โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
|
|
มีโครงการชลประทานอยู่อีก 3 โครงการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมโครงการป่าสักใต้ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือโครงการบางเหี้ย โครงการเชียงราก และโครงการป่าสักเหนือ โครงการบางเหี้ยนั้น จัดได้ว่าเป็นโครงการชลประทานที่สำคัญอีกโครงการหนึ่ง ตั้งอยู่ ทางตอนใต้ของโครงการป่าสักใต้ เป็นเขตระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ได้แก่เขตพื้นที่ ทุ่งบางเหี้ย คลองสำโรง คลองปากตะคลอง และคลองหัวตะเข้ ซึ่งเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์มีทั้งการทำนา และทำสวน รวมเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 210,000 ไร่ แต่เนื่องจากมีน้ำทะเลเข้ามาตามลำคลอง จึงต้องมีการสร้างประตูน้ำบางเหี้ยขึ้นเพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วม และเพื่อเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้ในฤดูที่มีน้ำน้อย ความจริงแล้วบางส่วนของโครงการบางเหี้ย คือประตูน้ำบางเหี้ยนั้น ได้มีการก่อสร้างมาแล้วตั้งแต่พ.ศ.2447 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สร้างไม่เสร็จและค้างอยู่ เพิ่งจะได้มีการดำเนินโครงการนี้ต่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการป่าสักใต้ ความมุ่งหมายของโครงการชลประทานบางเหี้ยนั้น ก็คือเพื่อทำการระบายน้ำออกจากบริเวณทุ่งรังสิต เพื่อให้เหมาะแก่การทำนา และในขณะเดียวกันก็มีความมุ่งหมายต่อไปอีกว่า น้ำซึ่งได้ปล่อยระบายออกมาแล้วจากทุ่งรังสิต เมื่อรวมกับน้ำที่เหลือใช้ซึ่งถูกระบายมาทางคลองป่าสักใต้ ก็จะได้ระบายเข้าสู่บริเวณทุ่งนาใต้รังสิตลงไป เพื่อที่จะได้ซับน้ำเค็มในที่เหล่านั้นและไหลลงทะเลไป นอกจากนั้นโครงการชลประทานบางเหี้ย ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะระบายน้ำจากบริเวณทุ่งนาใต้รังสิตลงไป เมื่อเวลาที่น้ำในแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีณไหลหลากมามาก ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ.2466 ซึ่งเป็นผลให้ที่นาเสียหายถึงประมาณ 300,000 ไร่ ส่วนโครงการเชียงรากนั้น มีความมุ่งหมายที่จะควบคุมปริมาณน้ำ ให้พอเหมาะกับเขตพื้นที่ราบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถ้าหากมีการก่อสร้างครบถ้วนแล้ว บริเวณเหล่านั้นก็จะได้รับน้ำจากคลองป่าสักใต้มาใช้อย่างพอเพียง ในขณะที่อีกโครงการหนึ่ง คือโครงการป่าสักเหนือมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้มีการใช้ประโยชน์ของการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำตามโครงการป่าสักใต้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการชักน้ำที่เก็บกักไว้เข้าสู่พื้นที่นาฝั่งเหนือของแม่น้ำป่าสัก อย่างไรก็ตาม ตราบจนถึงสิ้นรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โครง การดังกล่าวนี้ยังไม่เสร็จสิ้น โดยที่โครงการเชียงรากและโครงการบางเหี้ยแล้วเสร็จไปเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนโครงการป่าสักเหนือนั้น ถูกระงับไว้เนื่องจากความขาดแคลนเงินงบประมาณ
ความจริงแล้วโครงการสุพรรณบุรีหรือ"สกีมสุพรรณ"นี้ เป็นโครงการที่เซอร์โทมัส วอร์ด เสนอไว้ว่าควรจะจัดทำก่อนโครงการอื่นทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าในบริเวณที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนั้น ยังมีที่รกร้างว่างเปล่าอยู่มาก ทำให้สามารถดำเนินการตามโครงการได้อย่างสะดวก ไม่ตัดขัดด้วยปัญหาขัดแย้งกับราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริเวณทุ่งรังสิตมีผู้คนอยู่หนาแน่นแล้ว จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการชลประทานโดยเร่งด่วนก่อน โครงการสุพรรณบุรีจึงเพิ่งมาเริ่มต้นสำรวจรังวัดขั้นต้นในปีพ.ศ.2466 เนื่องจากปัญหาด้านการคลัง ทำให้การดำเนินการตามโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ทำเพียง บางส่วนก่อน คือการสร้างประตูระบายน้ำที่ 3 รวมทั้งคลองส่งน้ำสายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประตูระบายน้ำนี้เท่านั้น สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการสุพรรณบุรี เฉพาะเพียงส่วนย่อยที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปนี้ก็คือ ทำให้มีพื้นที่ในเขตชลประทานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 350,000 ไร่ ซึ่งเดิมพื้นที่เหล่านี้ถึงประมาณร้อยละ 90 มีน้ำตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการทำนา นอกจากนั้นการสร้างประตูระบายน้ำที่ 3 ขึ้น ก็ยังช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำในบริเวณตอนเหนือประตูระบายน้ำขึ้นไปประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมเรือแพใช้สัญจรไปมาไม่ได้ถึงปีละ 9 เดือนนั้น สามารถทำได้ตลอดปี ทำให้พื้นที่แถบเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีเจริญขึ้นเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้โครงการในส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วให้ผลตามจุดมุ่งหมาย อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องขุดลอกตอนที่ตื้นเขินของคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำสุพรรณบุรี และสร้างประตูระบายน้ำเพื่อบังคับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ปรากฏว่าตราบจนถึง ปีพ.ศ.2470 โครงการส่วนนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากปัญหาทางการคลังของรัฐบาล |