logo1-2.gif (14784 bytes)

Home
News and Articles
Discussion Forum
About Us
Sign our guestbook
button_mail2.gif (1724 bytes)
  title_articles.gif (4423 bytes)

 

โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย (BIMST-EC)

โดย มนต์นิดา มุสิกบุตร

Picture of Monnida Musigkabutr ( YUI )

      ในโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นโลกที่ไร้พรมแดน และมีประเด็นทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นสำคัญ ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆในโลก ได้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกัน ในระดับต่างๆ ทั้งในระดับนานาชาติ (International)เช่น WTO (World Trade Organization) หรือ องค์การการค้าโลก ในระดับภูมิภาค เช่น EU (European Union) หรือสหภาพยุโรป ในทวีปยุโรป
NAFTA (North America Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ในทวีปอเมริกา AFTA (ASEAN Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรีอาเซียน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือแม้แต่ในระดับอนุภูมิภาค เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่างๆเหล่านี้ มีขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งยังเป็นการช่วยให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยพยายามขจัดอุปสรรคทางการค้า การลงทุนต่างๆ ทั้งภาษีการนำเข้า การกำหนดโควตาการนำเข้า หรืออุปสรรคอื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิกให้น้อยลงที่สุด หรือปราศจากอุปสรรคทั้งหมด ประเทศไทยก็ได้พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ โดยจะเห็นได้ว่า ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ทั้งในระดับนานาชาติ เช่น WTO ระดับภูมิภาค เช่น AFTA และAPEC ไปจนถึงระดับอนุภูมิภาค เช่น สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน

BIMST-EC หรือ โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย ก็เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคอีกกลุ่มหนึ่งที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้ ก็เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ คือ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยขยายเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่ม ASEAN ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับกลุ่ม SAARC (South Asia Association of Regional Forum) ในเอเชียใต้ อีกด้วย

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างบังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา และไทย
หรือ BIMST-EC โดยจะศึกษาถึงความเป็นมาของโครงการความร่วมมือนี้ หลักการของโครงการ กลไกการประชุม และการประชุมครั้งต่างๆของ BIMST-EC และในส่วนสุดท้ายจะกล่าวถึงบทบาทของไทยกับ BIMST-EC

 

ความเป็นมาของ BIMST-EC

โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMST-EC นี้ ได้ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ จากการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โดยในขั้นต้น ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ภายใต้ชื่อ BIST-EC โดยมีพม่าเป็นผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งนี้ ต่อมาได้รับสหภาพพม่าเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 22 ธันวาคม 2540 พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อโครงการความร่วมมือนี้เป็น BIMST-EC และจะชะลอการรับสมาชิกใหม่ไป 5 ปี วัตถุประสงค์หลักของการรวมกลุ่มนี้ คือ การสนับสนุนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิก โดยการส่งเสริมความร่วมมือใน 8 สาขาหลัก คือ การค้า การลงทุนและอุตสาหกรรม เทคโนโลยี สาธารณูปโภคและ
การขนส่ง การท่องเที่ยว พลังงาน เกษตรกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

คณะทำงานประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย และเอกอัครราชทูตของบังคลาเทศ อินเดีย สหภาพพม่า และศรีลังกาประจำประเทศไทย โดยจัดการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ โดยกรมเศรษฐกิจ กระทรวงต่างประเทศ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยเป็นเลขานุการการประชุม

ด้วยการร้องขอของรัฐบาลของประเทศสมาชิก ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) ได้เข้ามาให้คำแนะนำในการจัดตั้ง BIMST-EC โดยได้จัดโครงการชื่อ “BIST-EC Development Programme: Overview
and Sectoral Cooperation” ซึ่งได้อธิบายถึงสถานะและโอกาสของการร่วมมือกันใน 8 สาขาหลัก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการบินร่วมกัน โดย ICAO (International Civil Aviation Organization)

 

หลักการของ BIMST-EC

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีได้รับหลักการที่ ESCAP ได้เสนอเพื่อให้เกิดโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

1.จัดตั้งที่ประชุมทางเศรษฐกิจสำหรับตัวแทนของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้าน
การค้า การลงทุน และสาธารณูปโภค และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้กำหนดนโยบายและหน่วยธุรกิจ

2.ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนโดยผ่านทางที่ประชุมของภาคเอกชน ใน 5 สาขาหลัก คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยาและผลิตภัณฑ์ยา เครื่องประดับ การปลูกไม้สวนและไม้ดอก และเทคโนโลยีสารสนเทศและ
บริการ โดยการสนับสนุนทางเทคนิคจาก ESCAP

3.จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคในการขจัดอุปสรรคทางการค้า และจัดให้มีข้อตกลงพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

4.ส่งเสริมความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี

5.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งและการคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิก พัฒนาประสิทธิภาพของการขนส่งระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการสร้างระบบการขนส่งในหลายๆวิธี ศึกษาความต้องการในการขนส่งและศักยภาพที่จำเป็นต่อการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาค ส่งเสริมการขนส่งระหว่างประเทศโดยอาศัยเส้นทางน้ำภายใน

6.ส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคในด้านพลังงาน โดยผ่านแผนการปฏิบัติสำหรับการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ ลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงาน
จากน้ำ

7.จัดตั้งคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว และจัดการประชุม BIMST-EC ด้านการท่องเที่ยว ในปี 1998 ที่อินเดีย เพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

8.ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการประมง

สมาชิก BIMST-EC ได้รับหลักการ “open regionalism” และสนับสนุนการเจรจากับประเทศทีมิใช่สมาชิก กลุ่มความร่วมมืออื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายและหลักการเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมของ BIMST-EC และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆของ BIMST-EC

 

กลไกการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMST-EC

การประชุมของ BIMST-EC ประกอบด้วย

การประชุมประจำปี เป็นการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยผลัดกันเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม โดยเรียงตามตัวอักษร

การประชุมประจำเดือน เป็นการประชุมคณะทำงานที่กรุงเทพฯ ซึงประกอบด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกประจำประเทศไทย โดยมีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม

นอกจากนี้ยังมีการประชุมเป็นครั้งคราว เช่น การประชุมนัดพิเศษระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งได้จัดขึ้นท
ี่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม 2540 การประชุม Ad hoc Expert Group Meeting: Promoting Government-Private Sector Partnership ซึ่งจัดโดย ESCAP ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2540 ที่กรุงเทพฯ และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMST-EC เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 ที่กรุงเทพฯ

 

การประชุมครั้งต่างๆของ BIMST-EC

- การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) ครั้งแรก วันที่ 6 มิถุนายน 2540 ณ กรุงเทพฯ การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมของรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกในขณะนั้น ซึ่งมีเพียง 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ
อินเดีย ศรีลังกา และไทย ประเทศพม่าได้ให้ความสนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้ง กรอบความ
ร่วมมือ BIST-EC ขึ้น ตาม Bangkok Declaration

 

การประชุมนัดพิเศษระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส (Special Senior Officials and Ministerial Meeting) ระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม 2540 ที่กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมคือ รัฐมนตรีของสมาชิก BIST-EC และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหภาพพม่า โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ซึงในที่ประชุมนี้ได้ตกลงรับสหภาพพม่าเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ และเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น BIMST-EC และในการประชุมนัดพิเศษนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านการค้า การลงทุน การขนส่งและการสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว และการประมง

 

การประชุม Ad hoc Expert Group Meeting on BIMST-EC : Promoting Government – Private Sector Partnership ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2541 ที่กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนของ ESCAP ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์การการค้าและภาคธุรกิจเอกชนของประเทศสมาชิก และตัวแทนจาก ESCAP กว่า 80 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ที่ประชุมทางเศรษฐกิจนี้จะประชุมอย่างน้อย 1 ครั้งใน 6 เดือน เพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก และแนะนำมาตรการที่ถูกต้องที่จะขยายการค้าภายในภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิก

- การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความร่วมมือ BMST-EC ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2541 ที่กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและวางแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMST-EC รวมทั้งมอบแนวดำเนินงานให้โครงการที่เกี่ยวข้องเกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ โดยคณะผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการประสานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพบ.)

 

การประชุมสุดยอดทางด้านการท่องเที่ยว (BIMST-SPOT: Strategy for Partnership on Tourism) จัดโดย
Confederation of Indian Industry (CII) ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2541 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนทางด้านการท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้คนภายนอกเข้ามาเที่ยวภายในภูมิภาค โดยที่ประชุมเสนอให้ประกาศปี ค.ศ.2001 เป็นปีท่องเที่ยวของ BIMST-EC สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าเหมายนี้คือ

จัดตั้งเครือข่ายการขนส่งและการคมนาคมภายในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยการพัฒนาถนน และทางรถไฟเพื่อรองรับแผนความร่วมมือดังกล่าว

ลดอุปสรรคด้านพรมแดน โดยการปรับปรุงกฎระเบียบในการทำวีซ่า และพัฒนาสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยแก่การท่องเที่ยวภายในภูมิภาค

เสนอให้มีการจัดตั้งสายการบินของ BIMST-EC เรียกว่า BIMST-EC Corridor

ต้องมีการพัฒนาด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะต้องจัดให้มีการพัฒนาและฝึกฝนบุคลากรเพื่อให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี
ต่างๆ

การประชุมครั้งนี้ได้พูดถึงการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดตลาดร่วมกันในด้านการท่องเที่ยว ได้แก่
“Buddhist Circuit Tourism” , “Tourism along the Asian Highway” , ”a Capital City Tour” และ “a Five Country
Passenger Cruise Service” โดยที่ประชุม BIMST-SPOT เห็นว่า การท่องเที่ยวแบบ Tourist Buddhist Circuit จะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศ BIMST-EC และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

 

การประชุมหารือระหว่างกลุ่ม BIMST-EC เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในด้านทรัพย์สินทางปัญญา (WIPO Sub-Regional Forum on Cooperation in the Field of Intellectual Property for BIMST-EC Countries) ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2541 ที่ภูเก็ต จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก BIMST-EC และตัวแทนจาก WIPO โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการประชุม การประชุมหารือครั้งนี้เกิดจากการประสานงานกันระหว่างประเทศไทยและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคสามารถร่วมมือกันอย่างจริงจัง และใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนมีบทบาทและน้ำหนักมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา

การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้แก่

- การพัฒนาในเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

การจัดการและการใช้ทรัพย์สินปัญญาเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การค้า และการลงทุน

บทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การกำหนดแผนที่เป็นไปได้ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ออก the Phuket Action Agenda ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

เครือข่ายของสถาบันต่างๆ (Institutional Linkage)

1.เพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ
สมาชิก (Strenghtening the likage among BIMST-EC national IP offices)

2.ให้มีการปรึกษาหารือกับประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (Regular consultation among the participating countries)

3.กำหนดประเด็นการติดต่อระหว่างกัน (Nomination of the contact points)

4.สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (Interaction among the officials dealing with IP matters)

5.แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน (Exchange of information)

6.จัดตั้งระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา (Establishment of an effective early warning system on any development of concern in the field of intellectual property)

ข.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)

1.ส่งเสริมการฝึกอบรมในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Promotion of training on intellectual property in both the public and private sectors)

2.ส่งเสริมการศึกษาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในทุกๆระดับ (Promotion of IP education at every level)

3.สร้างเครือข่ายระหว่างสถานศึกษาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Promotion of networking among the educational institutions on intellectual property)

4.ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในเรื่องผลของข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของภูมิภาค BIMST-EC

ค.การดำเนินการในเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา

1.ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของตัวแทนดำเนินการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค (Promotion of the net working of the enforcement agencies in the region)

2.สร้างจิตสำนึกของประชาชนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Promotion of public awareness about intellectual property)

3.แลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องมาตรการและวิธีแก้ไขที่สำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์สิทธิ์ (Exchange of views on the measures and remedies available to the rightholders)

4.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับผู้ใช้ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (Promotion of dynamic and greater participation of the rightholders and users in the development of intellectual property as a socio-economic tool.)

5.ความร่วมมือกันในการส่งเสริม ป้องกัน และการดำเนินการในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Mutual assistance on the promotion, protection, and enforcement of intellectual property rights)

ง.การจัดการในเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา (Management of Intellectual Property Rights)

1.รวบรวมผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญเพื่อพัฒนาการจัดการในเรื่องลิขสิทิ์ทางปัญญา (Pooling experiences and expertise in the improvement on the management of intellectual property rights)

2.ส่งเสริมการเชื่อมโยงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Promotion of compatible electronic databases)

3.ส่งเสริมการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความสะดวกและแม่นยำในการได้รับข้อมูลของประชาชน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Promotion of the use of automation to ensure and convenient access to information by the public as well as optimization of the limited of the intellectual property offices)

4.แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคในเรื่องเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร (Exploring regional cooperation on trademark and patent matters)

5.แลกเปลี่ยนข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Exchange of information on legal development concerning intellectual property)

6.การรวบรวมข้อบังคับ กฎระเบียบ และกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของกลุ่มประเทศ BIMST-EC (Compilation of IP laws, rules and regulations of the BIMST-EC countries)

- การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีว่าการของกลุ่มประเทศ BIMST-EC ครั้งที่ 2 (Ministerial Meeting of BIMST-EC) ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2541 ณ กรุงธากา (Dhaka) ประเทศบังคลาเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ และมีตัวแทนจากประเทศเนปาลเข้าร่วมสังเกตการณ์ สาระของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่

การพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้มีการพัฒนาทางรถไฟ ถนน การขนส่งในระบบต่างๆ การเดินเรือ และการบิน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 1.3 พันล้านคนในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยมองว่าเครือข่ายของการขนส่งและการคมนาคมจำเป็นต่อการพัฒนาด้านการค้า อุตสาหกรรม วัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการท่องเที่ยวในระดับอนุภูมิภาค จัดตั้งโครงการ Trans-Asian Railway and Asian Highway Projects

ที่ประชุมมอบความไว้วางใจให้บังคลาเทศ ซึ่งเป็นประธานคนปัจจุบัน ที่จะริเริ่มให้มีการตั้งที่ประชุมทางเศรษฐกิจ (Economic Forum) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างประเทศสมาชิก

ที่ประชุมได้ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 6 ด้าน คือ ด้านการค้าและการลงทุน ด้านเทคโนโลยี ด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ด้านพลังงาน การท่องเที่ยว และการประมง

ที่ประชุมได้ตัดสินใจที่จะแสวงหาความร่วมมือกับระเทศพัฒนาแล้วและองค์การระหว่าง
ประเทศต่างๆ รวมไปถึง ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme : UNDP)

ต้องการให้ BIMST-EC เป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มระดับภูมิภาค 2 กลุ่มคือ ASEAN (Association of South East Asian Nations) กับ SAARC (South Asian Association for Regional Cooperation) โดย BIMST—EC จะดำเนินบทบาทสำคัญเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่ม

การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในช่วงปลายปี 1999

 

ประเทศไทยกับการจัดตั้ง BIMST-EC

การจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังคลาเทศ อินเดีย สหภาพพม่า ศรีลังกา และประเทศไทย เป็นความคิดริเริ่มของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่จะให้มีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศในเอเชียใต้ เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ หากพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ไทยค่อนข้างที่จะได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในการเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศ Mainland และประเทศที่เป็นคาบสมุทรในขณะเดียวกัน ทำให้สามารถติดต่อได้ทั้งกับประเทศที่อยู่บนภาคพื้นและประเทศที่เป็นหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสามารถติดต่อกับประเทศในเอเชียใต้ได้โดยสะดวกเช่นกัน โดยใช้เส้นทางทางทะเล

ในระยะเวลาประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เราจะมองเห็นความร่วมมือต่างของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในหลายๆเวทีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ASEAN (Association of South East Asian Nations) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเสาหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงนี้ ARF (ASEAN Regional Forum) เวทีการประชุมของประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEM (Asia-Europe Meeting) ที่ประชุมของประเทศใน ASEAN รวมทั้ง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ากลุ่มความร่วมมือต่างๆเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศที่อยู่ทางด้านตะวันออก หรือทางใต้ของไทยทั้งสิ้น หรือข้ามไปทางทวีปอเมริกา และยุโรป ส่วนประเทศที่อยู่ทางด้านตะวันตกที่ติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ มักจะถูกมองข้ามไป

ไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตก ในสมัยของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยพลเอกชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เดินทางไปเยือนประเทศอินเดีย ในปี 2532 แต่ในช่วงนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายหลังจากนั้นไม่นาน แนวความคิดที่จะจัดให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกนี้ ได้รับการสานต่อในสมัยของรัฐบาลชวน หลีกภัย ภายใต้ความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียใต้ช่วงนั้น ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือขึ้นได้

สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองภูมิภาค เพิ่งจะปรากฎเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียใต้ โดยประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6% ต่อปี และประเทศเหล่านี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นและศักยภาพที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศในเอเชียใต้

นโยบายมองตะวันตกของไทยได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นของประเทศไทยเอง ที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย ขึ้นอยู่กับทั้งการปฏิรูประบบภายในและการร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค ปัจจัยทั้งสองอย่างจำเป็นต่อความยั่งยืน และการเพิ่มขึ้นในขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นโยบาย “มองตะวันตก” นี้มีความสำคัญใน 3 ด้านคือ การเพิ่มการค้า เพิ่มการลงทุน และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรภายในภูมิภาค วันที่ 6 มิถุนายน 2540 ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคกลุ่มใหม่จึงได้ก่อตัวขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อว่า BIST-EC (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) ส่วนสหภาพพม่าได้เข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ธันวาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อเป็น BIMST-EC ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน BISMT-EC ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทยในการที่จะแสวงหาความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชียใต้ในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นในระดับทวิภาคี (Bilateral) เมื่อมีการรวมกลุ่มเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการขยายตลาดให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ BIMST-EC ยังเป็นการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเล็ก ง่ายต่อการควบคุมและจัดการมากกว่ากลุ่มที่มีขนาดใหญ่ เช่น ASEAN และ APEC และที่สำคัญ BIMST-EC ยังเป็นการเชื่อมโยง SAARC กับ ASEAN เข้าด้วยกันอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในทั้งสองภูมิภาค

โดยปกตินโยบายต่างประเทศของไทย มักจะเน้นนโยบายในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก กรอบความร่วมมือ BIMST-EC นี้ จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยอาจแสดงบทบาทในการริเริ่มโครงการต่างๆได้ รวมทั้งอาจเป็นแกนนำในการดำเนินการในโครงการต่างๆ โดยจะเห็นได้จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนัดพิเศษต่างๆ เช่น การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือการจัดประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ความร่วมมือในกรอบของ BIMST-EC นับเป็นความร่วมมือที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และกำลังพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆไปอย่างรวดเร็ว จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะให้ความสนใจเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมดดำเนินไปอย่างราบรื่นต่อไป

   กลับไปข้างบน  BACK TO TOP

 

 

 

 

1