"สรุปความหมายของคำว่า "อนัตตา" |
|
"อนัตตา" ภาษาบาลีเขียนว่า "อนตฺตา" คือ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และเป็นทุกข์ แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย ฉะนั้นสิ่งใดๆ ก็ตามที่ "ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ สิ่งนั้นคือ "อนัตตา" ทั้งสิ้น ซึ่งตรงข้ามกับ "อัตตา" ซึ่งหมายถึง "ความเที่ยงแท้แน่นอน เป็นสุข ไม่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย" พระพุทธองค์ทรงเทศนาเปรียบเทียบสภาพ"อัตตา" อันเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาธรรมถึง ๕ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑. "อนัตตา" มีสภาพตรงข้ามกับ "อัตตา" หลักการพิจารณานี้ พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี อนัตตลักขณสูตร วินย. ๔/๒๐/๒๔-๒๕ ทรงเปรียบเทียบระหว่าง "สภาพอัตตา" กับ "สภาพอนัตตา" ไว้ เช่นดังอ้างไว้แล้วแต่ต้นนั้น ครั้งที่ ๒. "ไม่เป็นไปในอำนาจ" ตามพุทธพจน์ที่กล่าวใน ๑. ยืนยันชัดว่า เบญจขันธ์มิใช่เป็น "อัตตา" เพราะไม่สามารถควบคุมได้ ไม่มีความเที่ยงแท้ และแปรเปลี่ยนไปโดยเหตุและปัจจัย ครั้งที่ ๓. "ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง" พุทธองค์ทรงมีพุทธวจนะปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท วินย .๔/๒๒/๒๗ ว่า "รูปทั้งปวง นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวเรา" (สพฺพํ รูป๎ เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตา ) ครั้งที่ ๔. "มีสภาพเป็นสูญ" คือ เป็นสิ่งที่ว่าง เปล่า เสื่อมสลาย ครั้งที่ ๕. "มีสภาพเป็นธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อันทำให้มีสภาพไม่เที่ยง" และพระพุทธองค์ก็ทรงสรุปการพิจารณาสภาพของอนัตตาไว้ ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี เถรวาท สํ. ข.๑๗/๔๒/๒๘ ว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" สรุปความตามพุทธพจน์การพิจารณาสภาวธรรมของ "อัตตา" และ "อนัตตา" เป็นสิ่งยืนยันได้ถึงเหตุและผลที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันระหว่าง สภาวธรรม ๓ ประการ คือ ๑. ความเป็นสิ่งไม่เที่ยง ๒. ความเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ๓. ความเป็นสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ซึ่งทั้ง ๓ สิ่งนี้จะแยกกันมิได้เปรียบประดุจดั่งสายโซ่ที่ไม่มีปลาย ย่อมต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ดังนั้นด้วยความเชื่อมโยงกันดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า "ไตรลักษณ์" โดยลักษณะทั้ง ๓ ประการดังกล่าว และมีคำอรรถาธิบายโดยพระธรรมปาละเถระ ได้ขยายความให้ความกระจ่างส่วนความหมายไตรลักษณ์นี้ไว้ ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท อุทาน. อฏ. ๒๕๑ ว่า "แท้ที่จริง เมื่อเห็นอนิจจลักษณะ ก็เป็นอันเห็นอนัตตลักษณะเหมือนกัน. เพราะลักษณะเมื่อเห็นลักษณะหนึ่งในบรรดาลักษณะในบรรดาลักษณะทั้งสาม ก็เป็นอันเห็นลักษณะอีก ๒ อย่างนอกนี้เหมือนกัน" (อนิจฺจลกฺขเณ หิ ทิฏเฐ อนตฺตลกฺขณํ ทิฏฐเมว โหติ. ติสุ หิ ลกฺขเณสุ เอกสฺมึ ทิฏเฐ อิตรทฺวยํ ทิฏฐเมว โหติ.) |