logo1-2.gif (14784 bytes)

Home
News and Articles
Discussion Forum
About Us
Sign our guestbook
button_mail2.gif (1724 bytes)
  title_articles.gif (4423 bytes)

 

การถ่ายสติ๊กเกอร์กับเศรษฐกิจไทย
โดย วีณารัตน์ เลาหภคกุล

Picture of Veenarat Laohapakakul (PEI)

          ย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่การถ่ายสติ๊กเกอร์เข้ามาใหม่ ๆ นั้น ข้าพเจ้าก็ตื่นตาตื่นใจ กับการได้ถ่ายกับเขาเหมือนกัน แต่มาวันนี้ การถ่ายสติ๊กเกอร์ก็ชวนให้ข้าพเจ้าสงสัยในพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะวัยรุ่น เดินไปมุมไหนของสยามก็จะเห็นร้าน และตู้สติ๊กเกอร์วางเรียงรายเต็มไปหมด ที่น่าประหลาดคือ ทุกร้านจะเต็มไปด้วยลูกค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา และนักเรียน   ข้าพเจ้าสงสัยมากว่า พวกเขาเหล่านี้ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังของชาติต่อไป จะได้แม้กระทั่งตระหนักถึงสภาพเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญหรือเปล่า เพราะการถ่ายสติ๊กเกอร์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึง "วัฒนธรรมการรับ" คือ การที่เราเป็นฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุ หรือความคิดจากผู้อื่น เป็นวัฒนธรรมที่ receptive ไปแล้ว

          ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านการถ่ายสติ๊กเกอร์ หรือกิจการนี้แต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกว่าพฤติกรรมดังกล่าวมัน "เกินความพอดี" เป็นจุดเล็ก ๆ ของภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า วัฒนธรรมของคนไทย จะเป็นวัฒนธรรม 'ที่รับ' มากเกินไปหรือเปล่า โดยที่ไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรจะดี และพอดีสำหรับตนเอง   ทำให้โยงไปถึงสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ค่อนข้างจะตอกย้ำความคิดนี้ คือ เราเลือก ที่จะไปตามกระแสแห่งเสรีนิยม (Liberalization) ทั้งด้านการเงินและการค้า ( finance and trade )   โดยที่ไม่ได้มองว่าตนพร้อมหรือยัง มี regulations ที่ดีพอที่จะรับมือกระแสนี้ไหวหรือไม่ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีความคิดว่า จะให้เราไปขวางโลก โดยไม่รับ liberalization เพียงแต่มองว่า ตัวเราเองยังไม่รู้เลยว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี การเปิดเสรีโดยฉับพลันดังกล่าวก็ได้ทำให้เราเป็นรองอีกหลาย ๆ ประเทศที่เขาพร้อมมากกว่าเราอย่างแน่นอน

          อะไรเล่าคือความพร้อม?    ข้าพเจ้ามองว่า มันคือ การที่เราสามารถพัฒนาตนเอง รู้จักเอาจุดดี จุดเด่นของเราเองมาปรับแล้วแข่งกับคนอื่น แต่การที่เราเป็นฝ่ายรับเสียส่วนใหญ่ และมักมองว่า "ของตะวันตก" หรือ "ความคิดตะวันตก" ต้องดีกว่าของเราเองนั้น นี่หรือเปล่า ที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่พัฒนาตนเอง มองข้ามสิ่งดี ๆ ของสินค้า "ไทยไทย" ที่จะสามารถนำไปขายแข่งกับชาติอื่นได้   ในความคิดของข้าพเจ้า มันหมดเวลาแล้ว กับการที่จะมาโวยวายว่าเราเสียเปรียบประเทศตะวันตก เราควรหันมาพัฒนาตนเอง ส่งออกในสิ่งที่เรามีเป็นพิเศษ บางคนสงสัยว่าขายอะไร? แล้วจะแข่งกับเขาได้หรือ? จริง ๆ แล้ว ตัวอย่างก็มีอยู่มาก แต่ในที่นี้จะได้ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว   ตัวอย่างแรก คือ การนำต้นไม้ไทย และกล้วยไม้ไทย ไปขายต่างประเทศ ซึ่งขายดี และเป็นสิ่งที่ต้องการ ของชาวต่างชาติอย่างมาก อีกกิจการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การส่งออกเครื่องปรุงอาหารไทย เช่น ใบกะเพรา โหระพา ให้แก่ร้านอาหารไทย ที่อยู่ต่างประเทศ เพราะในขณะนี้กลับเป็นบริษัทของสิงคโปร์ที่ครองตลาดอยู่!

          ข้าพเจ้าเชื่อว่า เมืองไทยมีอะไรดีเด่นอีกมาก เพียงแต่เรามองข้ามมันไป การพัฒนาความพร้อมนั้นสามารถ ทำได้ในหลาย ๆ ด้าน   การส่งออกสินค้าไทย ๆ ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะจะสามารถทำให้เราแข่งกับคนอื่นได้อย่างแน่นอน.

   กลับไปข้างบน  BACK TO TOP

 

 

 

 

1