โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การตั้งคลังออมสินและสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน


  • การกระจายสินเชื่อแก่เกษตรกรผ่านการสหกรณ์

องค์กรที่สำคัญที่มีการก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกองค์กรหนึ่งก็คือ”สหกรณ์” ซึ่งในระยะแรกตั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อจัดหาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวนาเป็นสำคัญ โดยความคิดที่จะจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทยเกิดจากพระบรมราโชบาย ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนเงินทุน และไม่มีธนาคารพาณิชย์ที่จะให้สินเชื่อ ทำให้ต้องไปกู้ยืมจากนายทุนโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง จนเกิดความเดือดร้อนเพราะหนี้สินล้นพ้นตัว กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์จึงสนองพระบรมราโชบายโดยดำริตั้งกิจการสหกรณ์ขึ้น

ความคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรนี้ ในชั้นแรกคิดจะจัดตั้งเป็นในรูปของ”แบงก์กสิกรรม” เพื่อให้ก็แก่เกษตรกรโดยตรง แต่จากการศึกษาผลการดำเนินการของธนาคารประเภทนี้ในหลายประเทศ เช่นที่อียิปต์ พบว่าไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการดำเนินงานในรูปแบบของธนาคารไม่เหมาะกับการทำธุรกิจกับชาวนารายย่อยซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ยากแก่การติดตามหนี้สินจำนวนไม่มากนักของชาวนาแต่ละคน นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่ชาวนาขาดความรู้เกี่ยวกับธนาคาร และการควบคุมดูแลให้ผู้กู้ใช้เงินกู้ไปในทางที่เกิดประโยชน์ต่อการผลิตอย่างแท้จริงตามจุดมุ่งหมายอีกด้วย ปัญหาของแบงก์กสิกรรมเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการของสหกรณ์เครดิต ซึ่งจะให้สินเชื่อแก่เฉพาะสมาชิก การพิจารณาให้กู้ทำโดยสมาชิกซึ่งรู้จักผู้ขอกู้เป็นอย่างดี และหลักการพิจารณาถือเอาความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน และจุดประสงค์ของการกู้เป็นเกณฑ์ โดยมีสมาชิกในสมาคมเดียวกัน 2 คนเป็นประกัน การให้กู้เงินจะทำได้กว้างขวางขึ้นเพราะไม่ได้พิจารณาเฉพาะหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหลักเพียงอย่างเดียวเหมือนกับธนาคารทั่วไป แต่ยังดูจากความขยันขันแข็ง ความซื่อสัตย์สุจริต และความสามารถที่จะคืนเงินกู้ประกอบด้วย

สหกรณ์ที่ได้ตั้งขึ้นในช่วงแรกนี้เป็นสหกรณ์เครดิต ซึ่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินการนั้นกู้มาจากแบงก์สยามกัมมาจลในปีพ.ศ.2459 จำนวน 300,000 บาท โดยมีกระทรวงพระคลังฯ ค้ำประกัน เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ส่วนการดำเนินการนั้นได้ตั้งอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นทำหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ มีอำนาจในการจัดตั้ง จดทะเบียน และอนุมัติเงินกู้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ ภายในวงเงินรวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งสหกรณ์จะให้สมาชิกกู้ต่อโดยเสียอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12

มณฑลที่มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรกนั้นคือพิษณุโลก ด้วยเหตุผลว่ามีพลเมืองยังไม่หนาแน่น ราษฎรเพิ่งอพยพขึ้นมาจากทางใต้ไม่นาน และส่วนใหญ่เป็นคนยากจน การตั้งสหกรณ์ขึ้นจะเป็นทางหนึ่งที่จะชักนำให้ราษฎรอพยพสู่พิษณุโลกมากขึ้น เพราะยังมีที่ดินว่างเปล่าอยู่อีกมาก และการหักร้างถางพงก็ไม่ต้องลงทุนสูงนัก ด้วยเหตุนี้สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ก็คือสหกรณ์วัดจันทร์จำกัดสินใช้ ในมณฑลพิษณุโลก นอกจากนั้น ยังมีอีกมณฑลหนึ่งที่ทางรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประสงค์จะตั้งสหกรณ์ขึ้นก็คือมณฑลลพบุรี ด้วยเหตุผลว่ามีพลเมืองหนาแน่นและมีการทำนาเพื่อการค้าอย่างกว้างขวาง แต่ชาวนาส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะหนี้สินและเสียเปรียบนายทุนเงินกู้มาก

วิธีการจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกที่พิษณุโลกนั้น ปรากฏตามรายงานของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เรื่องการตั้งและตรวจสหกรณ์ดังนี้

“การเลือกตำบลแลจัดการเตรียมตั้งสหกรณ์รายนี้ เทศาภิบาลเริ่มจัดไว้เสร็จ คือได้ชักชวนราษฎรคุมกันเข้าเป็นหมู่ แล้วเชิญเจ้าพนักงานในกรมพาณิชย์ฯ ไปตรวจดูการที่เตรียมไว้ แลชี้แจงวิธีสหกรณ์ให้ราษฎรเข้าใจ ครั้นเจ้าพนักงานตรวจเห็นคนมีหลักฐานพอควร แลฟังดูเสียงเห็นว่าเข้าใจพอควร ก็ยอมให้ตั้งแลจดทะเบียนให้”

ส่วนการตั้งสหกรณ์ที่มณฑลลพบุรีนั้น สถานการณ์แตกต่างไปมาก ตามความในรายงานเรื่องเดียวกันดังนี้

“...เจ้าพนักงานกรมพาณิชย์ฯ ผ่านไปมาในรถไฟเห็นบ้านหมี่เป้นที่ข้าวเปลือกขึ้นรถไฟมาก เห็นได้ว่าเป็นที่ชุมชนการขนข้าว จึงนำความขึ้นเสนอต่อกระทรวงพระคลังฯ ๆ สั่งให้เจ้าพนักงานไปสืบดูท่าทาง เจ้าพนักงานขึ้นไปเห็นความต้องการสหกรณ์มีมากจึงได้อธิบายวิธีให้ราษฎรฟัง บังเกิดความเลื่อมใส ควบคุมกันเป็นหมู่มากหมู่...อธิบดีกรมพาณิชย์ฯ ขึ้นไปจังหวัดลพบุรีได้พบราษฎรมาขอตั้งสหกรณ์แน่นไปหมดทั้งที่ว่าการอำเภอบ้านเส้าและอำเภอเมือง ล้วนแต่ได้รวมกันมาเป็นหมู่ ๆ ทั้งนั้น นับจำนวนหมู่คนที่ยื่นหนังสือขอตั้งสหกรณ์ในครั้งนั้นถึง 70 หมู่”

ด้วยเหตุที่การตั้งสหกรณ์ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น ในช่วงแรกนี้จึงยังไม่ได้มีการออกกฎหมายพิเศษสำหรับการสหกรณ์โดยเฉพาะขึ้น เพียงแต่แก้ไขพระราชบัญญัติสมาคม พุทธศักราช 2459 เพื่อให้สหกรณ์มีสถานภาพตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การดำเนินการของสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นโดยทั่วไปในระยะแรกนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดีสมตามความมุ่งหมาย โดยสามารถช่วยให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยรอดพ้นจากการเป็นหนี้นายทุน และสามารถใช้คืนหนี้เก่าได้ในเวลาไม่นาน จากการได้รับรู้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้มีราษฎรร้องขอให้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในท้องถิ่นของตนเป็นจำนวนมาก ดังความในรายงานของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ต่อไปนี้

“ ...การจัดสหกรณ์ต่อไปนั้น ในเวลานี้ระงับไว้ตามคำสั่งกระทรวงพระคลังฯ ที่ 42/11235 ลงวันที่ 24 กันยายน 2460 แต่ถ้าจะกลับลงมือเมื่อไร การคงจะไม่เล็กเพราะราษฎรมาร้องขอตั้งไว้แล้วก็มาก แลกิตติศัพท์สหกรณ์ระบือไปในที่ต่าง ๆ มีราษฎรคอยเจ้าพนักงานอยู่มาก ที่พาพวกมาอยู่ที่ประตูพระบรมมหาราชวัง แล้วให้หัวหน้ารายละ 4-5 คนมายื่นเรื่องราวขอตั้งสหกรณ์ต่ออธิบดีกรมพาณิชย์ฯ ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ก็หลายราย”

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของสหกรณ์ยังเป็นไปได้ไม่มาก โดยตราบจนถึงปี พ.ศ.2467 นั้น มีสหกรณ์อยู่เพียง 69 สมาคม สมาชิกจำนวน 1,264 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่พิษณุโลก ลพบุรี และบางปะอิน ซึ่งเป็นแหล่งทำนาที่สำคัญของประเทศ ข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวของสหกรณ์ก็คือ การที่กระทรวงการคลังยังถือว่าการดำเนินการสหกรณ์นี้อยู่ในขั้นทดลองที่จะต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่งก่อน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญนั้นก็คือเงินทุน เพราะในช่วงนับแต่เริ่มตั้งสหกรณ์แห่งแรกในปี พ.ศ.2459 จนถึงปี พ.ศ.2467 นั้น การจัดสหกรณ์ยังคงต้องทำอยู่ภายในวงเงินเดิมที่กู้มาจากแบงก์สยามกัมมาจลคือ 300,000 บาท การจะจัดตั้งสหกรณ์แห่งใหม่ขึ้นได้จึงต้องอาศัยเงินทุนที่สหกรณ์เก่าได้ส่งคืนมาเท่านั้น ส่วนการจะหาทุนใหม่เพิ่มขึ้นตามโครงการที่กระทรวงพระคลังฯ จะจัดสรรเงินให้นั้น ก็มีอุปสรรคเนื่องจากความฝืดเคืองทางการเงินของประเทศ

    หน้า 21   

    หน้า 23   

1