โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การตั้งคลังออมสินและสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน


ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะให้เลิกกิจการแบงก์สยามกัมมาจลเสีย โดยเปลี่ยนสถานะมาเป็นธนาคารแห่งชาติหรือ”คลังสำหรับชาติ” (National Bank) เพื่อจะได้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้เช่นเดียวกับประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่ติดขัดที่ทางกระทรวงพระคลังเห็นว่ายังไม่พร้อมจะดำเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติได้ จึงทำให้จำเป็นต้องสนับสนุนแบงก์สยามกัมมาจลให้สามารถดำเนินการไปได้ก่อน จนกว่ากระทรวงพระคลังฯ พร้อมที่จะจัดตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นต่อไป แนวพระราชดำริเรื่องการจัดตั้ง “คลังสำหรับชาติ” และความขัดข้องของกระทรวงพระคลังฯ ปรากฏคำกราบบังคมทูลของเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ ต่อไปนี้

“….ส่วนการตั้ง “คลังสำหรับชาติ” (National Bank) ซึ่งได้ทรงพระราชดำริไว้ว่าควรได้จัดขึ้นโดยที่เลิกแบงก์สยามกัมมาจลเปลี่ยนไปเป็นคลังสำหรับชาตินั้น ถ้าจะจัดขึ้นในบัดนี้ก็ขัดข้องด้วยยังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม จึงเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า แบงก์สยามกัมมาจลนี้ควรปล่อยให้ล้มไป ฤาควรคิดเรียกทุนขึ้นอีกเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้เตรียมตัวให้พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นคลังสำหรับชาติ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้รวบรวมข้อความแลเหตุการณ์อันนี้ขึ้นตั้งปรึกษามิสเตอร์วิลเลียมซันที่ปรึกษาราชการกระทรวงพระคลังฯ แลเจ้าพนักงานผู้ใหญ่ในกระทรวงพระคลังฯ เห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่าสมควรที่จะอุดหนุนให้แบงก์สยามกัมมาจลคงได้ดำเนินการตอ่ไปจนกว่ารัฐบาลจะได้ตระเตรียมตัวพร้อม แลมีโอกาสที่จะจัดตั้งคลังสำหรับชาติได้ จึงคิดเปลี่ยนแปลงการต่อไป”

การที่จะช่วยกอบกู้ให้แบงก์สยามกัมมาจลได้ดำเนินการได้ต่อไปนั้น เนื่องจากแบงก์ต้องขาดทุนเป็นอันมาก จึงจำเป็นจะต้องลดจำนวนหุ้นเดิมตัดทอนลงไปตามส่วนทุนที่ขาดนั้น คือทุนเดิม 3 ล้านบาทลดลง 2,700,000 บาท คงเหลือทุนอยู่เพียง 300,000 บาท และต้องออกหุ้นใหม่เรียกทุนมาหนุนเพิ่มเติมขึ้นอีก 30,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็น 3 ล้านบาท

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับซื้อหุ้นใหม่ไว้ตามจำนวนหุ้นส่วนพระคลังข้างที่มีอยู่ในแบงก์นี้มาแต่เดิม เป็นการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่การของแบงก์สยามกัมมาจลเพื่อให้ได้ตั้งอยู่ยืนยาวต่อไป ซึ่งจะต้องใช้เงินถึง 1,634,000 บาท เงินจำนวนมากเช่นนี้พระคลังข้างที่มีไม่เพียงพอ จึงต้องไปยืมเงินจากกระทรวงพระคลังฯ มาจ่ายไปก่อน แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่มีพระราชประสงค์จะยืมเงินจำนวนมากเช่นนี้จากกระทรวงพระคลังฯ ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ครหา แต่เมื่อเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ยืนยันถึงความสำคัญของการช่วยเหลือแบงก์สยามกัมมาจล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ ยืมเงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมาดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนี้ ดังปรากฏจากพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือของกรมพระคลังข้างที่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2457 ความว่า

“เรื่องนี้เราได้กล่าวแต่ในวันที่ 23 เมษายนนั้นแล้ว ว่าเราไม่อยากจะรับ และถ้าจะให้รับก็ต้องเป็นโดยความรู้เห็นของเสนาบดีพร้อมกันเท่านั้น การที่เราจะเอาเงินแผ่นดินมาเพิ่มให้ตัวเองนั้น จริงอยู่ตามนิติแห่งเมือง เรามีอำนาจจะกระทำได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าเราทำไปแล้วก็คงจะมีเสียงนินทาได้ต่าง ๆ และถ้ายิ่งเสียงนั้นออกมาจากคนชั้นสูง ๆ ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากและน่าเกลียดมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้กรมพระดำรงเป็นต้นคิด ให้ส่งเรื่องไปยังกรมพระดำรงทรงไตรตรองต่อไป …ในส่วนตัวเราเองนั้น ถ้าเพียงแต่กระทรวงพระคลังฯรองเงินให้เพื่อไปลงทุนในการแบงก์ก็พอใจแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การที่พระคลังข้างที่เข้าถือหุ้นใหญ่ในแบงก์สยามกัมมาจลนี้เอง ทำให้สามารถกำหนดแนวทางของการขยายสินเชื่อเพื่อประโยชน์ของคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้กู้แก่สหกรณ์เครดิตที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรในชนบท

    หน้า 20   

    หน้า 22   

1