โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง


  • พัฒนาการด้านการคมนาคมทางถนน

ในปีพ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงให้เส้นทางคมนาคมรูปแบบต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักร สามารถเชื่อมติดต่อถึงกันได้อย่างสะดวกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคมนาคมขนส่งรวมกันจัดตั้งเป็นกระทรวงคมนาคมขึ้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างถนนหนทางทั่วราชอาณาจักร ก็คือกรมทาง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกรมทางนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาหลายประการ ที่สำคัญคือการจะตอบสนองความต้องการสร้างทางหลวงของท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ได้ทั่วถึง ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถที่จัดสรรงบประมาณได้เพียงพอ นอกจากนั้นถนนที่ได้มีการสร้างไว้ก่อนแล้วโดยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องการงบประมาณในการบำรุงรักษาเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในรายงานของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า

"การติดต่อในระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ กรมพระดำรงรับสั่งว่า การทำถนนหนทางในหัวเมืองนั้น...ตามที่พระยารัษฎาทำมาแล้ว ใช้วิธีเกณฑ์ราษฎรทำแล้วยกเงินค่าราชการให้ แต่เมื่อทำแล้วหาได้มีการรักษาไม่ เป็นการไม่ดี"

ดังนั้นในปีพ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง"คณะกรรมการทำทางบก"ขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพระคลังฯ เพื่อให้จัดการวางนโยบาย ตรวจสอบ และควบคุมโครงการที่เกี่ยวกับทางหลวงทั้งหมด อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามหลักการของคณะกรรมการฯชุดนี้ มีอุปสรรคที่สำคัญคือการที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอของบประมาณสร้างถนนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเห็นความสำคัญเฉพาะเขตของตนเป็นหลัก จนไม่อาจจัดงบประมาณให้ได้เพียงพอ นอกจากนั้นเมื่อสร้างแล้วก็ขาดการบำรุงรักษาทำให้ถนนทรุดโทรมจนหมดสภาพไปอย่างรวดเร็ว เป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก ในปีพ.ศ.2460 หลังจากที่ได้มีการรวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้ เข้าด้วยกันเป็นกรมรถไฟหลวงแล้ว นโยบายเกี่ยวกับการสร้างถนนก็ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การสร้างถนนจะไม่เป็นการแข่งขันกับรถไฟ แต่จะมุ่งให้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์รถไฟเพื่อการขนส่งให้ได้เต็มที่ นั่นก็คือจะสร้างถนนเพื่อนำผลผลิตป้อนสู่รถไฟ โดยมีจุดมุ่งหมายให้การขนส่งทั้ง 2 ประเภทนี้เกื้อหนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมทางเข้าไว้ในกรมรถไฟหลวงในปีพ.ศ.2460 นั้นเอง

จากปัญหาที่เกิดจากการสร้างทางส่วนท้องถิ่น กรมรถไฟหลวงจึงได้พิจารณากำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างทางหลวงขึ้น โดยแบ่งประเภทของถนนออกเป็น 2 ประเภทและแยกอำนาจหน้าที่ในการก่อสร้าง ดูแลถนนแต่ละประเภทออกจากกัน แนวนโยบายนี้ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพระคลังฯและต่อมาก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ หลักการและเหตุผลสำคัญของนโยบายดังกล่าว ปรากฏตามรายงานของกรมรถไฟหลวง เรื่องการจัดการกรมทางดังนี้

"...จำนวนถนนซึ่งมีอยู่แล้ว และที่กรรมการกำหนดจะตั้งต่อไปได้สังเกต เห็นว่า มีอยู่มากเกินกำลังที่รัฐบาลจะบำรุงได้จริงจัง เพราะกรรมการไปคิดแต่ทางก่อสร้างไม่นึกถึงการบำรุง เพราะฉะนั้นเมื่อได้สร้างถนนสายใดลงไปแล้วไม่มีการบำรุงพอ ถนนสายนั้นก็จะเป็นป่าหรือคลองภายใน 5 ปีนับว่าไร้ประโยชน์ และเงินของแผ่นดินก็คงไปถมเสียเปล่า ไม่งอกงามขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องตัดเสียเป็น 2 ประเภท... ทางหรือถนนที่ไม่มีประโยชน์เพียงพอต้องตัดออกเป็นแบบหรือทางประเภทที่ 2 อยู่ในความรักษาของสมุหเทศาภิบาล รัฐบาลคงมีหน้าที่บำรุงถนนประเภทที่1 และดำเนินตามความเจริญของกรุงสยาม เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด กระทรวงพระคลังฯ จะแบ่งเป็นส่วน ๆ ตามลำดับที่เจริญขึ้นผ่านการสร้างและการบำรุงทางที่ดำเนินเช่นนี้ต่อไป จำนวนถนนก็จะงอกงามตามกำลังของแผ่นดิน ไม่ใช่สร้างไว้เกินกว่าเงินบำรุงแล้วทิ้งเสีย"

กรมทางมีโครงการจะปรับปรุงถนนประเภททางหลวงจังหวัด ให้เป็นทางหลวงแผ่นดินเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ แต่เนื่องจากได้รับงบประมาณเพียงปีละกว่า 80,000 บาทเล็กน้อยเท่านั้น ในช่วงแรก ของการดำเนินการตามแผน กรมทางจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้จ่ายในด้านนี้ได้มากนัก และต้องมีการศึกษาถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างรอบคอบ โดยการเลือกทางหลวงจังหวัดมาปรับสร้างให้เป็นทางหลวงแผ่นดินนั้นมีพื้นฐานมาจากการพิจารณาความสำคัญของเส้นทางแต่ละสาย ซึ่งได้จัดลำดับตามความสำคัญในการใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายนั้นก็ได้พิจารณาจากการสำรวจภาวะการขนส่งในปัจจุบันประกอบด้วย ว่าเส้นทางใดที่จำเป็นและเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นทางหลวง

    หน้า 13   

    หน้า 15   

1