โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
|
|
ปัญหาการขาดดุลงบประมาณหรือที่เรียกกันในสมัยหนึ่งว่า "เงินขาด" นั้น เป็นเรื่องที่มักมีผู้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นกล่าวหาว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้โดยจะเน้นว่าสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเนื่องมาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในราชสำนักเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการมองเพียงด้านเดียวอย่างมีอคติค่อนข้างมาก ซ้ำบางคนยังวิเคราะห์ต่อเนื่องไปอีกด้วยว่า เพราะปัญหาขาดดุลงบประมาณในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจในสมัยต่อมาคือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ต้องตกต่ำอย่างร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ผลจากการดำเนินการที่สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อแก้ปัญหาที่ "ต้นเหตุ" มิใช่ที่ "ปลายเหตุ" ได้ทำให้ฐานะด้านงบประมาณของรัฐบาลในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้มแข็งมาก จนถึงกับสามารถมีเงินเหลือไปจ่ายชำระเงินกู้ต่างประเทศได้ก่อนกำหนด และสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่แท้จริงนั้นเป็นเนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ และต่อมาก็ที่ยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกต่างหาก
นับตั้งแต่ประเทศไทยต้องจำยอมทำสนธิสัญญาทางการค้ากับชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตก มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญมาตลอดก็คือปัญหาการที่แทบจะไม่อาจหาทางเพิ่มรายได้แผ่นดินได้เลย เพราะติดขัดด้วยข้อกำหนดของสนธิสัญญาเหล่านั้น เมื่อประกอบกับการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเร่งรัดพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศด้วยแล้ว ก็ทำให้ปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายนั้น เป็นเรื่องที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอไม่ช้าก็เร็ว ปัญหาเรื่องรายได้แผ่นดินขาดแคลนนี้ มีปรากฏมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีความตอนหนึ่งว่า
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบการคลังแผ่นดินเสียใหม่ ทำให้การจัดเก็บและการใช้จ่ายรายได้นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ทำให้ปัญหาเรื่องรายได้ขาดแคลนพอจะบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลักการจัดทำงบประมาณรายจ่ายนั้นต้องขึ้นกับรายได้เป็นสำคัญ เมื่อรายได้มีไม่มากจึงทำให้การใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ นั้นยากที่จะทำได้ ดังจะเห็นได้จากการที่โครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ได้มีการสำรวจจะเริ่มดำเนินการขึ้น แต่ก็ต้องรอไว้ก่อนเนื่องจากต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ส่วนการจะหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายด้วยวิธีการกู้ยืมนั้นก็ทำได้เฉพาะโครงการที่ให้ผลตอบแทนเท่านั้น เช่น โครงการรถไฟ เนื่องจากต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราค่อนข้างสูง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ปรากฏว่าในขณะที่รายจ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัชกาลก่อน และที่ได้ริเริ่มขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อในช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งทำให้การใช้จ่ายต้องเพิ่มสูงขึ้นมาก (เช่น โครงการชลประมานซึ่งต้องจ่ายเงินค่าวัสดุที่ต้องสั่งจากต่างประเทศสูงกว่าที่คาดหมายไว้ตอนเริ่มต้นโครงการเป็นอันมาก) แต่กลับปรากฏว่าในด้านรายได้นั้นกลับเพิ่มน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการตัดรายได้หลักของแผ่นแผ่นดินลงไปหลายรายการอีกด้วย ได้แก่รายได้ที่มาจากแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ปัญหาขาดดุลงบประมาณจึงได้เกิดขึ้น
นับตั้งแต่มีข้อมูลปรากฏเกี่ยวกับรายได้ของแผ่นดินในรายละเอียดเป็นต้นมา ก็ปรากฏว่ารายได้ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งนั้น เป็นรายได้จากแหล่งอบายมุขต่าง ๆ อันได้แก่ ฝิ่น หวย ก.ข. และบ่อนการพนัน ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ตามตารางต่อไปนี้
จากตารางข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่ารายได้ของแผ่นดินอันเนื่องมาจากแหล่งอบายมุขนั้น ในช่วงก่อนจะมีการดำเนินการยกเลิกบ่อนการพนัน (เริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๖๐) และยกเลิกหวย ก.ข. (เริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๕๙) นั้น รวมกันแล้วสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ ๓๙ ถึงร้อยละ ๔๒ ของรายได้ในรูปภาษีอากรทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โอกาสที่จะลดรายได้จากแหล่งอบายมุขเหล่านี้ลงนั้นเป็นได้ยาก เนื่องจากติดขัดที่รัฐบาลไม่มีหนทางที่จะเพิ่มรายได้จากทางอื่นมาทดแทนได้ เพราะติดขัดด้วยเงื่อนไขสนธิสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดหรือจำกัดรายได้จากฝิ่นและการพนันลง จะหมายถึงการที่รายได้แผ่นดินต้องลดลงอย่างมาก แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะลดรายได้แผ่นดินอันเนื่องมาจากอบายมุขเหล่านี้ลง เนื่องจากทรงมีพระราชปณิธานอยู่เสมอมาที่จะลดการมอมเมาด้านอบายมุขของพสกนิกรลง ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น พระราชนิพนธ์โคลง ๔ ที่ลงพิมพ์ในดุสิตสมิตที่ว่า
นอกจากนั้น ยังกล่าวกันว่าการลดรายได้จากแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ลงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายไทยได้ใช้เป็นประเด็นต่อรองเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกจำกัดอยู่ เพื่อจะได้สามารถเพิ่มรายได้จากทางอื่นมาทดแทนได้ด้วย |