กรณี นายสมพร เทพสิทธา   กล่าวหาฟ้องร้องวัดพระธรรมกาย

 

 

                    ข้อกล่าวหา                    

๑. ผู้ถูกกล่าวหาสอนผิดบิดเบือน ลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการสอนเป็นเวลาหลายปี โดยสอนผิดบิดเบือนลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิวธ เช่น ได้สอนวิชชาธรรมกายซึ่งกล่าวแสดงเรื่องอายตนะนิพพานให้เป็นสถานที่เที่ยงแท้เป็นอัตตา ซึ่งผู้ปฏิบัติตามวิชชาธรรมกายจนได้ถึงธรรมกายที่ละเอียด ธรรมกายนั้นก็เป็นอัตตาที่เที่ยงแท้ด้วย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และผู้ได้ธรรมกายชั้นสูง เมื่อตายก็จะถูกอายตนะนิพพานดูดไป อุบัติเป็นองค์ธรรมกายเที่ยงแท้เข้านิโรธสมาบัติในอายตนะนิพพานเป็นนิรันดร (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยหมายเลข ๑ และ๔)

การสอนดังกล่าวเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือ ธรรมปลอม เพราะในพระไตรปิฎกไม่มีวิชชาธรรมกาย มีเพียงคำว่าธรรมกายปรากฏรวม ๔ แห่งเท่านั้น ซึ่งมิได้มีความหมายดังเช่นที่ผู้ถูกกล่าวหาสอนเลย คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกทรงสอนไว้ว่า ทุกอย่างรวมทั้งนิพพานเป็นอนัตตา และทรงสอนให้พัฒนาตนตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาให้ครบถ้วน โดยเฉพาะในทุกเรื่องจะต้องมีปัญญากำกับเสมอ เพื่อให้เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานอย่างแท้จริง มิใช่ลุ่มหลงในนิมิตของสมาธิ ดังเช่นผู้ถูกกล่าวหาสอน ซึ่งเป็นเพียงความสงบสบายชั่วขณะสมาธิเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลศให้หมดไปได้ คำสอนของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง เพราะคำสอนของผู้ถูกกล่าวหาได้สอนคำสอนที่ผิด บิดเบือนตรงกันข้ามจากหลักการสำคัญทั้งหมด ของพระพุทธศาสนา การสอนของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็น การบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

                    ข้อแท้จริง                    

๑. พระนิพพาน โดยพระสัทธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมศาสดา ทรงหมายเอาการหลุดพ้นจากสภาวธรรมทั้งปวง คือการเวียนว่าย ตาย เกิด ซึ่งเรียกว่า วัฏฏสงสาร โดยมีนิพพาน เป็นที่หมายปรากฏพุทธาธิบาย วิธีปฏิบัติ สภาพนิพพาน ไว้ในพระไตรปิฎกบาลี อันใช้เป็นหลักในการสั่งสอนของนิกายเถรวาท (ประเทศไทย) ตลอดมา ดังนี้

๑.๑ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง และเป็นอมตะ ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี ขุ. จูฬ. ๓๐/๖๕๙/๓๑๕) ว่า

"ยสฺส อุปฺปาโท ปัญฺญายติ วิโย นตฺถิ ตสฺส ยญฺญทตฺถุ ปัญฺญายติ นิพฺพานํ นิจฺจ ธุวํ สสฺสตํ อวิปริณามธมฺมนฺติ อสํทิรํ อสํกุปป๎ ฯ.."

"ความเกิดแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉนั้น จึงชื่อว่าอันอะไร อะไร นำไปมิได้ ไม่กำเริบ"

ด้วยพระพุทธเทศนานี้เองจึงได้ทราบว่า นิพพาน คือ ความเที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง ด้วยความเที่ยงแท้โดยสภาพของนิพพาน ดังนั้นนิพพานจึงเป็นคุณชาติอันอมตะ ดังปรากฏในพระไตรปิฎก (บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๒/๔๖๑) ว่า

"ประตูแห่ง นิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้นจงปลงศัทธาลงไปเถิด..."

ทั้งยังทรงเทศนาไขความกระจ่างว่าสภาพสิ่งอื่นนอกจากนิพพาน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมีสภาพอันไม่เที่ยงล้วนเป็นอนัตตา ปรากฏในพระไตรปิฎก (บาลี สังยุตตนิกาย ขันธวัคค์ ๑๗/๙๑/๕๖) ว่า

"ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา.."

"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา"

พร้อมกันนั้นทรงสรรเสริญความสุขของ นิพพาน อันพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงไว้ ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕/๒๕/๔๒) ว่า

"นิพพานํ ปรมํ สุขํ ฯ"

"นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

๑.๒ นิพพานเป็นอายตนะ

พร้อมกันนั้นพระพุทธองค์ยังทรงอธิบายเพื่อมิให้พุทธบริษัทในอนาคต กาล ผู้ปฏิบัติธรรมมีความสงสัยในสภาพแห่งนิพพานว่าเป็นเช่นใดในหลายแห่ง เช่น ท่านทรงพุทธาธิบายลักษณะของนิพพานไว้โดยชัดแจ้งปรากฏในพระไตรปิฎก เถรวาท (บาลี ฑีฆนิกาย สีลักขันธวัคค ๙/๒๒๗-๒๘๓/๓๔๓-๓๕๐) ว่า

"คือ อายตนะ หนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งไม่มีปรากฎการณ์ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทางปฏิบัติเข้าถึงได้นั้นมีอยู่.."

๑.๓ พระอรหันต์และพระพุทธเจ้าทั้งหลายอาศัยอยู่ในนิพพาน

พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาให้พุทธสาวกได้กระจ่าง และเข้าใจไม่สับสนในอานุภาพแห่งการปฏิบัติตามพระสัทธรรม ถึงพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต อันได้ปฏิบัติเข้าถึงพระนิพพานแล้วนั้น ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในพระนิพพาน ดังปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต ๒๑/๒๕/๒๑) ว่า

"... พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ล่วงไปแล้วในอดีต ก็ได้สักการะพระธรรมนั้นเอง แลเข้าไปอาศัยอยู่ แม้จักตรัสรู้ข้างหน้า ก็จักสักการะพระธรรมนั้นเอง แลเข้าไปอาศัยอยู่..."

จากพุทธธรรมเทศนาอันอ้างมานี้ คือสิ่งที่ภิกษุอันเป็นพุทธบริษัทจักต้องยึดถือและปฏิบัติ และเทศนาสั่งสอนตามที่นัยอันปรากฏในพระไตรปิฎกนี้เพื่อสืบต่อพระศาสนา เป็นการป้องกันมิให้เกิดการบิดเบือนแปรผัน ในพระสัทธรรม ดำรงไว้ซึ่งความเป็นอมตธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สามารถปฏิบัติได้ในทุกกาล พิสูจน์ได้ในกาลทุกเมื่อ

๑.๔ การสั่งสอนให้ใช้ "นิมิต แสงสว่าง" เป็นแนวทางของพระพุทธองค์

วัดพระธรรมกาย เทศนาสั่งสอนสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ให้รับรู้และปฏิบัติตามพระสัทธรรมคำสั่งสอน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ มิได้แปรเปลี่ยนแก้ไข โดยนำเอาพระพุทธเทศนามรรควิธีอันพระบรมศาสดาทรงใช้ในคืนวันตรัสรู้ จนบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงใช้ นิมิต แสงสว่าง (คัมภีร์วิสุทธิ์มรรคเรียกว่า อโลกกสิณ) เป็นวิธีปฏิบัติ อันปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี อปักกิเลสสูตร สุญญตวรรค (อุปริ ม. ๑๔/๓๐๒ /๔๕๒) โดยทรงอาลปนะว่า

"อนุรุทธะ ทั้งหลาย นิมิตนั้นแหละ เธอพึงแทงตลอดเถิด แม้เราเมื่อครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็จำแสงสว่าง และการเห็นรูปทั้งหลายได้ ต่อมาไม่นาน แสงสว่าง และการเห็นรูป ของเรานั้นๆ ก็หายไป เกิดความสงสัยแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้แสง สว่างและการเห็นรูป นั้นหายไป อนุรุทธะ ทั้งหลาย เมื่อคิดอยู่ ก็เกิดความรู้ว่า

วิฉิกิจฉา แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) ก็เพราะมีวิฉิกิจฉาเป็นต้นเหตุ ครั้นสมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) แสงสว่างและการเห็นรูป ย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิฉิกิจฉาจะไม่บังเกิดแก่เราได้อีก....ฯลฯ

ดูก่อน อนุรุทธะ ทั้งหลาย เรานั้นเมื่อไม่ประมาท มีเพียร มีอัตตาส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้ดีแต่ไม่เห็นรูป ย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปแต่จำแสงสว่างไม่ได้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใดเราไม่ทำ รูปนิมิตไว้ในใจ แต่ทำโอภาสนิมิต ไว้ในใจ สมัยนั้นเราย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งแลคืนทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีอัตตาส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างมากไม่มีประมาณ เห็นรูปไม่มีประมาณบ้าง เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างได้มากไม่มีประมาณ เห็นรูปได้มากไม่มีประมาณ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใด สมาธิของเราน้อย สมัยนั้น จักขุก็มีน้อย ด้วยจักขุอันมีน้อย เราจึงจำแสงสว่างได้น้อย เห็นรูปน้อย สมัยใดสมาธิของ เรามากไม่มีประมาณ สมัยนั้นจักขุของเราก็มากไม่มีประมาณ ด้วยจักขุอันมากไม่มีประมาณนั้น เราจึงจำแสงสว่างได้มากไม่มีประมาณ เห็น รูปได้มากไม่มีประมาณ ตลอดคืนบ้าง ตลอดวันบ้าง ตลอดทั้งคืนทั้งวันบ้าง

ดูก่อนอนุรุทธะ ทั้งหลาย ในการที่เรารู้แจ้งว่า วิฉิกิจฉา เป็นอุปกิเลศแห่งจิตแล้ว และละมันเสียได้แล้ว การนั้นย่อมเกิดความรู้สึกแก่เราว่า อุปกิเลศ แห่งจิตของเราเหล่าใด อุปกิเลสนั้นๆ เราละได้แล้ว เดี๋ยวนี้ เราเจริญแล้วซึ่ง สมาธิโดยวิธีสามอย่าง

ดูก่อนอนุรุทธะ ทั้งหลาย เราเจริญแล้ว ซึ่งสมาธิอันมีวิตกวิจาร ซึ่งสมาธิอันไม่มีวิตก แต่มีวิจารพอประมาณ ซึ่งสมาธิอันมีปิติ ซึ่งสมาธิอันเป็นไปกับด้วยความยินดี และสมาธิ อันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา

ดูก่อนอนุรุทธะ ทั้งหลาย กาลใดสมาธิอันมีวิตกวิจาร เป็นธรรมชาติอันเราเจริญแล้ว กาลนั้นญาณเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็นเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดไม่มีอีก (นิพพาน) ดังนี้

(หมายเหตุ พระอนุรุทธะ พระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นเลิศทางญาณ และเป็นพระเถระซึ่งเข้าญาณสมาบัติ ติดตามพระพุทธเจ้าถึงนิพพานภูมิ ในขณะที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทเช่นกัน )

โดยพระไตรปิฎกบาลี อันใช้เป็นหลักของนิกายเถรวาท ตามที่ได้กล่าวอ้างไปแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เราซึ่งเป็นพุทธบริษัท พึงควรยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ วัดพระธรรมกายจึงนำมาใช้เป็นหลักในการสั่งสอน เพื่อให้พุทธศานิกชนถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นพุทธปณิธาน ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตั้งไว้ที่จะให้เวนัยสัตว์ล่วงพ้นจากวัฏฏสงสารโดยแท้

ตามพระไตรปิฎกฯ ที่กล่าวถึงนี้จะเห็นถึงวิธีการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ถึงพระนิพพานนั้น ใช้หลักนิมิต รูป แสงสว่างในการทำสมาธิ เป็นวิถีนำไปสู่การสิ้นชาติภพพ้นจากสภาวธรรมทั้งปวง อันเป็นวิธีปฏิบัติให้ เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์คือ นิพพาน นั้น มีวิธีการปฏิบัติโดยการใช้ โอภาสนิมิต หรือนิมิตแสงสว่าง เป็นอย่างเดียวกันกับที่นำมาสั่งสอนวิธีการปฏิบัติให้กับสานุศิษย์มิได้ผิดเพี้ยน นับว่าเป็นคุณแก่ชาวพุทธในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่โชคดีที่วัดพระธรรมกาย ได้นำวิธีปฏิบัติถึงพระนิพพานตามพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ให้แก่ชาวพุทธตามพระไตรปิฎก เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธใดๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งบาลี หรือภาษาไทย ย่อมแปลได้โดยอรรถ และโดยธรรมเช่นเดียวกัน และสามารถยืนยันได้จากพุทธเทศนาถึงการให้พระภิกษุปฏิบัติในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี ปฐมสูตร อโยคุฬวรรค มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๖๒/๑๒๐๕) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ความรู้นี้เกิดขึ้นแก่เราว่า ภิกษุนั้นๆ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิ อาศัยฉันทะเป็นปทานกิจ ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ ฉันทะของเรา ย่อมมีในลักษณะที่ไม่ย่อหย่อน..... เธอย่อมอบรมจิตอันมี แสงสว่าง ด้วยทั้งจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรพัวพัน ให้เจริญอยู่ด้วยอาการอย่างนี้"

และทรงขยายความในการทำสมาธินิมิตของพระองค์ไว้ ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี มหาสัจจกสูตร มู. ม. ๑๒/๔๖๐/๔๓๐) ว่า

"...เรานั้นหรือ...ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตใน สมาธินิมิต อันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีความเป็นจิตเอก ดังที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้"

จากที่ยกมากล่าวทั้งสิ้นนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้สมาธินิมิตอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นการปฏิบัติ และสั่งสอนตามพระสัทธรรม ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นสิ่งที่พุทธสาวกพึงจักต้องกระทำอย่างยิ่งยวด มิอาจบิดพริ้วแปรผันปฏิบัติอย่างอื่นอันแตกต่างไปจากพระพุทธพจน์มิใช่หรือ หากเรายังเคารพนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบรมศาสดาของเราชาวพุทธบริษัททั้งหลาย

๑.๕ วิชชาธรรรมกายคือ กายในกาย

ตามที่ได้อ้างแล้วใน (๑.๓) พระพุทธธรรมเทศนา อันปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี ถึงมรรควิธีในคืนวันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงถึงการทำสมาธิให้เห็นรูปนิมิต เป็นหลัก และทรงให้ใช้นิมิตนั้นเป็นแนวทางเข้าถึงนิพพาน วัดพระธรรมกายเผยแพร่และสั่งสอน โดยยึดหลักพระสัทธรรมในพระไตรปิฎกบาลีอย่างเคร่งครัด ดังปรากฏวิธีปฏิบัติในเอกสารต่างๆ ของวัดพระธรรมกายว่าให้ผู้ปฏิบัติทำสมาธิให้เห็นดวงแก้วอันมีแสงสว่าง (โอภาส) เห็นกายและกายทั้งหลายนั้น จะซ้อนกันอยู่หลายชั้น เป็นลักษณะของกายในกาย อันเป็นหลักปฏิบัติที่ได้บัญญัติไว้ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท บาลี มหาวาร.สํ (๑๙/๒๔๖-๒๔๘/๘๒๐-๘๒๔) ว่า

"...เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง...คือภิกษุเป็นผู้มีธรรมดา ตามเห็นกายในกาย ...นี้แหละทางเดียว ดังนี้"

คำว่า ที่พึ่ง ภาษาบาลี คือ สรณะ ดังนั้น ตนจะเป็นที่พึ่งแห่งตน ได้ ต้องมีตนเป็นสรณะ ผู้ที่จะมีตนเป็นสรณะได้นั้น จะมีได้ทางเดียวคือการปฏิบัติสมาธิจิต เพื่อให้ ตามเห็นกายในกาย และกายในกาย เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ เพื่อยืนยันความจริง ที่ผู้รักการปฏิบัติทางสมาธิจิต อันมีนิพพานเป็นที่สุดควรรู้ ขอนำพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้แก่พระอานนท์ ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๑๘/๙๓) (บาลี มหาวาร สํ. ๑๙/๒๐๕/๗๑๒-๓) ว่า

"อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตามเห็นซึ่ง กายในกาย ฯลฯ

อานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ไม่มีอื่นเป็นสรณะ"

                    ข้อกล่าวหา                    

๒. ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

                    ข้อแท้จริง                    

ผู้เห็น แสงสว่าง ก็จัดว่าเป็นผู้ที่ได้อิทธิบาทแล้ว ดังปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท (บาลี มหาวาร. สํ.๑๙/๓๓๐/๑๑๑๘) ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เห็น ญาณ รู้แจ้ง วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมที่ไม่เคยฟังมาแต่ก่อนว่า นี้คืออิทธิบาท ฯลฯ"

สิ่งซึ่งแสดงให้เห็นการใช้อิทธิพลทางการเมือง เข้าทำลายพระพุทธศาสนา นั้นมีปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง นายสมพร เทพสิทธา ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิก (โดย การแต่งตั้งตามความพอใจของนายกฯ) ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนข่มขู่พุทธบริษัทชาวไทย โดยอ้างว่าจะรวมพลังชาวพุทธ ๓๐๐ องค์กร ปรากฏเป็นหลักฐานต่อสื่อมวลชนความว่า

"ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๒ นายสมพร เทพสิทธา ยังได้แถลงข่าวที่สภาสังคมสงเคราะห์ (อันเป็นสถานที่ราชการ เป็นเครื่องมือ) การตั้ง "องค์กรเครือข่ายชาวพุทธเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" (ทั้งนี้เพื่อให้มีชื่อคล้ายกับพระราชบัญญัติอันออกมาสำหรับบีบพุทธบริษัทชาวไทย ไม่ผิดกับในเวียตนาม ทั้งนี้เพราะนายสมพรฯ ต้องการผลักดัน พ.ร.บ.อุปถัมภ์ฯ ให้ออกเป็นกฎหมายเนื่องจากตำแหน่งของประธานยุวพุทธฯ จะเป็นตำแหน่งสำคัญ ใน พ.ร.บ.นี้เป็นอย่างมาก ซึ่งผลเสียของ พ.ร.บ.นี้ได้กล่าวไปแล้วในหนังสือ "เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ" แล้ว)

นายสมพรฯ ได้กล่าวว่า ได้จัดพิมพ์หนังสือ "แฉกลวิธีทำลายพระพุทธศาสนาของกลุ่ม ดร.เบ็ญจ์ บาระกุล" ออกมาเผยแพร่จำนวน ๕๐,๐๐๐ เล่ม เพราะรู้สึกสลดใจกับการโจมตีพระธรรมปิฎก ซึ่งเป็นที่นับถือและมึความรู้ความสามารถอันเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจพระพุทธศาสนาดีที่สุดผู้หนึ่ง ดังนั้นหากมีการทำลายชื่อเสียงพระธรรมปิฎก ก็เท่ากับว่าพระพุทธศาสนาถูกทำลาย" (หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับที่ ๑๗๐๐๑ วันที่ ๑๓ พฤศิจกายน พ.ศ.๒๕๔๒)

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งไม่ผิดอะไรกับที่เกิดในประเทศเวียตนามมาแล้ว ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐ อำนาจรัฐ และอิทธิพลเถื่อน ที่พยายาม ล้มล้างพระพุทธศาสนา หากสังเกตุจากคำพูดของนายสมพรฯ จะเห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ไม่ใช่หมายถึงพระธรรมวินัยอันปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกอันเป็นพระพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถูกทำลายไม่เป็นไรใช่หรือไม่ ? นี่คือสิ่งแสดงเจตนาอย่างแจ้งชัด อันปรากฏต่อสาธารณชน และประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะต้องบันทึกชื่อบุคคลเหล่านี้ไว้ตราบชั่วนิรันดร


(หน้าปก - - - สารบัญ - - - อ่านต่อ)

1