พระพุทธพจน์ ปรากฏในพระไตรปิฎกยืนยัน นิพพานเป็นอัตตา

 

 

อัตตา ตามพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทนั้นจริงแท้ คืออย่างไร ?

"อัตตา" แปลว่า "ตัวตน" หมายถึงสภาพทางธรรมชาติ กาย ใจ ภาษาบาลีเรียกว่า "อตฺตา" ในพุทธศาสนาถือว่ามีสภาพเป็น "ปรมัตตา" (ปรมาตมัน)

"อัตตา" ที่มีสภาพเป็นตัวตนนี้ ได้มีพุทธพจน์ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี ที.ปา.๑๓/๔๙/๘๕ ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีอัตตา (ตน) เป็นที่พึ่ง มีอัตตาเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เถิด

(อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา)"

พร้อมกันในนั้นก็ได้มีอรรถาธิบายให้ความกระจ่างโดย "พระพุทธโฆษาจารย์" ปราชญ์แห่งพุทธศาสนา (ท่านได้เขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค อันเป็นแนวทางปฏิบัติสมาธิจิต เช่น กสิณ สมาธิ วิปัสสนา ให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้ยึดถือปฏิบัติมา ซึ่งพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เขียนจาบจ้วงพระพุทธโฆษาจารย์ไว้ ปรากฏในหนังสือพุทธธรรม) พระพุทธโฆษาจารย์ท่านได้ขยายความไว้ปรากฏใน "คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี" ความว่า

บทว่า "อตฺตทีปา" ความว่า ท่านทั้งหลายจงทำตนให้เป็นเกาะ เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นคติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

บทว่า "อตฺตสรณา" นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า "อตฺตทีปา" นั้นนั่นแล.

บทว่า "อญฺญสรณา" นี้เป็นคำปฏิเสธที่พึ่งอย่างอื่น ด้วยว่าผู้อื่น เป็นที่พึ่งของคนอื่นหาได้ไม่ เพราะคนอื่นจะบริสุทธิ์ด้วยความพยายามของคนอื่นไม่ได้. สมจริงดังที่ตรัส ไว้ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อะไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งอย่างอื่น" เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อนญฺญสรณา" (ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ) ถามว่า ก็ในที่นี้อะไรชื่อว่า "อัตตา" แก้ว่า "ธรรมที่เป็นโลกียะ" และเป็นโลกุตระ (ชื่อว่าอัตตา) ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า "ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา" (มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ)

(อตฺทีปาติ อตฺตานํ ทีป๎ ตาณํ เลณํ คดี ปรายนํ ปติฏฐ ํกตฺวา วิหรถาติ อตฺโถ. อตฺตสรณาติ อิทํ ตสฺเสว เววจนํ อนญฺญสรณาติ อิทํ อญฺญสรณปฏิกเขปวจนํ. น หิ อญฺโญ อญฺญสฺส สรณํ โหติ. อญฺญสฺส วายาเมน อญฺญสฺส อสุขฺฌนโต. วุตฺตมฺปิ เจตํ "อตฺตา หิ อตฺโน นาโถ. โก หิ นาโถ ปโร สิยา" ติ. เตนาห "อนญฺญสรณา" ติ. โก ปเนตฺถ อตฺตา นาม. โลกิยโลกุตฺตโร ธมฺโม. เตนาห "ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อญฺญสรณา ติ.)

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธพจน์ ให้อาศัย "อัตตาโลกียะ ในการปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความบรรลุถึง อัตตาโลกุตตระ อันเป็นปรมัตถธรรม ที่มี ณ ภายในพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า ที่ท่านได้บรรลุถึงนิพพานแล้ว" ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า "อัตตาในพุทธศาสนา" แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ " อัตตาโลกียะ" กับ "อัตตาโลกุตตระ" ซึ่งแตกต่างกันสิ้นเชิงดังนี้

๑. "อัตตาโลกียะ" คือ กายและใจ กล่าวโดยรวมคือเบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย อันมีมนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม เป็นต้น ที่ชาวโลกสมมุติและยึดถือกันว่าเป็นตัวตนได้เพียงชั่วคราว เพราะเป็นสภาพธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารคือสังขตธรรม) มีความเกิดขึ้นโดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุเป็นปัจจัย "จึงอยู่ในสภาพอันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน" คือต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย พร้อมทั้งดำรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน เมื่อตั้งอยู่ ก็มีความแปรปรวน เจ็บไข้ ไม่เป็นไปตามอำนาจ จึงเป็นทุกข์ และต้องมีความเสื่อมสลายแตกดับไปในที่สุด เป็นสภาพที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง เป็นสภาพสูญ จึงชื่อว่า "เป็นอนัตตา (อนตฺตา)" คือ "มีสภาพที่มิใช่ตัวตนที่แท้ตามความหมายแห่งพุทธพจน์" คือตรงกันข้าม

ในกรณีความสับสนดังกล่าวของความหมายในคำว่า "อัตตา (อตฺตา)" มักเกิดจากการนำเอาพระสูตรบทหนึ่งมาตีความด้วยความเข้าใจของตนเอง โดยไม่เป็นไปตามพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทซึ่งพระสูตรบทนั้นอยู่ใน อภิ. ก. ๓๗/๑๘๘/๔๒ และ ใน อภิ. ปุ ๙๖/๑๐๓/๑๗๙ มีความว่า

"ดูก่อนเสนิยะ ศาสดา ๓ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก...ฯลฯ..ในศาสดา ๓ ประเภทนั้น

๑. ศาสดาที่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง "โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า" นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "สัสสตวาท" (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าเที่ยง)

๒. ศาสดาที่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ "เฉพาะในปัจจุบัน" ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "อุจเฉทวาท" (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าขาดสูญ)

๓. ศาสดาที่ไม่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ "ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "สัมมาสัมพุทธ"

(ตโยเม เสนิย สตฺถาโร สนฺโต สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ ..ฯเปฯ.. ตตฺร เสนิย ยฺวายํ สตฺถา ทิฏเฐ เจว ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตฺโต ปญฺญเปติ. อภิสมฺปรายญฺจ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา สสฺสตวาโท.

ตตฺร เสนิย ยฺวายํ สตฺถา ทิฏเฐว หิโข ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ. โน จ โข อภิสมฺปรายํ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา อุจเฉทวาโท.

ตตฺร เสนิย ยวายํ สตฺถา ทิฏเฐ เจว ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต น ปญฺญเปติ. อภิสมฺปรายญฺจ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต น ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา สมฺมาสมฺพุทฺโธ)

หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ "ข้อที่ ๓" เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาข้อนี้เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นว่า ในพุทธพจน์ข้อ ๓ นี้ "ได้ทรงปฏิเสธอัตตาอันเป็นโลกียะ ในส่วนความหมายของศาสนา และศาสดาอื่นเสียทั้งสิ้น อันได้แก่พวก "ศาสดาสัสสตวาท" และ " ศาสดาอุเฉทวาท" ซึ่ง" อัตตา" ของศาสดาเหล่านั้นล้วนเป็น "อัตตาที่เป็นโลกียะทั้งสิ้น" ซึ่งในเหล่าศาสดาเหล่านั้นไม่มีผู้ใดบรรลุถึงซึ่งโลกุตตระธรรม อันมีพระนิพพานเป็นที่สุดเลยแม้แต่หนึ่งเดียว นอกจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ดังนั้นพระองค์จึงปฏิเสธ "อัตตานุทิฏฐิ อัตตาวาทุปาทานเหล่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อไปยึดติดกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอันเป็นเพียง "อัตตาโลกียะ" ว่าคือสิ่งเดียวกันกับ อัตตาแห่งโลกุตตระ" ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

๒. "อัตตาโลกุตตระ" คือ สภาพที่มีความ "เที่ยงแท้ เป็น ปรมัตถธรรมมีสภาพพ้นจากโลก" ไม่มีกิเลส ตัณหา อาสวะ ซึ่งจะมีเฉพาะพระอริยเจ้าซึ่งบรรลุอรหันต์ (นิพพาน) แล้วเท่านั้น จึงเป็นสภาพที่ ตรงกันข้ามกับ "อัตตาโลกียะ ซึ่งจะเป็นอนัตตา" เพราะว่า

ก. "อัตตาโลกุตตะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง" (วิสังขารหรืออสังขตธรรม) และเพราะธรรมชาติของอัตตาโลกุตตระนี้เกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติสมาธิจิตเพื่อการสลัดออกให้พ้นจากธรรมชาติอันมีปัจจัยปรุงแต่ง สังขารหรือสังขตธรรมเท่านั้น มิได้เป็นไปโดยการศึกษาท่องบ่น จดจำแล้วพ้นได้ จะต้องเป็นไปโดยการปฏิบัติจิตเพียงอย่างเดียว ดังมีพุทธพจน์อันปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ขุ.อุ. ๒๕/ ๑๖๐/๒๐๗-๒๐๘ ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว "มีอยู่"

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักมีไม่ได้แล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันเป็นปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว "จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย"

ภิกษุทั้งหลาย ก็แลเพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว ปัจจัยอันกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว "มีอยู่"

ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ

(อตฺถิ ภิกขเว อขาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ โน เจ ตํ ภิกฺขเว อภวิสฺส อชาตํ อภูตํ อสงฺขตํ นยิธ ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺญาเยถ ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว อตฺถิ อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ ตสฺมา ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺญายติ.)

"สรุป ความหมายของคำว่า "อัตตา" จาก พระพุทธพจน์กล่าวนี้ เป็นที่ยืนยันได้ถึงความแตกต่างของ "อัตตา" ซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิดคือ

๑. อัตตาโลกียะ อันเป็น สังขาร/สังขตธรรม เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปตามอำนาจแห่งเหตุและปัจจัย ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง ยังเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร

๒. อัตตาโลกุตตระ อันเป็น วิสังขาร/อสังขตธรรม เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนไปตามอำนาจแห่งเหตุและปัจจัย เป็นอัตตาที่แท้จริง ซึ่งเรียกว่านิพพาน พ้นจากวัฏฏะสงสารจะได้มาโดยการปฏิบัติทางสมาธิจิตเท่านั้น ไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1