โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


โครงการชลประทาน


  • การดำเนินการตามโครงการและผลที่ได้รับ
  • โครงการป่าสักใต้

โครงการป่าสักใต้นี้ เซอร์โทมัส วอร์ด ได้กำหนดให้เป็นโครงการเริ่มแรก และได้ลงมือดำเนินการในปีพ.ศ.2459 จนสำเร็จบริบูรณ์ในปีพ.ศ.2465 รวมค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งสิ้น 15.5 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายนี้รวมถึงค่าเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถในไปใช้ประโยชน์ในโครงการต่อไปได้อีกด้วย

โครงการชลประทานป่าสักใต้ มีสิ่งก่อสร้างตามโครงการดังนี้คือ เขื่อนพระรามหก คลองระพีพัฒน์ ประตูน้ำพระนารายณ์ ประตูน้ำพระนเรศร์ ประตูน้ำพระราม ประตูน้ำพระเอกาทศรถ ประตูน้ำพระศรีเสาวภาค ประตูน้ำพระธรรมราชา ประตูน้ำพระศรีศิลป์ และประตูน้ำพระอินทรราชา แม้ว่าโครงการส่วนใหญ่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่กว่าที่วิศวกรจะตรวจสอบงานเรียบร้อย และทำพิธีเปิดเขื่อนพระรามหกเพื่อใช้งานได้ ก็ล่วงเข้ามาในปีพ.ศ.2467 และในพิธีเปิดนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบรายงานของ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ในตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้าได้ฟังรายงานของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการแล้ว ก็เปรียบ เสมือนแสดงประวัติการที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 พระองค์ผู้เป็นชนกนารถของข้าพเจ้า ได้ทรงดำริริเริ่มมาก่อน ส่วนข้าพเจ้าผู้เป็นรัชทายาทของพระองค์ ก็จงใจที่จะดำเนินตามพระกระแสบรมราโชบาย อันเกิดจากพระหฤทัย ที่ทรงพระเมตตาต่ออาณาประชาชนในพระราชอาณาจักรนี้"

จุดมุ่งหมายของโครงการป่าสักใต้ก็คือ การช่วยพัฒนาที่ดินบริเวณทุ่งรังสิต ซึ่งบริเวณเหล่านี้แต่เดิมอยู่ในความดูแลของบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ตามพระบรมราชานุญาต แต่บริษัทดังกล่าวในระหว่างที่อยู่ในอายุสัญญานั้น ยังไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาระบบชลประทานขึ้นมากนัก ทำให้ในเขตจังหวัดธัญญบุรี ซึ่งมีจำนวนที่นาประมาณ 700,000 ไร่ แต่สามารถใช้ทำนาได้เพียง 270,000 ไร่หรือราวร้อยละ 39 ของพื้นที่นาทั้งหมดเท่านั้น เมื่อบริษัทดังกล่าวหมดอายุสัญญาลงแล้ว จึงสมควรเข้าจัดการชลประทาน เพื่อช่วยให้พื้นที่ซึ่งมีการจัดระบบชลประทานอยู่บ้างแล้วนั้น มีการชลประทานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การขุดคลองส่งน้ำสายใหญ่ตามโครงการป่าสักใต้ เพื่อส่งน้ำจากแม่น้ำป่าสักมายังทุ่งรังสิตนั้น ยังช่วยให้สามารถส่งน้ำเข้าสู่ที่ดอนในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสระบุรี เพื่อใช้ ประโยชน์ในการทำนาได้อีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวแต่เดิมนั้นการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว

นับแต่ปีพ.ศ.2465 ซึ่งโครงการป่าสักใต้เสร็จสมบูรณ์นั้น ปรากฏว่าจำนวนที่นาที่ได้รับประโยชน์จากโครงการได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากเพียง 48,795 ไร่ในปี 2465 เป็น 310,231 ไร่ และ 417,684 ไร่ในปี 2466 และ 2468 ตามลำดับ และผลดีที่ได้รับอันเนื่องมาจากการชลประทานนั้นปรากฏตามรายงานเรื่องบันทึกการทดน้ำในประเทศสยามดังนี้

"...ในระหว่างฤดูการทำนาปีพ.ศ.2466 ตอนต้นได้รับฝนดี แต่ตอนกลาง ฝนน้อย ชาวนาอาศัยน้ำที่ได้จากการทดและระบายน้ำไปช่วยตลอด จนถึงเวลาใกล้จะเก็บเกี่ยว ครั้นถึงตอนปลายฤดูกลับมีฝนตกมากอีก ก็ได้จัดการ ช่วยเหลือระบายน้ำออกไปตามโครงการระบายน้ำป่าสัก ให้ได้รับผลอย่างดียิ่ง การทำนาจึงไม่มีเสียหายเท่าใด ที่ว่านี้ก็พอให้เห็นได้แล้วว่า นาแถบเหนือในปีพ.ศ.2466 นั้นดีขึ้นกว่าพ.ศ.2465 ซึ่งได้ทดน้ำช่วยเหลือแต่บางส่วน และดียิ่งขึ้นกว่าปีพ.ศ.2464 ซึ่งอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียวเป็นอันมาก ว่าถึงการทำนาในปีพ.ศ.2467 ความเป็นไปแห่งดินฟ้าอากาศ ต่างกันคือมีฝนตกมามากตอนต้น ต่อมาแล้งไปเสียนาน การทดน้ำ ระบายน้ำช่วยเหลือตามความมุ่งหมายได้ทำการตรงต่อหน้าที่ดี คือบังคับน้ำให้เหมาะแก่การทำนามาได้ตลอด ผลแห่งการทำนา และจำนวนนาที่ได้รับการทดน้ำช่วยเหลือในปีนี้ยังรวบรวมจำนวนไม่ได้ แต่ก็มีสิ่งที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าดีกว่าปีพ.ศ.2466 ทั้ง 2 อย่างคือได้เนื้อข้าวและจำนวนข้าวดียิ่งขึ้น...

ระหว่างฤดูการทำนาปีพ.ศ.2467 นี้ โดยเหตุที่แม่น้ำนครนายกต่ำมาก และเกิดแล้งขึ้น ต้นข้าวในบริเวณทุ่งรังสิตที่กำลังทรงตัว และที่เคยรับน้ำจากแม่น้ำนครนายกมาช่วยเหลือ จึงอยู่ในอาการคับขันจนไม่ เห็นได้เลยว่าจะฟื้นตัวและคงทนต่อไปตลอดถึงการเก็บเกี่ยว แต่บังเอิญที่สามารถทดน้ำในแม่น้ำป่าสักส่งมาช่วยเหลือได้ในทุ่งนี้ ต้นข้าวจึงยังคงดีอยู่ได้ตลอดมา"

เครื่องพิสูจน์ที่สำคัญถึงผลดีของการชลประทาน ที่มีต่อประสิทธิภาพในการทำนาก็คือ การที่มีโรงสีข้าวตั้งเพิ่มขึ้นอีกมากในเขตชลประทาน เพราะการจะตั้งโรงสีข้าวขึ้นย่อมเนื่องมาจาก ข้าวเปลือกมีจำนวนมากเพียงพอ ปรากฏว่าจากรายงานว่าด้วยประโยชน์แห่งการชลประทานนั้น ได้มีการตั้ง โรงสีเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเขตชลประทาน

"พูดถึงสภาพของพาณิชย์กรรมในท้องที่นี้ ควรเป็นที่ทราบว่า ในบริเวณที่รวมอยู่ในการชลประทานป่าสักนั้น มีโรงสีข้าวที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ 33 โรง ในจำนวนนี้อยู่ในบริเวณทุ่งรังสิต 13 โรง แต่เมื่อก่อนการชลประทานได้จัดทำเสร็จ มีอยู่เพียง 2 เท่านั้น

เวลานี้มีผู้คนโดยมากพากันตั้งโรงสีขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ และในบริเวณการชลประทานป่าสัก ก็มีผู้ไปดำเนินการเช่นนี้ด้วย ขอให้พึงระลึกว่าผู้ที่จะลงทุนไปในบริเวณซึ่งได้เคยฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มามากแล้วเช่นในทุ่งรังสิตนั้น ถ้าไม่เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าว่า สภาพความเจริญและความมั่นคงในการทำนาจะถาวรต่อไปแล้ว ก็คงจะไม่ลงทุนของตนลงไปในที่เช่นนั้น"

นอกจากผลทางตรงต่อการทำนา คือการช่วยให้ที่นาได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอมากขึ้นแล้ว โครงการชลประทานยังมีผลทางอ้อมในแง่ที่ช่วยให้การขนส่งข้าวสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังมีผลพลอยได้ ในการช่วยให้ราษฎรในบางเขตมีน้ำบริโภคอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

"...ปีพ.ศ.2463 นั้นเป็นปีแรกที่เพิ่งเริ่มทดน้ำ ระบายน้ำตามโครงการ ป่าสักใต้ ถึงแม้ว่ายังจะมิได้จำหน่ายน้ำมาจากแม่น้ำป่าสักให้ได้จนถึงปีพ.ศ. 2465 ก็ดี แต่ก็ได้เริ่มซ่อมแปลงคลองต่าง ๆ ที่ได้ใช้เป็นทางเรือสัญจรไปมา และคลองระบายน้ำที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น กับทั้งได้สร้างประตูน้ำ ทำนบ เลื่อนต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นไว้อีกด้วย การที่ได้ทำเพียงเท่านี้ ก็ได้เผยแผ่ความรุ่งเรืองให้แก่ตำบลเหล่านี้ คือได้เพิ่มความสะดวกให้แก่ชาวนา ในการลำเลียงส่งข้าวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ยิ่งกว่ากาลก่อน...

ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ที่ราษฎรจะได้รับนั้น ก็น่าจะกล่าวด้วยว่าคลองส่งน้ำป่าสักใต้ที่ได้ขุดขึ้นนั้น เป็นทางใหญ่อันมีค่าให้ราษฎรได้รับความ สะดวกในการเดินเรือไปมา ชาวนาในเวลานี้สามารถจะบรรทุกข้าวจาก ยุ้งฉางของตนลงเรือส่งตรงไปโรงสีได้ ซึ่งแต่ก่อนจะต้องบรรทุกเกวียนข้ามทุ่งนาอันกว้างใหญ่ และต้องหยุดพักระหว่างทางเป็นตอน ๆ หรือถ้าว่าจะกล่าวถึงชาวนาตอนแถบเหนือของบริเวณทดน้ำนั้น แต่ก่อนมาการส่งข้าวมาขายต้องเก็บไว้ค้างปี คือเมื่อถึงฤดูน้ำปีหน้าจึงจะส่งมาได้ ประโยชน์ใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะกล่าวด้วยก็คือ ทั่วบริเวณนี้ทั้งหมดในบัดนี้ มีน้ำจืดสำหรับคนและสัตว์ใช้บริโภคได้ทั่วไป เมื่อก่อนที่ได้สร้างการนี้ขึ้น ราษฎรได้รับความคับแค้นในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง..."

    หน้า 3   

    หน้า 5   

1