โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


โครงการสำคัญ
อันเนื่องมาแต่พระบรมราโชบายเพื่อการพัฒนาประเทศ


การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญต่อการคมนาคมขนส่งเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาตินั้น ต้องอาศัยการขนส่งที่มีอย่างทั่วถึงเป็นปัจจัยส่งเสริม การคมนาคมขนส่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในแง่ที่ช่วยให้การนำสินค้าไปสู่ตลาดเป็นไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว ทำให้ราษฎรมีโอกาสแสวงหารายได้เพื่อปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้น และการที่ราษฎรทำการผลิตเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วย พระราชดำริเกี่ยวกับความสำคัญของการคมนาคมขนส่งนี้ เห็นได้จากตอนหนึ่งของพระราชนิพนธ์เรื่อง “ประโยชน์แห่งถนนในหัวเมือง” ว่า

"บ้านเมืองใด ๆ ถึงแม้ว่าจะมีพื้นดินดี อันเป็นที่เพาะปลูกงอกงามสักปานใดก็ดี แต่ถ้าบกพร่องในทางคมนาคมแล้ว พืชผลที่เพาะปลูกก็เท่ากับเสียเปล่าเพราะไม่สามารถที่จะนำไปถึงตลาดได้.……ที่ดินในจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นข้าพเจ้าได้ทราบว่าเป็นดินดีเหมาะแก่การทำไร่นาและเพาะปลูกสารพัด แต่การทำไร่นาและเพาะปลูกในที่นี้มีผู้ทำน้อยทีเดียว เพราะถึงหากว่าจะทำขึ้นก็ไม่มีหนทางที่จะนำพืชผลไปจำหน่ายได้โดยสะดวก โดยปรกติข้าวที่ปลูกขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ก็ซื้อขายกันแต่ในท้องที่ และขายถูกกว่าทางกรุงเทพฯ ตั้ง 2 หรือ 3 เท่า และบางปีทำนาได้ผลดีมาก ๆ ข้าวเหลือกินเหลือขาย เลยงดทำนากันเสียปีหนึ่งก็ได้ ดังนี้เป็นอันว่าทรัพย์ของชาติเท่ากับไปถูกตรึงไว้เสียส่วนหนึ่ง เพราะขาดทางที่จะไปมาติดต่อถึงตลาด"

เนื่องจากการคมนาคมขนส่งนั้นมีได้หลายวิธี การพัฒนาระบบคมนาคมจึงควรจะจัดสร้างให้ประสานสอดคล้องกันด้วย เพราะเหตุนี้เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก ก็ได้มีการโอนย้าย หน่วยงานด้านการคมนาคมมารวมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเดียวกัน โดยจัดตั้งเป็นกระทรวงคมนาคมขึ้น ดังปรากฏในรายงานการประชุมเสนาบดีสภา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ.130 (พ.ศ.2454)เรื่อง"จะจัดการกระทรวงโยธาธิการใหม่" ดังนี้

"มีพระราชดำรัสว่ากรมสำคัญที่ควรขึ้นอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ ก็คือกรมรถไฟกับกรมไปรษณีย์โทรเลข.....ถ้าจะให้สะดวกที่สุดก็ควรยกกรมคลองจากกระทรวงเกษตรมาไว้ในกระทรวงโยธาธิการ เป็นแผนกทำถนนแลขุดคลอง เพราะเป็นปอลิซีอย่างเดียวกันกับการส่งข่าวสาร แลทำให้การไปมาค้าขายติดต่อถึงกันได้สะดวก ให้เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการมีโอกาส ได้ดำริแต่ในการอย่างนี้ให้ตลอดจะดีกว่า เป็นต้นว่าในหัวเมืองใดที่มีทางรถไฟไปถึง จะควรทำถนนหนทางมาบรรจบกับทางรถไฟ หรือถ้าจะทำถนนไม่ได้ คลองเก่ามีอยู่หรือจะต้องคิดขุดคลองใหม่ ให้เป็นทางไปมาค้าขาย มาติดต่อกับทางรถไฟเป็นต้น เหล่านี้ให้รวมอยู่ในความคิดของเสนาบดีคนเดียวกัน"

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ชื่อกระทรวงโยธาธิการไม่ตรงกับรูปการที่จะจัดใหม่นี้ ควรจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ที่ประชุมเสนาบดีสภาจึงได้ปรึกษากันและตกลงกันว่า ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคม ส่วนกรมคลองซึ่งย้ายจากกระทรวงเกษตรฯ มาขึ้นกับกระทรวงคมนาคม ก็ให้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทาง

ความสนพระทัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ามีต่อกิจการคมนาคมขนส่ง จะเห็นได้จากพระราชดำรัสตอบพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเนื่องในการเฉลิมพระชนม์พรรษาในแต่ละปี ซึ่งได้ทรงชี้แจงถึงผลงานต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้กระทำไปในรอบปี ในพระราชดำรัสแต่ละครั้งจะมีเรื่องของการพัฒนากิจการคมนาคมเป็นหัวข้อสำคัญรวมอยู่ด้วยเสมอ ข้อความในพระราชดำรัสนี้นอกจากจะแสดงถึงการที่ทรงให้ความสำคัญต่อการคมนาคมแล้ว ยังแสดงถึงความก้าว หน้าของกิจการด้านคมนาคมในแต่ละปีอีกด้วย

    หน้า 7   

    หน้า 9   

1