแสงสว่าง และการเห็นรูปทั้งหลายได้ ฯลฯ

ดูก่อนอนุรุทธะทั้งหลาย กาลใดสมาธิอันมีวิตกวิจาร เป็นธรรมชาติ อันเราเจริญแล้ว กาลนั้น ญาณเป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเรา ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดไม่มีอีก (นิพพาน) ดังนี้"

ในพระไตรปิฎกส่วนนี้เห็นได้ว่า การใช้อาโลกกสิณ หรือกสิณแสงสว่าง นับเป็นวิถีทางปฏิบัติ ให้พระสิทธัตถะเข้าถึงนิพพาน เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระมงคลเทพมุนี นำมาเป็นหลัก ในการปฏิบัติของสาธุชน ในบวรพระพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่พุทธบุตรพึงปฏิบัติ

หนังสือ "กรณีธรรมกาย" (ฉบับคัดตัวอย่าง หน้า ๓๒ ) ว่า "การเห็นธรรมกายนั้น ต้องเห็นด้วยตาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิ ไม่มีวิธีปฏิบัติวิชชาธรรมกาย บัญญัติอยู่ในพระไตรปิฎก ฉบับบาลีเถรวาท"

"ความเป็นจริง" โดยประวัติ พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) ท่านได้พบวิธีปฏิบัติ จากพระไตรปิฎกเถรวาท ซึ่งมีพุทธพจน์อธิบายว่า ในคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ปฏิบัติอย่างไร ท่านก็นำออกมาปฏิบัติ ตามที่กล่าวไว้ ในพระไตรปิฎกนั้น จากประสบการณ์ ในการปฏิบัติจริง มาถ่ายทอดเป็นภาษามนุษย์ ให้ชาวพุทธได้เข้าใจ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ ถึงการกำหนดสมาธินิมิต ให้พิจารณาจดจำแสงสว่าง อันทำให้ท่านถึงซึ่งนิพพาน และนำมาใช้สั่งสอนศิษย์ โดยเริ่มที่วัดปากน้ำ เป็นแห่งแรก ซึ่งพระมงคลเทพมุนี เรียกชื่อแสงสว่างนั้นว่า ดวงปฐมมรรค ซึ่งหมายถึง ดวงต้นทาง อันเป็นจุดเริ่มต้น ของการปฏิบัติ (ปรากฏในหนังสือ "เห็นธรรม") ตามที่พระพุทธองค์ตรัสแก่พระเถระ ๓ รูปคือ พระอนุรทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ปรากฏใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี อุปักกิเลสสูตร สุญญตวรรค (อุปริ. ม. ๑๔/๓๐๒ /๔๕๒) โดยทรงอาลปนะว่า

"อนุรุทธะทั้งหลาย นิมิตนั้นแหละ เธอพึงแทงตลอดเถิด แม้เราเมื่อครั้ง ก่อนแต่การตรัสรู้ ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็จำแสงสว่าง และการเห็นรูปทั้งหลายได้ ต่อมาไม่นาน แสงสว่าง และการเห็นรูป ของเรานั้นๆ ก็หายไป เกิดความสงสัยแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้แสงสว่าง และการเห็นรูป นั้นหายไป อนุรุทธะ ทั้งหลาย เมื่อคิดอยู่ ก็เกิดความรู้ว่า วิจิกิจฉา แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) ก็เพราะมีวิจิกิจฉาเป็นต้นเหตุ ครั้นสมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) แสงสว่าง และการเห็นรูป ย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่ วิจิกิจฉาจะ ไม่บังเกิดแก่เราได้อีก....ฯลฯ

ดูก่อน อนุรุทธะ ทั้งหลาย เรานั้นเมื่อไม่ประมาท มีความเพียร มีอัตตาส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้ดี แต่ไม่เห็นรูป ย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้ แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใดเราไม่ทำรูปนิมิต ไว้ในใจ แต่ทำโอภาสนิมิต ไว้ในใจ สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีอัตตาส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่าง ได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างมาก ไม่มีประมาณ เห็นรูป ไม่มีประมาณบ้าง เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่าง ได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างได้มาก ไม่มีประมาณ เห็นรูปได้มาก ไม่มีประมาณ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใด สมาธิของเราน้อย สมัยนั้น จักขุก็มีน้อย ด้วยจักขุอันมีน้อย เราจึงจำแสงสว่างได้น้อย เห็นรูปน้อย สมัยใดสมาธิของเรามาก ไม่มีประมาณ สมัยนั้น จักขุของเรา ก็มากไม่มีประมาณ ด้วยจักขุอันมาก ไม่มีประมาณนั้น เราจึงจำแสงสว่างได้มาก ไม่มีประมาณ เห็นรูปได้มาก ไม่มีประมาณ ตลอดคืนบ้าง ตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งคืนทั้งวันบ้าง

ดูก่อนอนุรุทธะทั้งหลาย ในการที่เรารู้แจ้งว่า วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตแล้ว และละมันเสียได้แล้ว กาลนั้นย่อมเกิดความรู้สึก แก่เราว่า อุปกิเลสแห่งจิต ของเราเหล่าใด อุปกิเลสนั้นๆ เราละได้แล้ว เดี๋ยวนี้ เราเจริญแล้วซึ่ง สมาธิโดยวิธีสามอย่าง

ดูก่อนอนุรุทธะทั้งหลาย เราเจริญแล้ว ซึ่งสมาธิ อันมีวิตกวิจาร ซึ่งสมาธิ อันไม่มีวิตก แต่มีวิจารพอประมาณ ซึ่งสมาธิ อันมีปิติ ซึ่งสมาธิ อันเป็นไปกับ ด้วยความยินดี และสมาธิ อันเป็นไปกับ ด้วยอุเบกขา

ดูก่อนอนุรุทธะ ทั้งหลาย กาลใดสมาธิอันมีวิตกวิจาร เป็นธรรมชาติ อันเราเจริญแล้ว กาลนั้น ญาณเป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเรา ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิด ไม่มีอีก (นิพพาน) ดังนี้ "

(หมายเหตุ พระอนุรุทธะ พระพุทธองค์ทรงยกย่อง ให้เป็นเลิศทางญาณ และเป็นพระเถระ ซึ่งเข้าฌานสมาบัติ ติดตามพระพุทธเจ้า ถึงนิพพานภูมิ ในขณะที่พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท เช่นกัน..... ผู้เขียน )

ตามพระไตรปิฎกฯ ที่กล่าวถึงนี้ จะเห็นว่าวิธีการปฏิบัติของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ถึงพระนิพพานนั้น ใช้หลักนิมิต รูป และแสงสว่าง ในการทำสมาธิ เป็นวิถีนำไปสู่การสิ้นชาติภพ พ้นจากสภาวธรรมทั้งปวง อันเป็นวิธีการอันถูกต้อง ซึ่ง เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) ได้นำมาจากพระไตรปิฎกบาลี ที่ใช้เป็นหลักของเถรวาทนั้นเอง มิใช่เป็นวิชชา ที่ท่านคิดค้นขึ้น ตามที่มีบุคคลกล่าวอ้าง ว่าไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก เพราะโดยความเป็นจริง ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี สฬา. สํ . ๑๘/๒๙๘ /๔๔๐) ได้กล่าวถึง วิชชา ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่เคยฟังมาก่อน"

การกล่าวว่า การปฏิบัติในวิชชานี้ เป็นเพียงพื้นฐานขั้นต้นเท่านั้น จึงมิใช่การกล่าวที่ถูกต้อง เพราะแนวทางที่ วัดพระธรรมกาย นำมาปฏิบัตินี้ เป็นวิธีการที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ปฏิบัติ ในคืนขณะตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นวิชชา และวิธีปฏิบัติสูงสุด ของพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระไตรปิฎก ที่อ้างไว้ มิใช่ขั้นต้น ดังเช่นบางบุคคลกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะเป็นวิธีเดียวกัน กับพระไตรปิฎกทุกประการ

จึงเป็นที่ยืนยันแก่พุทธศาสนิกชน ถึงวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ นิพพาน นั้น มีวิธีการปฏิบัติ โดยการใช้ โอภาสนิมิต หรือ นิมิตแสงสว่าง เป็นอย่างเดียวกันกับที่ พระมงคลเทพมุนี นำมาสั่งสอน ให้กับสานุศิษย์ โดยมิได้ผิดเพี้ยน นับว่าเป็นคุณแก่ชาวพุทธ ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่โชคดี ที่ได้มีพระสุปฏิปันโน ผู้รู้วิธีปฏิบัติ ถึงพระนิพพานได้จริง นำมาเผยแพร่ให้แก่ชาวพุทธ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยถูกต้อง ตามพระไตรปิฎก เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา และเป็นความจริง ที่ไม่อาจปฏิเสธใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งทางบาลี หรือทางภาษาไทย ย่อมแปลได้โดยอรรถ และโดยธรรม เช่นเดียวกัน

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งสอบได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ ของมหาจุฬาฯ และยังได้เปรียญธรรมสูงสุด อรรถกถาและบาลีปกรณ์ทั้งหลาย ล้วนผ่านสายตา มาแล้วทั้งสิ้น ฉะนั้นในพระไตรปิฎกส่วนนี้ ย่อมต้องได้อ่านมาแล้ว หากมิใช่เจตนา บิดเบือนพระสัทธรรม อันปรากฏในพระไตรปิฎก เหตุใดจึงเขียนเช่นนี้???


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1