โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง


ในปีพ.ศ.2462 กรมทางได้จัดทำโครงการสร้างทางหลวงจังหวัดขึ้น เสนอต่อกระทรวงพระคลังฯ โดยยึดหลักประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นสำคัญ โครงการนี้กรมทางได้ตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงว่า

"...เห็นได้ชัดว่าต้นทุนของการขนส่งโดยทั่วไป มีแนวโน้มต่ำลงเมื่อเส้นทางคมนาคมขนส่งได้มีการปรับปรุงขึ้น และผลที่ตามมาก็คือปริมาณการขนส่งทั่วราชอาณาจักรมีมากขึ้น...แสดงว่าทางหลวงซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่รวดเร็วนั้น กำลังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของชาติ"

หลังจากที่ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้มีการออกกฎหมายเพื่อรับรองการจัดประเภทของถนน และการแบ่งแยกหน้าที่ในการดูแลนี้อย่างเป็นทางการ โดยในปีพ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงขึ้น เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการขนส่งและความปลอดภัยซึ่งในมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้มีการแบ่งประเภทของทางหลวงออกเป็น 2 ประเภทคือ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงจังหวัด โดยถนนที่ถูกจัดเป็นทางหลวงแผ่นดินได้แก่ ถนนที่เป็นเส้นทางหลัก ส่วนทางหลวงจังหวัดนั้นจะได้แก่ถนนที่เป็นเส้นทางรอง เพื่อต่อเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟหรือทางหลวงจังหวัดอีกต่อหนึ่ง

นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างระหว่างทางหลวง 2 ประเภทนี้ยังอยู่ที่ว่า ทางหลวงแผ่นดินนั้น การก่อสร้างและบำรุงรักษาจะดำเนินการโดยวิศวกรและคนงานของกรมทาง ซึ่งหมายถึงว่าแรงงานทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างทางนั้น ต้องเป็นแรงงานจ้างไม่ใช่แรงงานบังคับเกณฑ์ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่าระบบแรงงานบังคับเกณฑ์หรือระบบแรงงานไพร่นั้น แรงงานไม่ได้ใช้เวลาในการทำงานสร้างทางนานเพียงพอที่จะให้เกิดความชำนาญและทำงานให้ดีได้ และที่สำคัญก็คือแรงงานส่วนมากจะไม่สนใจในผลการทำงานของตน โดยมุ่งแต่เพียงทำงานให้ครบตามกำหนดเวลาบังคับเกณฑ์เท่านั้น เป็นผลให้การจะสร้างถนนให้เสร็จและมีมาตรฐานตามต้องการนั้นเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามในส่วนของทางหลวงจังหวัดนั้น การก่อสร้างและบำรุงรักษาอยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย และยังมีการใช้แรงงานบังคับเกณฑ์อยู่เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนทั้ง 2 ประเภท ซึ่งรวมถึงทางหลวงจังหวัดด้วยนั้น กรมทางเป็นฝ่ายดำเนินการเอง ดังนั้นกรมทางจึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังข้าราชการฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับถนนในเขตต่าง ๆ มาให้ทราบ เพื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงตามมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง และทำให้กรมทางมีข้อมูลเกี่ยวกับถนนหนทางประเภทต่าง ๆ ที่ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม กว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจะแจ้งตอบกลับมานั้น ก็ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

จากข้อมูลที่กรมทางได้รับ ปรากฏว่าทางหลวงจังหวัดในพระราชอาณาจักรนั้นมีมากมาย และล้วนแต่ต้องการงบประมาณเพื่อปรับปรุงบำรุงรักษาทั้งสิ้น ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่กรมทางได้รับเป็นอันมาก ดังนั้นในเบื้องต้นกรมทางจึงต้องคัดเลือก จัดสรรงบประมาณให้เฉพาะเส้นทางที่เห็นว่าสำคัญที่สุดก่อน ส่วนเส้นทางที่สำคัญน้อยกว่าก็ต้องรอไปจนกว่าจะได้รับงบประมาณมากขึ้น

ในการที่จะกำหนดว่าควรสร้างหรือทำนุบำรุงเส้นทางสายใดก่อน-หลังนั้น กรมทางได้นำวิธีการสำรวจลักษณะเดียวกับที่ทำอยู่สหรัฐอเมริกามาใช้ ดังปรากฏในรายงานของกรมทางต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้ามีความพอใจในระเบียบการ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่ คือตรวจสถิติยวดยานแลคนเดินทางในถนนหลวงยิ่งนัก เพราะเป็นเกณฑ์อันแน่นอนที่จะตรวจสินค้าได้ตลอดเวลา อาจทราบทางเดินสินค้าแลตัดเข้าป้อนรถไฟในที่ใด ๆ แล้วแต่จะเหมาะ วิธีสถิติพยากรณ์เช่นนี้ประเทศสยามนับว่าได้เริ่มทำอย่างสมัยใหม่แท้ ซึ่งพึ่งจะจับใช้กันในสหปาลีรัฐอเมริกาแลมะนิลา ทราบเกล้าฯ ว่าทางรัฐบาลอินโดจีนก็จะเอาอย่างบ้างเหมือนกัน ประเทศเก่า ๆ ดำเนินตามเดิม เขาถือเสียว่าทราบทางดำเนินของสินค้ามาแล้วจึงไม่ทำกัน แต่ประเทศซึ่ง สร้างการคมนาคมใหม่ ๆ เช่นประเทศสยาม การตรวจสถิตินี้เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นของสำคัญอย่างยิ่ง"

การสำรวจเพื่อประเมินผลที่จะได้รับจากการสร้างถนนว่าจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ นับเป็นวิธีการที่ก้าวหน้า และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องประหยัดการใช้งบประมาณเป็นอย่างมาก และเป็นผลทำให้ถนนที่สร้างขึ้นใหม่นั้น อำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสูง ดังตัวอย่างในกรณีการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างลำปางกับเชียงรายในภาคเหนือ และการสร้างถนนจากสถานีรถไฟควนเนียงไปยังจังหวัดสตูล ในภาคใต้ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งลงมาก

"...เช่นในทางหลวงของแผ่นดินภาคเหนือสายที่ 3 ซึ่งถึงแม้ว่าเวลานี้จะยัง ไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ก็ดี แต่เท่าที่ได้จัดทำไปแล้วถึงเวลานี้ ก็ได้ให้ความสะดวกแก่ยวดยานต่าง ๆ ยิ่งขึ้นมากแล้ว เมื่อก่อนหน้า 3 ปีที่ล่วงมานี้ ถ้าจะไปยังจังหวัดเชียงรายจากลำปาง จะต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 12 วันครั้นมาบัดนี้จะไปได้โดยใช้เวลาเพียง 14 ชั่วโมงเท่านั้น กับอีกแห่งหนึ่ง ในทางหลวงของแผ่นดินภาคใต้สายที่ 4 ซึ่งเวลานี้ทางก็ยัง ไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์เช่นเดียวกันก็ดี แต่ถึงกระนั้นก็อาจสามารถจะเดินทางจากสถานีควนเนียง ไปถึงจังหวัดสตูลซึ่งอยู่ภายในพระราชอาณาเขต ได้ภายใน 4 ชั่วโมงแทนที่จะต้องอ้อมไปทางทะเลโดยลงเรือจากกันตัง เสียเวลาตั้ง 2 วัน"

มีข้อที่น่าสังเกตว่า ภาคใต้เป็นภาคที่ได้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนน ก้าวหน้าไปมากที่สุด ในขณะที่ภาคกลาง(ซึ่งรวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย) นั้นมีการพัฒนาระบบถนนไปน้อยที่สุด โดยทีเส้นทางที่เป็นถนนชั้น 1 มีอยู่เฉพาะในภาคใต้ และระยะทางรวมของถนนทุกประเภทก็ยาวถึง 1,188 กิโลเมตร หรือร้อยละ 65.8 ของความยาวถนนทั้งหมดในปีพ.ศ. 2467

การที่ภาคใต้มีพื้นฐานเดิมในการสร้างถนนเพื่อใช้ในการขนส่งมาแต่เดิม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถปรับปรุงให้เป็นถนนชั้น 1 ได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ภาคกลางมีเส้นทางน้ำที่จะใช้ในการคมนาคมขนส่งได้อย่างกว้างขวาง ความจำเป็นในการสร้างถนนจึงไม่มากนัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ลักษณะของพื้นดินทำให้การสร้างถนนต้องใช้ต้นทุนสูงมากเกินไป ประกอบกับมีการสร้างทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอยู่แล้ว ในภาวะที่งบประมาณขาดแคลนจึงยังไม่มีการให้ความสำคัญต่อการสร้างถนนมากนัก

    หน้า 14   

    หน้า 16   

1