โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
|
|
โครงการสำคัญด้านการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีดังนี้ (ก) การขยายเส้นทางสายเหนือไปถึงเชียงใหม่ ทางรถไฟสายเหนือที่เริ่มก่อสร้างมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเมื่อมาถึงบ้านแม่พวกเขตเมืองอุตรดิตถ์ก็ต้องหยุดลง เพราะแม้ว่าเงินที่กู้จากต่างประเทศมาเพื่อดำเนินโครงการนี้จะเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากเส้นทางในช่วงต่อไปนั้นเป็นเขตภูเขาสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการสร้างทางช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนการจะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการต่อไปนั้นก็มีหลักการอยู่ว่า จะต้องรอให้การเดินรถไฟในเส้นทางช่วงที่สร้างเสร็จแล้วมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นเพียงพอที่จะจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้งวดใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ 22 มกราคม ร.ศ.130 (พ.ศ. 2454) เพื่อพิจารณาเรื่องรถไฟสายเหนือ ที่ประชุมมีความเห็นว่ากำไรจากการขยายเส้นทางนั้น น่าจะได้ในอัตราสูงกว่าร้อยละ 4 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินลงทุนที่จะต้องใช้จำนวน 17 ล้านบาทนั้น ก็อาจแบ่งจ่ายเป็นรายปีได้ โดยเงินที่เหลือจากเงินกู้เดิมจำนวน 5,715,609 บาท 38 สตางค์นั้น จะสามารถนำมาใช้ในช่วง 2 ปีแรกได้อีกด้วย ที่ประชุมเสนาบดีสภาจึงเห็นพร้อมกันว่า สมควรจะสร้างทางต่อไปจนถึงเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และในที่สุดเงินที่จะใช้จ่ายเพิ่มเติมนั้น ก็มาจากเงินคงพระคลังทั้งสิ้น การสร้างทางรถไฟสายเหนือนั้น เป็นการทยอยทำเป็นช่วง ๆ และเปิดใช้ทางส่วนที่ทำเสร็จแล้วเป็นระยะเรื่อยไป โดยมีหลายช่วงที่ดำเนินการด้วยความยากลำบาก เพราะบางตอนต้องทำสะพานข้ามเหว บางตอนต้องขุดเจาะภูเขาทำอุโมงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโมงค์ที่ตำบลขุนตาลซึ่งยาวกว่า 1 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาขุดเจาะนานนับปี เส้นทางสายเหนือช่วงสุดท้าย จากลำปางถึงเชียงใหม่สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2464 และได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นมงคลฤกษ์เปิดใช้เส้นทางสายเหนือที่เสร็จสมบูรณ์นี้ ซึ่งช่วยให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ใช้เวลาลดลงไปมาก เหลือเพียง 25 ชั่วโมงเศษเท่านั้น ในการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือนี้ ตลอดช่วงรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ใช้จ่ายเงินไปรวมทั้งสิ้น 19,894,034 บาทแยกเป็นการใช้จ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศ 4,281,485 บาท และจากเงินคงพระคลัง 15,612,549 บาท (ข) การสร้างทางรถไฟสายใต้ เส้นทางรถไฟสายใต้ไปยังเขตแดนมลายูของอังกฤษ ซึ่งสร้างไว้ถึงเพียงเพชรบุรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ถึงสุไหงโกลก และเปิดเดินรถติดต่อกับปีนังได้ในปีพ.ศ.2464 โดยได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอนคือ
เส้นทางสายใต้แต่ละตอนนี้ ระหว่างการสร้างได้ทะยอยเปิดใช้ทางที่เสร็จแล้วเป็นช่วง ๆ เช่นเดียวกับในเส้นทางสายเหนือ โดยการก่อสร้างส่วนหนึ่งใช้เงินกู้ตามข้อผูกพันที่ตกลงกันไว้กับอังกฤษมาแต่เดิมเป็นจำนวน 57,222,820 บาท และอีกส่วนใช้จากเงินคงพระคลังตั้งแต่ปีพ.ศ.2453 จนถึงปีพ.ศ.2466 เป็นเงิน 5,840,756 บาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นตลอดรัชสมัย 63,063,576 บาท (ค) การสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอยู่แล้วถึงจังหวัดนครราชสีมานั้น ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมออกไปอีก 2 สายหลักในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สำคัญคือ สายอุบลราชธานี ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ.2463 กับสายขอนแก่นซึ่งเริ่มสร้างในปีพ.ศ.2467 โดยใช้เงินคงพระคลังทั้งสิ้น และตราบจนถึงปีพ.ศ.2468 นั้น ได้ใช้จ่ายเงินลงทุนไปในเส้นทางทั้ง 2 เป็นจำนวนรวม 10,730,493 บาท แยกเป็นการลงทุนในสายอุบลราชธานี 10,377,991 บาท และสายขอนแก่นจำนวน 352,502 บาท ในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ส่วนที่สร้างเสร็จก็คือช่วงจากนครราชสีมาไปถึงบุรีรัมย์(สายอุบลราชธานี)ระยะทาง 112.2 กิโลเมตร (ง) การสร้างทางรถไฟสายตะวันออก เส้นทางรถไฟสายตะวันออกนั้น มีปลายทางอยู่ที่อรัญประเทศติดต่อกับเขตอินโดจีนของฝรั่งเศส เส้นทางสายนี้ได้มีการสำรวจวางแนวทางเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 และต่อจากนั้นก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งปรากฏว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เส้นทางสายนี้ได้สร้างและเปิดใช้ได้จนถึงกบินทร์บุรี โดยใช้เงินคงพระคลังในการใช้จ่าย และตราบจนถึงปีพ.ศ. 2468 ได้ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้นรวม 12,462,877 บาท (จ) การเปลี่ยนรางรถไฟ เนื่องจากแต่เดิมเส้นทางรถไฟสายเหนือหรือทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ใช้รางขนาด 1.435 เมตร(standard gauge) แต่สายใต้หรือทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้รางขนาด 1 เมตร(metre gauge) ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินการ และในการบริการขนส่ง ดังนั้นจึงได้มีการเปลี่ยนขนาดของรางให้เป็นขนาดเดียวกันทั่วประเทศ โดยใช้รางขนาด 1 เมตร เนื่องจากรางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาสจะวางรางต่อเชื่อมกันได้นั้น ล้วนแต่ใช้รางขนาด 1 เมตรเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนรางนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.2463 โดยใช้จ่ายจากเงินคงพระคลัง และจนถึงปีพ.ศ.2468 ก็ได้ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 894,518 บาท (ฉ) การสร้างสะพานพระรามหก เพื่อให้ทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเดิมแยกจากกันสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หัวลำโพง จึงได้มีการสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นโดยใช้เงินคงพระคลัง และนับจากเริ่มลงมือสำรวจจนมีการก่อสร้างตราบจนถึงปีพ.ศ.2468 นั้นได้ใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 4,642,463 บาท |