จะเข้าถึง "อัตตา" และ "อนัตตา" ได้ด้วยการปฏิบัติสมาธิจิตเท่านั้น

 

 

เนื่องจาก "อัตตา" และ "อนัตตา" เป็นสภาวธรรมอันละเอียดอ่อน ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยการ ศึกษาโดยการเรียนรู้ วิเคราะห์ หรือวิจารณ์จากตำราได้โดยวิธีปกติ จะสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ "โดยการปฏิบัติสมาธิจิตเท่านั้น" ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพุทธพจน์ยืนยันไว้ปรากฏในพระไตรปิฎก บาลีเถรวาท เวชณสสูตร มู. ม. ๑๓/๓๗๒/๔๐๑ ว่า

".......บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีสัญชาติแห่งความตรง จงมาเถิด เราจะพร่ำสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อ "ปฏิบัติ" อยู่ตามที่เราสอนแล้ว จักรู้เอง จักเห็นเองโดยแท้ ต่อกาลไม่นานทีเดียว..."

การ "ปฏิบัติ" ตามพุทธพจน์นี้ก็คือการปฏิบัติตามหลักแห่ง "วิภาค ๖ แห่งวิปัสสนา" ซึ่งจะใช้เป็นหลักในการพิจารณาสภาวะของธรรมชาติ ว่าสิ่งใดเป็น

- "อนัตตา" โดยการพิจารณาว่า ธรรมชาติใดที่ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) และมีสภาพที่มิใช่ตัวตน (อนตฺตา)

- "อัตตาโลกุตตระ" โดยหลักว่า ธรรมชาติใดเที่ยงแท้ (นิจจํ) เป็นสุข (สุขํ) และมีสภาพเป็นแก่นสารมีตัวตน (อตฺตา)

เมื่อพิจารณาโดยการปฏิบัติโดยวิภาค ๖ แห่งวิปัสสนาดังกล่าวแล้วนั้นก็จะทำให้รู้ถึงความจริงแห่งไตร ลักษณ์ (อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา) ซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ที่ร้อยรัดติดกันอันเป็นลักษณะแท้จริงของ สังขาร/สังขตธรรม ที่มีลักษณะประจำของธรรมชาติที่เป็นไปใน ภูมิธรรม ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และกับส่วนที่เป็นบัญญัติหรือที่ยังเป็นกริยา คือยังอยู่ในภาวะที่มีความเสื่อมและสูญสิ้น (ขยวยธรรม) เป็นธรรมที่ต้องตาย (มตธรรม) เท่านั้น ไม่มีเป็นลักษณะอื่นนอกเหนือไปจากนี้ นี่คือลักษณะจำเพาะของ "อนัตตา"

แต่ลักษณะของ "อัตตาโลกุตตระ" จึงเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันคือ ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธรรมที่พ้นโลก พ้นห่วงโซ่แห่งไตรลักษณ์ (คือไม่อยู่ในวงจร อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา) ไปโดยสิ้นเชิง เป็น "อมตธรรม" คือ ธรรมอันไม่ตาย (วิสังขาร/อสังขตธรรม)

เพื่อความกระจ่างสำหรับพุทธศาสนิกชน ก็ต้องอธิบายความหมายของ วิสังขาร/อสังขตธรรม สักเล็กน้อยเพราะรู้สึกว่าเป็นคำที่ชอบยกขึ้นมาอ้างกันอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับว่าคนที่ไม่รู้คำนี้แล้วไม่ใช่ชาวพุทธ เป็นงั้นไปโดยความเป็นจริงแล้ว การทำความเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ยากเย็นอะไรขอให้ปฏิบัติโดยสมาธิจิต จะสามารถเข้าใจกระจ่างถึงคำอธิบายทั้งปวงได้โดยภาษาของเราเอง ส่วนภาษาที่ปรากฏในหนังสือนั้น บางทีเราก็สับสนในความหมาย ไม่ลึกซึ้งเพียงพอนี่คือสาเหตุหนึ่งที่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านจึงมักถูกพวกนักวิชาการที่อาศัยความฉลาดในการจดจำ ดังนั้นพวกนักวิชาการจึงมีแต่เพียงความรู้แต่ขาดปัญญาเพราะว่าปัญญาจะได้มาจากการปฏิบัติเท่านั้น แต่ก็เอาละครับเมื่อเขาว่าเรื่องวิชาการในตำราก็จะขอยกตำรามายันกันให้เห็นเนื้อเห็นหนังกันไปเลยเชียวแหละในเรื่อง วิสังขาร/อสังขตธรรม

วิสังขาร/อสังขตธรรม คือ สภาพของสิ่งที่ไม่เป็นไปตามเหตุและปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสภาพของธรรมอันอยู่เหนือบัญญัติ อยู่ในโลกุตตระภูมิ เป็นภูมิธรรมในภูมิที่ ๔ (ในภูมิธรรม ๓ จะมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) ซึ่งเรียกว่า สังขาร/สังขตธรรม ไม่มีความเกิด ไม่มีความเสื่อมสลาย ตั้งอยู่อย่างถาวรไม่มีความแปรปรวน ฉะนั้นจึงมีสภาพเที่ยงแท้ มีสาระเป็น "อัตตา" ซึ่งตรงข้ามกับ "อนัตตา" ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบ "อัตตลักษณะ" กับ "อนัตตลักษณะ" อันปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท อนัตตลักขณสูตร

และสภาพของ วิสังขาร/อสังขตธรรม อันเป็นโลกุตตระธรรมนั้น มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ก็คือ "พระนิพพาน" นั่นเอง ที่มีสภาพเป็น "อัตตลักษณะ" คือ "มีแก่นสาระในความเป็นตัวตน" ซึ่งก็คือ "อัตตาโลกุตตระ" จึงเป็นที่ยืนยันโดยพุทธพจน์ อันปรากฏในพระไตร ปิฎกได้ว่า "นิพพานเป็นอัตตา"

แต่ก็นั่นแหละครับท่านผู้อ่านเชื่อไหมล่ะครับว่า แม้จะยืนยันด้วยพระพุทธพจน์อันปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทแล้วก็ตาม จะต้องมีการยกเอาพระสูตรใน คัมภีร์ปริวาร ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นมาใหม่ในชั้นหลัง อันไม่ใช่พุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสเองมายืนยัน และพระคัมภีร์ ที่ว่านั้นอยู่ในวินัยปิฎก ปริวารวรรค (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘) แล้วอ้าง ว่าก็มาจากพระไตรปิฎกเหมือนกัน แต่อยู่ชั้นที่ ๓ ประเภท สุตตานุโลม แต่ที่ผมยกขึ้นมาอ้างนี้เป็นพระพุทธวจนะ อันจัดอยู่ในชั้นที่ ๑ ขั้นสูงสุดเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาเอง จึงเรียกว่าของจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ และคัมภีร์ปริวารวรรค ที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) นำมาอ้างก็คือ วินย. ปริวาร ๘/๘๒๖/๒๒๔ ว่า

"สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และบัญญัติคือพระนิพพานเท่านั้น ท่านวินิจฉัยว่าเป็น "อนัตตา"

(อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา

นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺต อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา)

แม้กระนั้นอาจจะต้องอ้างพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งจัดอยู่ในชั้น ๓ ขั้นสุตตานุโลม คือพวกอรรถกถาฎีกา อันมีปรากฏใน จูฬ. อฏ.๘ อันมีว่า

"บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมทั้งปวงมิใช่ตน) ท่านกล่าวคำนิพพานไว้ภายใน"

(สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตํ)

นอกจากนั้นก็ยังอาจจะยกเอาพระสูตรใน สํ. อฎ ๒/๓๔๖ มาอ้างเพื่อให้เกิดความสับสนต่อพุทธศานิกชนต่อไปอีกก็ได้ ว่า

"คำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมทั้งปวงมิใช่ตน) หมายความว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมดเป็น "อนัตตา"

(สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพ จตุภูมกธมฺมา อนตฺตา.)

ไม่ว่าจะยกอรรถคาถาฏีกาอะไรมาอ้าง ก็ไม่สามารถหักล้างพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจัดอยู่ในชั้นสูงสุด (ระดับสุตตะ) ได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักวินิจฉัยไตรลักษณ์ไว้แล้วปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท สํ. ข. ๑๗/๔๒/๒๘ ว่า

"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็น "อนัตตา"

ทั้งยังมีอรรถาธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งผมได้นำแสดงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาพุทธศาสนา อาจจะมีความสงสัยในข้อความที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" (ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวตน) จะหมายรวมถึง "นิพพาน" ด้วยหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นข้อถกเถียงให้เกิดความแตกแยกกันต่อไปในหมู่ชาวพุทธ ก็ขอขยายความให้ทราบว่า "ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวตน" นี้ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธวจนะไว้ให้หมายถึง

๑. "อนัตตลักษณะ" คือ "ลักษณะอาการอันแสดงสภาวธรรมที่มิใช่อัตตา (อัตตาโลกียะ)" ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ สังขาร/สังขตธรรม (ธรรมชาติอันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง) คือธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ทั้งสิ้น

๒. เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ "เฉพาะส่วนที่เป็นสังขารเท่านั้น" (ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี อุปปาทสูตร อง.ติก. ๒๑/๕๗๖/๓๖๘-๓๖๙ ซึ่งทรงตรัสเรื่องไตรลักษณ์ว่าด้วยธรรมนิยาม) ซึ่งหมายถึงสังขารที่เป็น ไปในภูมิ ๔ อันมีสภาพไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกขํ) ไม่มีสภาพเป็นอัตตา (อนตฺตา) ทั้งนี้ก็เพราะว่าสภาพเหล่านั้น ไม่เป็นไปในอำนาจ (อวสวตฺตนฏเฐน) ซึ่งมีปรากฏอรรถาธิบายไว้ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท อํ. อฏ. ๒/๒๗๒ ว่า

"บทว่า "ธมฺมฏฐิตตา" (ความตั้งอยู่แห่งธรรม) ได้แก่ภาวะที่ทรงตัวอยู่ได้เองตามสภาพ. บทว่า "ธมฺมนิยามตา" (ความแน่นอนเป็นธรรมดา) ได้แก่ ความแน่นอนตามสภาพ. บทว่า "สพฺเพ สงฺขารา" (สังขารทั้งปวง) ได้แก่ "สังขารที่เป็นไปในภูมิ๔." บทว่า "อนิจฺจา" (เป็นสภาพไม่เที่ยง) ความว่าชื่อว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะความหมายว่าเป็นแล้วกลับไม่เป็น. บทว่า "ทุกฺขา" (เป็นทุกข์) ความว่า ชื่อว่าเป็นทุกข์เพราะความหมายว่า บีบคั้นเสมอ. บทว่า "อนตฺตา" (สภาพมิใช่ตัวตน) ความว่า "ชื่อว่าเป็น อนัตตา" เพราะความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.

ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสลักษณะ ๓ อย่างไว้คละกัน ดังพรรณามาฉะนี้"

เพื่อเป็นการป้องกันความบิดเบือนพระสัทธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมมีความจำเป็นจะต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เอาไว้ไปต่อสู้กับพวกสู่รู้ทั้งหลายที่กำลังตั้งขบวนการล้มพระพุทธศาสนา และเป็นการป้องกันผู้ที่จะตั้งตนเป็นศาสดา โดยแอบอ้าง ว่าเป็นปราชญ์ทางศาสนาในอนาคตข้างหน้า ด้วยข้อแท้จริงอันเป็นพุทธพจน์ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยกระจ่างต่อไป (ท่านที่รู้แล้วก็เปิดผ่านไปอ่านบทอื่นก็แล้วกันนะครับ ไม่ว่ากัน)

"อนัตตลักษณะ" คืออะไร ? อนัตตลักษณะก็คือการรวมกันระหว่างลักษณะ ๒ ประการของ "อนิจจลักษณะกับทุกข์ลักษณะ ของสภาวธรรมที่เป็นไปในภูมิทั้ง ๔ แต่หมายเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสังขารหรือสังขตธรรม (ธรรมชาติที่ประกอบ ด้วยปัจจัยปรุงแต่ง) คือ ส่วนที่ไม่เป็นไปในอำนาจ (อวสวตฺตนฏเฐน) และ/หรือส่วนที่เป็นบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็คือ ส่วนที่ยังเป็นกริยาอาการอยู่นั่นเอง "ทั้งนี้มิได้หมายรวมถึงนิพพานโดยปรมัตถ์ที่เป็นวิสังขาร" (ธรรมชาติที่ไม่ประกอบด้วยเหตุและปัจจัยปรุง แต่ง) ซึ่งเป็นอสังขตธรรมแต่อย่างใดและตามที่พระอรรถกถาจารย์ต่างๆ ซึ่งได้แสดงความหมายของความเป็น "ของมิใช่ตน (อนตฺตา)" เพราะความหมายว่า "ไม่เป็นไปในอำนาจ (อวสวตฺตนฏฺเฐน)" นั้น ก็เพราะไม่ได้เป็นไปตามความต้องการว่า สังขารทั้งปวงจงอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย ดังที่พุทธพจน์ที่ปรากฏใน "อนัตตลักขณสูตร" นั่นเอง

พระพุทธพจน์ที่ได้นำมากล่าวนี้ เชื่อได้ว่า พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ได้เคยศึกษาผ่านมาแล้วทั้งสิ้น แต่เหตุไฉนจึงบิดเบือน ทำให้คลาดเคลื่อนจาก จาบจ้วง ด้วยการกล่าวอ้างว่า "พระพุทธศาสนาไม่มีคำสั่งสอนว่านิพพานเป็นอัตตา และผู้ใดสั่งสอนเช่นนี้เป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา" นี่คือข้อพิสูจน์ทางวิชาการให้ท่านผู้อ่าน และผู้ที่มีความรู้ทางด้านพุทธศาสตร์ หรือผู้ที่ต้องการค้นหาความจริง ควรต้องรับทราบข้อแท้จริงที่ชี้ให้เห็น เพื่อเป็นแนววิเคราะห์ถึงเจตนาว่า นี่คือการทำลายพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิเสธพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ใช่หรือไม่ และสิ่งที่นำมากล่าวนี้ท่านจะไม่ได้พบ ณ ที่ใดๆ หรือเอกสาร หนังสือ แม้กระทั่งการกล่าวโดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) หรือกลุ่มบุคคล องค์กรที่สนับสนุนมาก่อนเลย และนี่แหละคือข้อมูลที่แท้จริงจากพระไตรปิฎกอันเป็นหลักของพุทธศาสนา ที่ยืนยันว่า "พระนิพพานเป็นอัตตา" คำถามจึงอยู่ที่ว่า จุดประสงค์ในการบิดเบือนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทำเพื่ออะไร ? และศาสนาใดได้ประโยชน์ ?

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย และพระพุทธศาสนา ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เกิดความสับสนแปรปรวนในขณะนี้ เกิดจากการเผยแพร่ข้อความอันขัดต่อพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) นี้ผู้ใดจะรับผิดชอบความเสียหาย และการทำลายความมั่นคงของสถาบันของพระพุทธศาสนานี้ ถ้าท่านผู้อ่านทราบ ช่วยบอกด้วยว่าเขาคนนั้น คือใคร?

หลักฐานยืนยันเจตนาของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ว่ามีความต้องการหักล้างพุทธพจน์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนแก่พุทธบริษัท นับเป็นการบัญญัติศาสนาขึ้นใหม่ ปรากฏในหนังสือ "พุทธธรรม" หน้า๗๐/๒๘ (พิมพ์เผยแพร่โดยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๓๒) ข้อความจาบจ้วงพระสัทธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น มีว่า

"อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอันใดไม่เที่ยง อันนั้นย่อมเป็นทุกข์ อันใดเป็นทุกข์ อันนั้นย่อมเป็นอนัตตาก็จริง แต่อันใดเป็น อนัตตา อันนั้นไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยง ไม่จำเป็นต้องมีทุกข์เสมอไป" กล่าวคือ สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงย่อมเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา แต่ธรรมทั้งปวงคือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือ "ทั้งสังขารและวิสังขาร แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยง และเป็นทุกข์เสมอไป" หมายความว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร (คือนิพพาน) แม้จะเป็น "อนัตตา" แต่ก็พ้นจากความไม่เที่ยง และพ้นจากความทุกข์โดยนัยนี้

คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะทั้งสาม เท่าที่แสดงมาแล้ว ซึ่งมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน จึงมุ่งสำหรับสังขารหรือสังขตธรรมเป็นสำคัญ"

จากข้อความของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ได้เผยแพร่ต่อสารธารณชนดังปรากฏนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการ "หักล้าง" จาบจ้วงพระพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้" ไม่สามารถปฏิเสธได้ด้วยประการทั้งปวงเพราะพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ชัดว่า

"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"

(ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา ) สํ. ข. ๑๗/๔๒/๒๘

แต่ "อัตตาโลกุตตระ" อันเป็น "วิสังขาร/อสังขตธรรม" เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนไปตามอำนาจแห่งเหตุและปัจจัย เป็นอัตตาที่แท้จริง ซึ่งเรียกว่า "นิพพาน" อันพ้นจากวงจรแห่งวัฏฏะสงสาร การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้นการ ที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) อาศัยความเข้าใจของตนเองและสรุปเอาเองโดยขัดกับพระพุทธวจนะว่า

"ธรรมทั้งปวงคือทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือ "ทั้งสังขารและวิสังขาร แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เสมอไป" หมายความว่าอสังขตธรรมหรือวิสังขาร (คือนิพพาน) แม้จะเป็น "อนัตตา" แต่ก็พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความทุกข์โดยนัยนี้"

ฉะนั้นการกระทำของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เท่ากับเป็นการหักล้างพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กลุ่มขบวนการผู้ร่วมมือ และสื่อมวลชนแนวร่วมนั้น จะจัดเป็น ตัวการร่วมที่"ทำให้พระธรรมวินัยอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ให้เกิดวิปริต บิดเบือน"โดยแท้จริง และนี่คือมหันตภัยของชาวพุทธ หากยังสงสัยที่จะตอบคำถามนี้ก็อยากจะขอยกข้อความของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) อันปรากฏอยู่ชัดในหนังสือ "พุทธธรรม" หน้าเดียวกันนั้น มาให้พิจารณากันเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปสำหรับท่านผู้อ่าน มีความว่า

"ส่วนความที่เป็น "อนัตตา" ของวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความความกระจ่างกันต่อไป"

นี่คือข้อความที่บ่งชัดว่าเป็นการหักล้างและจาบจ้วงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทรงแสดงธรรมไม่กระจ่าง จึงต้องหาความกระจ่างต่อไป ทั้งๆ ที่พระพุทธวัจนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งได้อธิบายความโดยกระจ่างถึงคำว่า "วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม คือโลกุตตระธรรม" นั้นมีอยู่แจ้งชัด แม้พระไตรปิฎกบาลีเถรวาทก็ปรากฏเป็นหลักฐานยืนยันตรงกันข้ามกับข้อความของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ชนิดขาวกับดำสามารถพิสูจน์ได้ชัดใน ปฏิสํ. อฏ. ๑/๓๓๘ ความว่า

"ก็เพราะ โลกุตตระธรรม มิใช่ธรรมต้องตัดขาดด้วยการตัดขาดเหตุ. ฉะนั้น โลกุตตระธรรม (ธรรมที่เป็นไปในภพที่๔) แม้ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยศัพท์ว่า สพฺพธมฺม ก็ไม่พึงถือเอาในที่นี้ เพราะเป็นธรรมที่เกิดพร้อมด้วยอำนาจแห่งการตัดขาด (สมุทจเฉท) . พึงถือเอาภูมิธรรม (ธรรมที่เป็นไปในภูมิที่๓) ที่ต้องตัดขาดด้วยการตัดขาดเหตุเท่านั้น."

( ยสฺมา ปน โลกุตฺตรธมฺมา เหตุสมฺมุจฺเฉเทน สมุจฉินฺทิตพฺพา น โหนฺติ. ตสฺมา สพฺพธมฺมสทฺเทน สงฺคหิตาปิ โลกุตฺตรธมฺมา สมุจฺฉินฺทิตตพฺพา เอว เตภูมกธมฺมา คเหตพฺพา.)

จากที่กล่าวมาแล้วนั้น เราจะเห็นได้ชัดว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแบ่งลักษณะออกเป็น ๒ ชนิดคือโดยหลักแห่งวิภาค ๖ คือ สภาพของเบญจขันธ์ (สังขาร/สังขตธรรม) กับ นิพพาน (วิสังขาร/อสังขตธรรม) ซึ่งจะตรงข้ามกันอย่างชัดแจ้ง ดังนี้


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1