หัวข้อ: Solaris 2.6 (User)
ชื่อเรื่อง: การจัดการไฟล์และไดเรกทอรี -> การใช้คำสั่งจัดการไฟล์
พิมพ์: 08 ธันวาคม 2542
update:

การใช้คำสั่งจัดการไฟล์
[Previous Page] [Next page] [Section contents page]

      ในหัวข้อนี้เราจะมาดูคำสั่งที่เกี่ยวกับการจัดการ ไฟล์กันครับ เราจะมาดูว่าวิธีการใช้งานแต่ตัวนั้น มีรูปแบบการใช้งานอย่างไร ผลที่ได้จากการใช้คำสั่งคืออะไร ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ทำตามตัวอย่าง ที่เสนอมาครับ จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ

  1. ก่อนเริ่มต้น (Before You Begin)
  2. ลองสร้างไฟล์ (Creating a Test File)
  3. ดูชื่อไฟล์ (Listing Files (ls))
  4. ก็อปปี้ไฟล์ (Copying Files (cp))
  5. ย้ายและเปลี่ยนชื่อไฟล์ (Moving and Renaming Files (mv))
  6. ลบไฟล์ (Deleting Files (rm))
  7. ดูข้อความของไฟล์ (Displaying File Contents (more,cat))
  8. ดูชนิดของไฟล์ (Displaying File Type (file))

ก่อนเริ่มต้น (Before You Begin)

ก่อนที่เราจะเริ่มต้น อย่างแรกเลยนะครับ เราต้อง login เข้าไปในระบบของ Unix ก่อน และ ต้องมั่นใจว่าเราอยู่ใน บ้านของเราเอง หรือใน home ไดเรกทอรีของเราเอง เนื่องจากว่า การทำงานต่าง ๆ ที่เรากระทำภายในเนื้อที่ หรือในบ้านของเราเองนั้น จะไม่มีผลกระทบกับการทำงานของคนอื่นบนระบบ และคนอื่น ๆ ก็จะไม่เข้ามายุ่งกับไฟล์ ที่เราสร้างไว้ ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราอยู่ในบ้านของเราเอง เมื่อ login เข้าระบบแล้วให้ พิมพ์คำสั่ง cd (change directory) ครับ เมื่อเราพิมพ์คำสั่งนี้ระบบปฎิบัติงาน จะเปลี่ยนไดเรกทอรี ให้เราไปอยู่ที่ ไดเรกทอรี ซึ่งเป็นบ้านของเราเอง (home directory) วิธีการที่จะดูว่า บ้านของเราหรือ ไดเรกทอรี ของเราอยู่ที่ไหนให้พิมพ์คำสั่ง pwd (print working directory) ดูครับ


$cd
$pwd
/export/home/username

ตามตัวอย่างนี้ home ไดเรกทอรี หรือบ้านของผู้ใช้ระบบงาน อยู่ที่ /export/home/username ซึ่ง username ในที่นี้คือ ชื่อของผู้ใช้ระบบงาน หรือคนที่ login เข้ามาใช้งานบน Unix นั่นเองครับ

ลองสร้างไฟล์ (Creating a Test File)

เมื่อเริ่มต้นกันแล้ว ต่อไปเราลองมาสร้างไฟล์กันดูครับ ลองใช้คำสั่ง touch ในการสร้างไฟล์ ดูครับ ด้วยคำสั่งนี้ ระบบ ฯ จะทำงานดังนี้ครับ ถ้าชื่อไฟล์ที่เราต้องการสร้าง นั้นยังไม่มี ระบบ ฯ จะสร้างไฟล์ ว่าง ๆ ขึ้นมาไฟล์หนึ่งครับ แต่ถ้าชื่อไฟล์ที่เราใส่ลงไป นั้นมีอยู่บนระบบ ฯ แล้ว ระบบ ฯ จะทำการเปลี่ยนแปลงวันที่ของไฟล์ ดังกล่าว ให้เป็นวันที่ ณ วันปัจจุบัน ครับ

$touch tempfile
$

ดูชื่อไฟล์ (Listing Files (ls))

เมื่อเราสร้างไฟล์แล้ว ต่อไปเราก็ต้องดูรายชื่อไฟล์ที่เราสร้างขึ้นมาได้ (ถ้าดูไม่ได้ก็ไม่รู้จะสร้างทำไม) วิธีการดูชื่อไฟล์ให้ใช้คำสั่ง ls ครับ

$ls tempfile
tempfile

ด้วยคำสั่งนี้ ถ้าเราไม่ระบุชื่อไฟล์ตามหลังคำสั่ง เขาจะแสดงรายชื่อของไฟล์ ทั้งหมดที่อยู่ในไดเรกทอรี ที่เราอยู่ออกมาให้เรา แต่ถ้าเราระบุชื่อไฟล์ เขาก็จะแสดง ออกมาแค่ไฟล์ที่เราระบุครับ

ก็อปปี้ไฟล์ (Copying Files (cp))

คราวนี้ลองมาก็อปปี้ไฟล์ กันดูนะครับ การก็อปปี้ใช้คำสั่ง cp เราจะก็อปปี้ไฟล์ที่เราสร้างขึ้นมา (tempfile) ไปเป็นอีกไฟล์หนึ่งซึ่งเราจะตั้งชื่อ ให้กับเขาว่า copyfile นะครับ

$cp tempfile copyfile
$

เมื่อก็อปปี้เสร็จแล้ว ลอง list ดูรายชื่อไฟล์ที่ได้ดูนะครับ จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า ไฟล์ทั้งสองไฟล์นั้น ชื่อของไฟล์จะลงท้ายด้วยคำว่า "file" ดังนั้นเราสามารถ ใช้ wildcard แทนชื่อไฟล์ได้ครับ ดังนั้นเราสามารถใช้คำสั่งในการดูชื่อไฟล์ได้ดังนี้ครับ

$ls *file
copyfile  tempfile

ย้ายและเปลี่ยนชื่อไฟล์ (Moving and Renaming Files (mv))

เราสามารถย้ายและเปลี่ยนชื่อของไฟล์ ด้วยคำสั่งเดียวกันได้ครับ คำสั่งนั้นคือ mv (move) ในตัวอย่างข้างล่างนี้ เราจะใช้ คำสั่ง mv ในการเปลี่ยนชื่อไฟล์ จาก tempfile ไปเป็น emptyfile

$mv tempfile emptyfile
$

ทีนี้ลอง list ดูรายชื่อไฟล์ที่ได้ดูนะครับ

$ls *file
copyfile  emptyfile

จะเห็นได้ว่าไฟล์ tempfile นั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ emptyfile ครับผม

ลบไฟล์ (Deleting Files (rm))

ทีนี้เราลองมาลบไฟล์ กันดูบ้าง บอกกล่าวกันนิดหนึ่งครับ ในการลบไฟล์ นั้นเราจะไม่สามารถกู้ไฟล์กลับมาได้อีก เพราะฉะนั้น ต้องระวังครับ ในการลบไฟล์ ถ้ามีการใช้ wildcard ต่าง ๆ ก็ควรระวังให้มาก การลบไฟล์เราจะใช้คำสั่ง rm (remove) ครับ
$rm copyfile
$ls *file
emptyfile

ในตัวอย่างเราใช้คำสั่ง rm เพื่อลบไฟล์ชื่อ copyfile ดังนั้นเมื่อเรา list ดูชื่อไฟล์ใหม่ จะเห็นแค่ไฟล์ emptyfile เหลืออยู่ไฟล์เดียว

ดูข้อความของไฟล์ (Displaying File Contents (more,cat))

เราได้ชื่อไฟล์มาแล้ว ก็อปปี้ไฟล์ แล้ว ลบไฟล์แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องสามารถดูข้อความของไฟล์ได้ด้วย ใช่ไหมครับ คำสั่งที่ใช้ดูข้อความของไฟล์ ในที่นี้ผมจะแนะนำสองคำสั่งครับ คือ more และ cat สองตัวนี้สามารถดูข้อความของไฟล์ ได้เหมือนกันครับ แตกต่างกันก็ตรงที่ more นั้น ในกรณีที่ข้อความนั้นมีมากเกินที่หน้าจอเดียวจะแสดงได้ เขาจะหยุดแสดงให้เราเป็นหน้า ๆ ไปครับ และจะมีข้อความดังต่อไปนี้แสดงมาที่หน้าจอให้เราครับ
-- More-- (nn%)     [Press space to continue, 'q' to quit.]

nn คือจำนวนเปอร์เซ็นของข้อความที่ได้แสดงไปแล้ว
ส่วนคำสั่ง cat นั้นจะไม่หยุดแสดงเป็นหน้า ๆ ให้เรา เขาจะแสดงข้อความออกมาทั้งหมดในครั้งเดียวครับ

นอกจากคำสั่ง cat จะสามารถดูข้อความของไฟล์ได้แล้ว เรายังสามารถนำคำสั่ง cat มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อไฟล์ได้ครับ เช่น

$cat file1 file2 file3 file4 > bigfile

จากตัวอย่างจะเป็นการนำเอาไฟล์ file1 file2 file3 และ file4 มารวมกันโดยเราให้ output ที่ได้ มาสร้างไฟล์ที่ชื่อ bigfile ครับ ในกรณีนี้ถ้าเราดูข้อความของไฟล์ bigfile จะได้ข้อความของไฟล์ file1 file2 file3 และ file4 มารวมกันครับ

ชนิดของไฟล์ (Displaying File Type (file))

ในบางครั้ง ไฟล์บางไฟล์นั้นเราไม่สามารถ แสดงข้อความของไฟล์ออกมาที่หน้าจอได้ครับ เช่น binary ไฟล์ ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าไฟล์นั้นเป็นชนิดไหน ให้ใช้คำสั่ง file ดูชนิดของไฟล์ ได้ครับ ตัวอย่างการใช้งานคำสั่ง ดังข้างล่างนี้ครับ
$file copyfile
copyfile:    ascii text

[Previous Page] [Next page] [Section contents page]


[ณ บ้านไร่ชายทุ่ง]

ข้าวในแปลงอื่น ๆ

กลับแปลง Solaris 2.6 สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

สงวนลิขสิทธิ์(c) 1999 ณ บ้านไร่ชายทุ่ง
1